ศาลทหารเลื่อนสืบพยานโจทก์ คดีรุมซ้อม ‘พลทหารวิเชียร’ เสียชีวิตเมื่อ 11 ปีก่อน ไปเดือน ก.ย.65

ด้านขวาคือพลทหารวิเชียร เผือกสม

ศาลทหารเลื่อนสืบพยานโจทก์ คดีรุมซ้อม ‘พลทหารวิเชียร’ เสียชีวิตเมื่อ 11 ปีก่อน ไปเดือน ก.ย.65

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เปิดเผยกรณีที่ช่วงวันที่ 23-24 มิถุนายนที่ผ่านมา ศาลมณฑลทหารบกที่ 46 นัดสืบพยานในคดีดำที่ 41 ก./2563 หรือคดีที่ พลทหารวิเชียร เผือกสม ถูกเจ้าหน้าที่ทหาร รวม 9 นาย รุมทรมานในหน่วยฝึกทหารใหม่ ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จนเสียชีวิต เมื่อ 11 ปีก่อน

ทั้งนี้ อัยการแจ้งว่าพยานโจทก์มาเพียง 3 ปาก และพยานที่ยังไม่ได้สืบให้เลื่อนนัดออกไปก่อน นัดสืบพยานโจทก์นัดต่อไป วันที่ 21-23 ก.ย.65 โดยจะสืบพยานโจทก์นัดละ 2 ปาก รวม 6 ปาก เวลา 08.30 น. ที่ศาลมณฑลทหารบกปัตตานี

คดีนี้เริ่มจาก พลทหารวิเชียร เผือกสม ได้สมัครเข้ารับการราชการทหารกองประจำการ ผลัดที่ 1/2554 สังกัด ร.151 พัน.3 และเข้าฝึกยังหน่วยฝึกทหารใหม่ในค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2554 นายทหารยศร้อยโทกับเจ้าหน้าที่ทหาร รวม 9 นาย รุมทำร้ายซ้อมทรมานในหน่วยฝึกทหารใหม่ โดยเจ้าหน้าที่ผู้ซ้อมทรมานอ้างเหตุว่าพลทหารวิเชียรหลบหนีการฝึก จนทำให้พลทหารวิเชียรได้รับบาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตลงในวันที่ 5 มิ.ย.2554 จากอาการไตวายเฉียบพลัน และกล้ามเนื้อได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง

ที่ผ่านมา น.ส.นริศราวัลย์ แก้วนพรัตน์ หลานสาวของพลทหารวิเชียรได้เดินหน้าเรียกร้องความเป็นธรรมในทางคดีตลอด 11 ปีที่ผ่านมา และได้มีการยื่นฟ้องทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา ในส่วนของ คดีแพ่ง โจทก์ฟ้องกระทรวงกลาโหม กองทัพบก และ สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย และศาลได้พิพากษาให้คดีความเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2557 โดยกองทัพบกจ่ายเงินกว่า 7 ล้านบาท แก่โจทก์

Advertisement

ส่วน คดีอาญา มีความความล่าช้ามาก โดยคดีนี้อยู่ในความรับผิดชอบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) แล้วสรุปสำนวนส่งไปยังอัยการศาลทหาร รวมระยะเวลา 9 ปี จึงได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลทหารเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 และยังคงอยู่ในกระบวนการดำเนินคดีมาจนถึงปัจจุบัน

ในการพิจารณาครั้งนี้ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5-9 มาศาล จำเลยที่ 6 เสียชีวิต จำเลยที่ 4 ถูกควบคุมตัวที่เรือนจำกรุงเทพฯด้วยข้อหาอื่น เรือนจำประสานให้เข้ามารับฟังการพิจารณาทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ แต่ไม่ได้ฟังตลอดการพิจารณา จำเลยที่ 3 ได้ให้การรับสารภาพไปแล้วในครั้งก่อน พร้อมกับยื่นหนังสือต่อศาลว่าไม่ติดใจขอรับฟังการพิจารณาในครั้งนี้ ศาลอนุญาตให้พิจารณาคดีลับหลังจำเลย จึงไม่ได้ศาลในวันดังกล่าว

คดีนี้เป็นคดีอาญาในศาลทหารในขณะประกาศกฎอัยการศึก ทำให้ไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ และญาติของพลทหารวิเชียรเป็นโจทก์ร่วม แต่ไม่สามารถตั้งทนายความได้

Advertisement

การสืบพยานครั้งนี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้รับอนุญาตจากศาลมณฑลทหารบกที่ 46 ให้ตัวแทนจากมูลนิธิ จำนวน 3 คน เข้าสังเกตการณ์คดีในนัดสืบพยานครั้งนี้อย่างใกล้ชิด โดยในระหว่างพิจารณาคดีศาลทหารได้ห้ามมิให้ผู้สังเกตการณ์จดบันทึกการสังเกตการณ์คดีในครั้งนี้อีกด้วย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image