ศาลปราบโกง พร้อมทำการ 3 ต.ค. ประเดิมรับ 70 คดี บิ๊กขรก.เอี่ยวทุจริต

นายอำนาจ พวงชมภู อธิบดีผู้พิพากษาภาค2ช่วยทำงานในตำเเหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบกลาง (นั่งซ้าย)

ศาลคดีทุจริตฯพร้อมเปิดทำการ 3 ต.ค. ประเดิมรับโอนคดี จนท.รัฐทุจริตประพฤติมิชอบกว่า 70 คดี เผยมี ขรก.ระดับสูงหลายคน อธิบดีศาลฯยันใช้มือพระกาฬนั่งองค์คณะ ประสบการณ์สูงไต่สวนพิจารณาคดี 2 ชั้นศาล รวดเร็วเป็นธรรม

เมื่อวันที่ 18 กันยายน นายอำนาจ พวงชมภู  อธิบดีผู้พิพากษาภาค2ช่วยทำงานในตำเเหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบกลาง เปิดเผยว่า ในวันที่ 3 ตุลาคม ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางจะเปิดทำการอย่างเป็นทางการแล้ว โดยที่ทำการอยู่ที่อาคารศาลแขวงดุสิต ซอยสีคาม ถนนนครไชยศรี เรามีความพร้อมทั้งในเรื่องอาคารสถานที่และบุคลากรหลังจากวันที่ 1 ตุลาคม ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและพฤติมิชอบกลาง คดีที่เกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐจะอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลอาญาคดีทุจริตฯ ซึ่งขณะนี้มีคดีกว่า 70 คดีที่จะต้องโอนมา แต่ในช่วงแรกจะยังกำหนดให้การฟ้องคดีทุจริตฯยังฟ้องได้ที่ศาลในภูมิลำเนาทั่วราชอาณาจักรก่อนเพื่อความสะดวกแก่ประชาชน ซึ่งหากมีการฟ้องคดีเข้ามา ศาลในเขตพื้นที่ภูมิลำเนาก็จะส่งคำฟ้องมายังศาลอาญาคดีทุจริตฯ เพื่อให้พิจารณาว่ามีคำสั่งอย่างไร โดยศาลอาญาคดีทุจริตฯที่ตั้งขึ้นมาใหม่นี้เป็นศาลระบบไต่สวนที่มีวิธีค้นหาความจริงตามพยานหลักฐานที่มีทั้งหมด โดยจะยึดเอาสำนวนจากคณะกรรมการ ป.ป.ท. และ ป.ป.ช.เป็นหลัก ลักษณะเดียวกับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ศาลอาญาคดีทุจริตฯก็ไม่ตัดสิทธิในการฟ้องคดีเองของประชาชน โดยมีการไต่สวนมูลฟ้องเช่นเดียวกันกับคดีอาญาทั่วไป

นายอำนาจ กล่าวว่า เมื่อมีการตั้งศาลอาญาคดีทุจริตฯขึ้นมา ในเบื้องต้นมีการกำหนดกรอบตั้งองค์คณะขึ้นมาพิจารณาคดีได้สูงสุด 45 คน ซึ่งขณะนี้มีองค์คณะสำหรับพิจารณาคดีแล้ว 20 คน ซึ่งผู้พิพากษาที่จะเข้ามาเป็นองค์คณะ จะเป็นผู้พิพากษาที่สมัครใจเข้ามาพิจารณาคดีและมีประสบการณ์สูง เช่นหัวหน้าคณะจะมีประสบการณ์ไม่ต่ำกว่า 20 ปี และองค์คณะก็มีประสบการณ์ไม่ต่ำกว่า 10 ปี อย่างในองค์คณะ 20 คนที่เรามีอยู่ขณะนี้คนที่ประสบการณ์ที่น้อยสุดก็ยังมีประสบการณ์การทำงานพิจารณาคดีถึง 17 ปีเเล้ว และคาดว่าต่อไปจะต้องมีองค์คณะผู้พิพากษาพิจารณาคดีในศาลเพิ่มขึ้น เนื่องจากจะต้องรองรับคดีที่มีแนวโน้มปริมาณมากขึ้นจากทั่วประเทศ โดยระบบการบริหารงานของศาลอาญาคดีทุจริตฯจะมีอธิบดีผู้พิพากษา 1 คน รองอธิบดีผู้พิพากษา 3 คน โดยการจ่ายสำนวนอธิบดีผู้พิพากษาจะเป็นผู้จ่ายสำนวนไปยังองค์คณะ ส่วนคดีทุจริตฯที่ขึ้นศาลนี้จะใช้ระบบ 2 ศาล คดีจะสิ้นสุดที่ศาลอุทธรณ์ หากคู่ความประสงค์จะยื่นฎีกาต้องได้รับอนุญาตจากผู้พิพากษาศาลฎีกาก่อนถึงจะยื่นฎีกาได้ ซึ่งคดีที่โอนถ่ายมาตอนนี้กว่า 70 คดีก็มีจำเลยที่เป็นข้าราชการระดับสูงจำนวนหลายคน แต่ก็ไม่รู้สึกหนักใจ เนื่องจากเราต้องยึดมั่นตามนโยบาย รวดเร็ว เสมอภาค และเป็นธรรม

“หากถามว่าคดีจะไม่ช้าและมีกรอบระยะเวลาหรือไม่นั้นจะต้องพิจารณาดูในสำนวน แต่วัตถุประสงค์ของเราที่มีการตั้งศาลขึ้นมาก็เพื่อความรวดเร็ว ใช้ระบบไต่สวนต่อเนื่อง สามารถรับฟ้องได้ทั่วราชอาณาจักร แต่ถ้ามาฟ้องที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯโดยตรงจะรวดเร็วกว่า เพราะไม่ต้องเสียเวลาในการส่งสำนวนไปกลับ” อธิบดีผู้พิพากษาภาค2ช่วยทำงานในตำเเหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบกลาง กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image