สถาบันนิติวัชร์อำนวยความยุติธรรมเชิงรุก วางเเนวช่วยปชช.คดีอาญาประสานความร่วมมือหน่วยงานกระบวนการยธ.

เลขาฯสถาบันนิติวัชร์ สนองนโยบาย อสส.อำนวยความยุติธรรมเชิงรุก วางเเนวช่วยเหลือประชาชนในคดีอาญาประสานความร่วมมือ หน่วยงานกระบวนการยุติธรรม หนุนรื้อฟื้นเรื่องชะลอฟ้อง

เมื่อวันที่ 18 มกราคม  ม.ล.ศุภกิตต์ จรูญโรจน์ เลขาธิการสถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยถึง การช่วยเหลือประชาชนที่มาพบพนักงานอัยการในคดีอาญาว่า ในรูปแบบเดิมๆ อัยการจะบอกว่าจะต้องรอรับสำนวนจากพนักงานสอบสวน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผู้ต้องหา หรือ ผู้เสียหายที่มาขอพบอัยการ บางครั้งต้องร้องไห้กลับไป ซึ่งเขามาหาที่พึ่ง กลับไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน หรือไม่มีใครให้ความช่วยเหลือได้ ไม่ว่าจะให้คำปรึกษา หรือ การคุ้มครองสิทธิ์ ทำให้ต้องไปพึ่งองค์กร ชมรม หรือ มูลนิธิเอกชนหลายๆแห่ง แทนที่หน่วยงานที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมโดยแท้ มีอำนาจหน้าที่โดยตรงอย่างอัยการจะทำหน้าที่ให้การช่วยเหลือ ดังนั้นในอนาคตจะมีการปรับบทบาทขององค์กรอัยการไม่ว่าจะเป็น พนักงานอัยการ นิติกร หรือ เจ้าหน้าที่ ควรจะต้องทำหน้าให้การช่วยเหลือทางด้านคดีแก่ประชาชนที่เดือดร้อนตามช่องทางกระบวนการยุติธรรมปกติทั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยการประสานความร่วมมือเพื่อให้ได้มาซึ่งพยานหลักฐานหรือข้อเท็จจริงทุกอย่าง ไม่ว่าจะพิสูจน์ความผิด หรือ พิสูจน์ความบริสุทธิ์ เพราะฉะนั้นแล้วข้อเท็จจริงในคดีก็จะเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นจริงด้วย

ม.ล.ศุภกิตต์ กล่าวต่อว่า จะพยายามประสานหน่วยงานกระบวนการยุติธรรม ในเชิงประสานความร่วมมือให้แต่ละหน่วยงานยอมรับได้ งานภารกิจหลักของเราก็คือ ศึกษา วิจัย และวิชาการ แต่ว่าต้องปรับทัศนคติ แนวความคิด เพราะว่าปัจจุบัน หรือย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อนจะทราบดีว่า แต่ละหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมไม่ไว้วางใจกัน เช่น อัยการไม่ไว้ใจตำรวจ มองว่าตำรวจทำสำนวนการสอบสวนมาถูกต้องหรือไม่ ตำรวจก็ไม่ไว้ใจอัยการ กระทั่งอัยการฟ้องศาล ศาลก็ไม่ไว้ใจอัยการว่าสำนวนใช่หรือไม่ พูดตรงๆว่าไม่มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ในหลายเรื่อง หลายคดี แม้แต่สื่อมวลชนเอง เวลาตำรวจทำสำนวนคดีก็ไปมองว่า ตำรวจจับแพะหรือเปล่า เรื่องจริงเป็นอย่างนี้ไหม ส่วนเมื่อสำนวนคดีมาถึงอัยการ สื่อมวลชนก็มองว่าทำไมอัยการสั่งฟ้องคดีนี้ อีกคดีไม่ฟ้อง พออัยการถูกโจมตี อัยการก็บอกว่าเป็นไปตามรูปสำนวนคดี

“ตอนนี้เราจะปรับบทบาทใหม่ ตามนโยบายของท่านอัยการสูงสุด ที่การอำนวยความยุติธรรมควรจะอำนวยความยุติธรรมในเชิงรุก เพราะเราไปมองถึงอำนาจหน้าที่ของอัยการ ไปๆมาๆ เรามองว่าหน้าที่ของอัยการเพียงแค่รอรับสำนวนจากพนักงานสอบสวนแล้วมาพิจารณาสำนวน ถ้าเกิดสำนวนขาดตกบกพร่องอะไร เราจึงมาสั่งสอบสวนเพิ่มเติม หรือ เรียกพยานมาซักถาม ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะหลายๆ เรื่อง หลายๆคดี ในปัจจุบันสื่อสังคมและโลกออนไลน์เยอะแยกมาก และประชาชนทุกคน ก็ไม่เหมือนสมัยก่อน เมื่อมีเรื่องราวเกิดขึ้นมา หรือ ต้องการขอความเป็นธรรม เขาก็มาหาหน่วยงานที่สามารถเป็นที่พึ่งได้ เช่นไปหาพนักงานสอบสวน ซึ่งก็มีภาระงานหนักมาก บางทีก็ไม่ทันใจ หรือไม่ถูกใจผู้เสียหาย หรือผู้ต้องหา ก็มาหาพนักงานอัยการ โดยไม่ไปหาศาล เพราะคดียังไม่ถึงชั้นศาล ล่าสุดได้ลงไปช่วยประสานงานคดีผกก.โจ้ ตกเป็นผู้ต้องหา ซึ่งทำตามนโยบายอัยการสูงสุด แต่ถ้าพูดถึงงานคดีของสถาบันนิติวัชร์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีโดยตรง ส่วนใหญ่เป็นงานด้านวิชาการ งานประสานความร่วมมือหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม” เลขาธิการสถาบันนิติวัชร์กล่าว

Advertisement

ม.ล.ศุภกิตต์ กล่าวต่อว่า เมื่อก่อนหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม มีแค่ตำรวจ อัยการ และศาล แต่ขณะนี้ในกระทรวงยุติธรรมก็มี กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) นอกจากนั้น ยังมี คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ (ป.ป.ช.) แม้กระทั่ง คณะกรรมการการเลือกทั้ง (ก.ก.ต.) เพราะมีอำนาจดำเนินคดีได้ ดังนั้นจะต้องมีการประสานความร่วมมือกัน

เมื่อถามถึงประเด็นข่าวจะมีการรื้อฟื้นร่างกฎหมายชะลอฟ้อง มาบังคับใช้ในเร็วๆนี้ม.ล.ศุภกิตต์ กล่าวว่า อยู่ ระหว่างเสนอร่างกฎหมายที่จัดทำเสร็จ ให้คณะรัฐมนตรี (ค.ร.ม.) พิจารณาลงมติอนุมัติ ก่อนจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และทำประชาพิจารณ์ในขั้นตอนสุดท้าย คาดว่าถ้ารัฐบาลไม่ยุบสภาเสียก่อน ก็จะสามารถออกเป็นกฎหมายมาใช้บังคับได้ ส่วนเนื้อหารายละเอียดของกฎหมาย จะเป็นการชะลอฟ้องในบางคดี ที่ไม่สมควรฟ้องหรือ ไม่สมควรที่จะนำคดีขึ้นสู่ศาล เป็นกรณีคดีพิพาทกัน ที่ผู้เสียหายกับคู่กรณียอมความกัน หรือไม่เอาเรื่องกันแล้ว ถอนแจ้งความร้องทุกข์ ตำรวจก็ยุติดำเนินคดีตามปกติ แต่มีคดีบางประเภทไม่สามารถยอมความกันได้ เช่น เมาเหล้าทะเลาะวิวาทกัน แต่ปรากฎว่าทั้งสองฝ่ายเจรจาไกล่เกลี่ยกันได้ สุดท้ายตำรวจก็จำเป็นต้องสรุปสำนวนคดีให้อัยการพิจารณา ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการชะลอฟ้อง ซึ่งในหลักการก็เหมือนร่างกฎหมายเดิม คือ เป็นคดีบางประเภท ที่ผู้ต้องหาไม่สมควรถูกตีตราบาป เพราะผู้กระทำไม่ได้มีจิตใจชั่วร้าย ทั้งนี้ปัจจุบันเรามีกฎหมายที่เป็นพระราชบัญญัติ ซึ่งมีโทษทางอาญา ประมาณ 600 กว่าฉบับ นักกฎหมายยังไม่รู้เลยว่ามีกฎหมายไหนบ้าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image