อัยการย้อนถามตำรวจใช้กฎหมายอะไรเอาเเม่ค้าออนไลน์ไปเซฟเฮาส์ ยก วิ.อาญาจับเเล้วต้องพาไป สน.ทันที

รองอธ.อัยการปราบทุจริตฯภ.9 ย้อนถามตำรวจใช้กฎหมายอะไรเอาผู้ต้องหาเเม่ค้าออนไลน์ไปเซฟเฮาส์ ยก วิ.อาญาจับเเล้วต้องพาไป สน.ทันที บวกข้อบังคับ ปธ.ศาลฎีกาจัดการค้นเเล้วต้องรายงานศาลโดยเร็ว เรียกร้องผู้การสงขลาโชว์หมายค้น อย่าให้คลุมเครือ ลั่นที่ผ่านมาอัยการฟ้องคดีตำรวจจับกุมมิชอบติดคุกหลายคนเเล้ว

เมื่อวันที่ 23 กันยายน  นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 9 โพสต์เฟซบุ๊คให้ความเห็นข้อกฎหมาย กรณีข่าวแม่ค้าออนไลน์ ใน จ. สงขลาถูกตำรวจค้นบ้าน ยึดเงินสด 10ล้าน และทองคำหนัก 60 บาท ควบคุมตัวไปยังเซฟเฮาส์ ว่า เป็นข่าวที่กระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชน เซฟเฮ้าส์ คืออะไร คำว่าเซฟ น่าจะเป็นที่ปลอดภัยมั่นใจ แต่ทำไมประชาชนเข้าเซฟเฮาส์แล้วมีแต่ความหวาดกลัว ตกใจต้องยอมตาม มีกฎหมายอะไรบ้างที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่คุมตัวประชาชนไปไว้ที่เซฟเฮาส์ ไม่นำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี ตามกฎหมาย

เรื่องนี้ท่านผู้การจังหวัดสงขลา ออกมาบอกว่ามีการขอหมายค้นโดยชอบ น่าจะนำหมายค้นให้สื่อมวลชนซึ่งเป็นผู้แทนประชาชนดู เพื่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม การควบคุมตัวไปเซฟเฮาส์ ถูกกฎหมายหรือไม่ ควรออกมาอธิบายให้ชัดทำไมถึงไม่นำไปสถานีตำรวจ ไปเซฟเฮาส์เพื่ออะไร เรื่องทำนองนี้ไม่ควรปล่อยให้คลุมเครือ การใช้กฎหมายหรืออำนาจรัฐต้องโปร่งใสชัดเจน

เข้าตรวจค้นโดยมีหมาย มีเหตุอะไรต้องนำตัว ผู้ต้องสงสัยไปเซฟเฮาส์ ออกมาอธิบาย ชี้แจงกันให้ชัดเจน กฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานอยู่แล้ว แต่การเข้าค้นและจับกุม คุมตัว ต้องทำโดยสุจริต ถูกต้องตามกฏหมายเท่านั้น

Advertisement

คดีในสำนักงานอัยการปราบปรามการทุจริตภาค 9 ก็เคยปรากฏมาแล้วว่ามีประชาชนถูกเรียกเงินเพื่อการปล่อยตัว ต่อมาผู้เสียหายเข้าแจ้งความต่อตำรวจ แล้วดำเนินคดีอาญาในศาลทุจริต และประพฤติมิชอบ ตัดสินจำคุกกันมาแล้ว ประชาชนยังมั่นใจได้ว่ามีตำรวจดี ที่จะคอยจัดการกับตำรวจที่กระทำผิดกฏหมาย หรือประพฤติมิชอบ มีนักข่าวเข้าพบและ บอกเล่าเรื่องเหตุการเข้าตรวจค้น คุมตัว รายนี้ สอบถามท่านอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 9 นายอนุรักษ์ สวัสดิ์บุรี ในเรื่องนี้ ซึ่งได้อธิบายอำนาจตามกฎหมายในการขอออกหมายค้น ตรวจค้นจับกุม มีกรอบและขอบเขตอย่างไร และแสดงความห่วงใย

สำหรับสำนักงานอัยการปราบปรามการทุจริต ถ้ามีการแจ้งความดำเนินคดีกับตำรวจเราก็เป็นโจทก์ฟ้อง คดีอาญาต่อตำรวจ หรือถ้าตำรวจปฎิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เราก็ต่อสู้คดีให้ตำรวจ เช่นกัน และมีตัวอย่างที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อำนาจการจับกุม ตรวจค้นไม่ชอบ จนถูกดำเนินคดีอาญาถึงขั้นจำคุกมาหลายคดีแล้ว และในทำนองเดียวกันปฎิบัติหน้าที่โดยชอบ ถูกฟ้อง อัยการก็เข้าต่อสู้คดีให้จนศาลยกฟ้องมาแล้วก็มากพอควร

การออกมาชี้แจงให้ชัดของผู้บังคับบัญชา ตำรวจที่เข้าตรวจค้นจับกุม ย่อมจะสร้างความเชื่อมั่นให้ตำรวจได้

Advertisement

ตามกฏหมายตำรวจผู้จับกุมจะต้อง นำส่งพนักงานสอบสวนโดยทันที

จะเห็นได้จากวิ.อาญามาตรา 83 ในการจับนั้น เจ้าพนักงานหรือราษฎรซึ่งทำการจับต้องแจ้งแก่ผู้ที่จะถูกจับนั้นว่าเขาต้องถูกจับ แล้วสั่งให้ผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ถูกจับพร้อมด้วยผู้จับ เว้นแต่สามารถนำไปที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบได้ในขณะนั้น ให้นำไปที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบดังกล่าว แต่ถ้าจำเป็นก็ให้จับตัวไป

ในกรณีที่เจ้าพนักงานเป็นผู้จับ ต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกจับทราบ หากมีหมายจับให้แสดงต่อผู้ถูกจับ พร้อมทั้งแจ้งด้วยว่า ผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้และถ้อยคำของผู้ถูกจับนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้และผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความ หรือผู้ซึ่งจะเป็นทนายความ ถ้าผู้ถูกจับประสงค์จะแจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจทราบถึงการจับกุมที่สามารถดำเนินการได้โดยสะดวกและไม่เป็นการขัดขวางการจับหรือการควบคุมผู้ถูกจับหรือทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด ก็ให้เจ้าพนักงานอนุญาตให้ผู้ถูกจับดำเนินการได้ตามสมควรแก่กรณี ในการนี้ให้เจ้าพนักงานผู้จับนั้นบันทึกการจับดังกล่าวไว้ด้วย

ถ้าบุคคลซึ่งจะถูกจับขัดขวางหรือจะขัดขวางการจับ หรือหลบหนีหรือพยายามจะหลบหนี ผู้ทำการจับมีอำนาจใช้วิธีหรือการป้องกันทั้งหลายเท่าที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งเรื่องในการจับนั้น

มาตรา 84 เจ้าพนักงานหรือราษฎรผู้ทำการจับต้องเอาตัวผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนตามมาตรา 83 โดยทันที และเมื่อถึงที่นั้นแล้ว ให้ส่งตัวผู้ถูกจับแก่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจของที่ทำการของพนักงานสอบสวนดังกล่าว เพื่อดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) ในกรณีที่เจ้าพนักงานเป็นผู้จับให้เจ้าพนักงานผู้จับนั้นแจ้งข้อกล่าวหา และรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุแห่งการจับให้ผู้ถูกจับทราบ ถ้ามีหมายจับให้แจ้งให้ผู้ถูกจับทราบและอ่านให้ฟังและมอบสำเนาบันทึกการจับแก่ผู้ถูกจับนั้น

(2) ในกรณีที่ราษฎรเป็นผู้จับ ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจซึ่งรับมอบตัวบันทึกชื่อ อาชีพ ที่อยู่ของผู้จับ อีกทั้งข้อความและพฤติการณ์แห่งการจับนั้นไว้ และให้ผู้จับลงลายมือชื่อกำกับไว้เป็นสำคัญเพื่อดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาและรายละเอียดแห่งการจับให้ผู้ถูกจับทราบและแจ้งให้ผู้ถูกจับทราบด้วยว่าผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้ และถ้อยคำของผู้ถูกจับอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้

เมื่อได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งแล้วให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ซึ่งมีผู้นำผู้ถูกจับมาส่งแจ้งให้ผู้ถูกจับทราบถึงสิทธิตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 7/1 รวมทั้งจัดให้ผู้ถูกจับสามารถติดต่อกับญาติหรือผู้ซึ่งผู้ถูกจับไว้วางใจเพื่อแจ้งให้ทราบถึงการจับกุมและสถานที่ที่ถูกควบคุมได้ในโอกาสแรกเมื่อผู้ถูกจับมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวนตามวรรคหนึ่ง หรือถ้ากรณีผู้ถูกจับร้องขอให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้แจ้ง ก็ให้จัดการตามคำร้องขอนั้นโดยเร็ว และให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจบันทึกไว้ ในการนี้มิให้เรียกค่าใช้จ่ายใด ๆ จากผู้ถูกจับ

ในกรณีที่จำเป็น เจ้าพนักงานหรือราษฎรซึ่งทำการจับจะจัดการพยาบาลผู้ถูกจับเสียก่อนนำตัวไปส่งตามมาตรานี้ก็ได้

ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในชั้นจับกุมหรือรับมอบตัวผู้ถูกจับ ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิดห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน แต่ถ้าเป็นถ้อยคำอื่น จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับได้ต่อเมื่อได้มีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือตามมาตรา 83 วรรคสอง แก่ผู้ถูกจับแล้วแต่กรณี

มาตรา 84/1พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจซึ่งมีผู้นำผู้ถูกจับมาส่งนั้น จะปล่อยผู้ถูกจับชั่วคราวหรือควบคุมผู้ถูกจับไว้ก็ได้ แต่ถ้าเป็นการจับโดยมีหมายของศาลให้รีบดำเนินการตามมาตรา 64 และในกรณีที่ต้องส่งผู้ถูกจับไปยังศาล แต่ไม่อาจส่งไปได้ในขณะนั้นเนื่องจากเป็นเวลาที่ศาลปิดหรือใกล้จะปิดทำการ ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่รับตัวผู้ถูกจับไว้มีอำนาจปล่อยผู้ถูกจับชั่วคราวหรือควบคุมผู้ถูกจับไว้ได้จนกว่าจะถึงเวลาศาลเปิดทำการ

ข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือหมายอาญาพ.ศ. 2548การรายงานการปฏิบัติตามหมาย

ข้อ 23เมื่อเจ้าพนักงานจับบุคคลตามหมายจับได้แล้ว ให้เจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องรายงานให้ศาลที่ออกหมายทราบโดยเร็ว แต่ต้องไม่ช้ากว่า 7วัน นับแต่วันจับเมื่อเจ้าพนักงานได้จัดการตามหมายค้นแล้ว ให้บันทึกรายละเอียดในการจัดการนั้นว่าจัดการตามหมายได้หรือไม่ แล้วให้ส่งบันทึกไปยังศาลที่ออกหมายโดยเร็วแต่ต้องไม่ช้ากว่า 15วัน นับแต่วันจัดการตามหมาย ทั้งนี้ เจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่ตามหมายค้นจะร้องขอให้ศาลออกหลักฐานการตรวจค้น พร้อมสำเนาบันทึกการตรวจค้นและบัญชีทรัพย์ที่ได้จากการตรวจค้นนั้นให้ก็ได้

ให้ศาลกำชับให้มีการปฏิบัติตามข้อนี้อย่างเคร่งครัด และเพื่อประโยชน์ในการใช้ดุลพินิจของผู้พิพากษาสำหรับการพิจารณาคำร้องขอให้ออกหมาย ให้แต่ละศาลจัดทำสถิติข้อมูลการปฏิบัติตามหมายจับและหมายค้นของแต่ละหน่วยงานที่ยื่นคำร้องขอออกหมายแจ้งให้ผู้พิพากษาในศาลทุกคนทราบทุกเดือน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image