ศาลสู้โควิด รับคำฟ้อง-พิจารณาคดี ผ่าน ‘ออนไลน์’

ศาลสู้โควิด รับคำฟ้อง-พิจารณาคดี ผ่าน “ออนไลน์”

ในภาวะวิกฤตโรคระบาดโควิดระลอกใหม่รุนเเรงขึ้น ทำให้รัฐต้องใช้ยาเเรงประกาศเคอร์ฟิวในหลายจังหวัด จำกัดการเดินทาง โดยให้หน่วยงานด้านความมั่นคงตั้งจุดตรวจสกัด มีชุดลาดตระเวนสำหรับผู้ฝ่าฝืน ทั้งขอความร่วมมือหน่วยงานทั้งเอกชนเเละของรัฐบาลให้มีการทำงานจากที่บ้าน (WFH)

แต่สำหรับศาลยุติธรรม ในภาวะเช่นนี้ก็ไม่สามารถหยุดทำการได้ ในทางกลับกันยังมีข้อพิพาทเป็นคดีความเข้าสู่การพิจารณาพิพากษาจำนวนมากต่อเนื่อง “สุริยัณห์ หงษ์วิไล” โฆษกศาลยุติธรรม เล่ารายละเอียดการปรับระบบการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรม เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่นี้ ว่า

“การบริหารจัดการคดีในส่วนให้บริการประชาชนมี 2 ส่วนหลัก คือ 1.เรื่องคู่ความมายื่นคำฟ้อง คำร้อง คำขอ หรือยื่นเอกสารต่างๆ 2.คู่ความ หรือประชาชนมาขึ้นศาลเพื่อพิจารณาคดี ไม่ว่าจะมาในฐานะตัวความหรือมาเบิกความ มาไต่สวนเพื่อเป็นพยาน ทั้งสองส่วนนี้เดิมต้องมาศาลด้วยตนเอง ไม่ว่ามอบทนายความหรือบุคคลอื่นทำแทนก็ต้องเดินทางมาศาล เเต่เมื่อมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส เพื่อความปลอดภัย รัฐจึงจำกัดการเดินทาง ส่งผลกระทบต่อการดำเนินคดีของศาลยุติธรรมโดยตรง ที่ผ่านมา การบริหารจัดการคดีจะคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ ดังนั้น ในช่วงการระบาดค่อนข้างหนัก จะใช้มาตรการเลื่อนคดีเป็นหลัก เมื่อสถานการณ์ทุเลาลง รัฐคลายมาตรการเดินทาง ศาลยุติธรรมก็กลับมาพิจารณาคดี”

กระทั่งเดือนเมษายน 2564 สำนักงานศาลยุติธรรมพิจารณากฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศพัฒนามาตั้งแต่ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว

Advertisement

ศาลยุติธรรมสามารถให้บริการประชาชนโดยใช้วิธีการทางออนไลน์ได้ การยื่นเอกสารมีช่องทางออนไลน์ให้คู่ความสามารถยื่นคำฟ้อง คำร้อง คำขอ เอกสารต่างๆ ผ่าน 2 ระบบ คือ ระบบอีไฟลิ่ง (e-Filing) และระบบซีออส (CIOS) เป็นช่องทางหนึ่งนำมาใช้แก้ปัญหา เพราะ ผู้ยื่นไม่ต้องเดินทางมาศาลก็สามารถยื่นคำฟ้อง คำร้อง คำขอ หรือเอกสารต่างๆ ได้

ส่วนการพิจารณาคดี ช่วงแรกของการแพร่ระบาด ประชาชนยังต้องเดินทางมาศาลอยู่ เเต่เมื่อคณะทำงานที่ นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา ได้พิจารณาทั้งข้อกฎหมาย ระเบียบเกี่ยวข้องรวมถึงอุปกรณ์ทางด้านเทคโนโลยีที่มี จึงเห็นว่าสามารถดำเนินการพิจารณาคดีทางออนไลน์ได้

ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 การพิจารณาคดีทางออนไลน์จึงเกิดขึ้น คู่ความ ไม่ว่าจะเป็นโจทก์ จำเลย ผู้ร้อง ผู้คัดค้าน ทนายความโจทก์ ที่ต้องเข้าร่วมการพิจารณา ไม่ต้องมาศาล แต่ขึ้นศาลผ่านระบบออนไลน์อยู่บ้าน

Advertisement

“ศาลยุติธรรมคำนึงเป็นสำคัญ คือ ทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการได้ง่าย ทั้งในแง่ของอุปกรณ์และวิธีการ เราจึงใช้แอพพลิเคชั่นที่ประชาชนคุ้นเคยและสามารถทำได้บนสมาร์ทโฟนระยะเริ่มต้นในช่วงเดือนเมษายนใช้ในส่วนของคดีแพ่งก่อน เป็นคดีแพ่งที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน เช่น การยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ผู้ร้องสามารถยื่นคำร้องจากทางบ้าน แล้วไต่สวนทางระบบออนไลน์ได้ เเต่เมื่อสถานการณ์เเพร่ระบาด เราไม่อาจคาดหมายได้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเมื่อใด แต่การดำเนินการของศาลเราจะมีทิศทางที่ดีขึ้น อย่างเช่นการยื่นคำร้องคำฟ้องคำขอต่างๆ สามารถยื่นผ่านออนไลน์ได้”

“ระบบเหล่านี้เป็นที่คุ้นเคยของทนายความและคู่ความมากขึ้น วิธีการใช้งานก็สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากคู่มือการใช้งาน https://esv-iprd.coj.go.th/E-Book/manual/mobile/index.html

“ปัจจุบันประธานศาลฎีกาออกระเบียบประธานศาลฎีกามา 2 ฉบับ โดยหลักให้คำนึงถึงความปลอดภัยประชาชนเป็นหลัก หากยังไม่ปลอดภัยที่จะเดินทางมาศาล ให้ใช้ระบบออนไลน์ได้ คู่ความสามารถร้องขอศาลพิจารณาคดีออนไลน์ได้ สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ศาลที่มีคดีความอยู่ โดยจะใช้ในคดีแพ่งเป็นหลัก แต่ก็ขยายไปยังคดีอาญาได้บางกรณีที่ไม่ขัดต่อหลักการพิจารณาคดีอาญาด้วย แต่หากพิจารณาว่าการพิจารณาคดีที่ศาลสามารถทำได้มีความปลอดภัย คู่ความก็สามารถเดินทางมาพิจารณาคดีที่ศาลได้”

“ระเบียบที่ออกมานี้มีความยืดหยุ่นเนื่องจากเราไม่อาจคาดหมายถึงสถานการณ์ล่วงหน้าได้ ประกอบกับความจำเป็นเร่งด่วนทางกฎหมายแต่ละคดีอาจมีไม่เท่ากัน จึงให้อำนาจศาลต่างๆ พิจารณาดำเนินการได้ ประธานศาลฎีกาเน้นย้ำความปลอดภัยเป็นสำคัญ นี่คือสิ่งที่ศาลยุติธรรมปรับตัวในช่วงที่ผ่านมา ผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ศาลทุกคนต้องเรียนรู้และปรับตัวกับแนวทางการพิจารณาคดีตามชีวิตวิถีใหม่”

สำหรับคู่ความ ต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน “อยากขอความร่วมมือประชาชนที่มีคดีความ ขอให้เข้าใจศาลยุติธรรมเรื่องการปรับตัว เพราะจะอย่างไรเราก็คงต้องดำเนินการต่อไปให้ได้ ดังนั้น หากเราออกแนวปฏิบัติหรือรูปแบบการดำเนินคดีอย่างไร ก็ขอความร่วมมือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้กรุณาศึกษาด้วยความเข้าใจ เพื่อจะได้ใช้งานได้สะดวกขึ้นในการดำเนินคดีที่ต้องมีส่วนเกี่ยวข้อง แต่เราจะไม่ออกแนวปฏิบัติมาเพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้โดยไม่กระทบต่อความยุติธรรมที่ทุกฝ่ายต้องได้รับ หากกระทบเราจะไม่ดำเนินการ”

“ในส่วนคดีค้างนั้น เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคดีค้างการพิจารณาพอสมควร เนื่องจากการเลื่อนคดี แต่จากตัวเลขสถิติคดีในปี 2564 มีคดีเสร็จสูงกว่าปี 2563 เเสดงว่าเราปรับตัวและรับมือได้ดีกว่าปีก่อน จึงสามารถบริหารจัดการคดีได้ดีขึ้น อาจเป็นเพราะว่านำวิธีผ่านระบบออนไลน์มาเสริม”

“สิ่งสำคัญต้องชื่นชมในความมุ่งมั่นทุ่มเทในการทำงานของผู้พิพากษาและ เจ้าหน้าที่ศาลยุติธรรมทั่วประเทศ เพราะแม้ว่าเราจะเกรงกลัวต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ต่างจากคนอื่น แต่ตระหนักดีว่า ภาระหน้าที่ตามกฎหมายยังต้องดำเนินต่อไป ไม่อาจหยุดการปฏิบัติหน้าที่ได้ ศาลจึงยังคงมุ่งมั่นทำงานหนัก ปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์การแพร่ระบาด ให้งานอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนเดินหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง”

“ขณะเดียวกันก็ยังคงต้องระมัดระวังดูแลบุคลากรให้ปลอดภัยไปพร้อมๆ กับออกแนวปฏิบัติที่ไม่เป็นภาระและคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนตามมาตรการสาธารณสุข” โฆษกศาลยุติธรรมระบุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image