อัยการธนกฤต ชี้ ควรปรับปรุงมติครม.มอบอำนาจ ‘บิ๊กป้อม’ รักษาการนายกฯ ให้เหมาะสม ยก ‘ปม’ ก.ต.ช. บิ๊กตู่ นั่งต่อหรือไม่

อัยการธนกฤต ชี้ ปมอำนาจ “บิ๊กป้อม” รักษาการนายกฯหลังจากศาล รธน.สั่ง“ประยุทธ์”หยุดปฏิบัติหน้าที่ ระบุ ครม.มีอำนาจพิจารณาแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขจำกัดเรื่องอำนาจเเต่งตั้งโยกย้าย ขรก.-อนุมัติงบประมาณ ให้เหมาะสม หากกระทบการบริหารราชการแผ่นดิน ตั้งข้อสังเกต กรรมการในหน่วยงานอื่นๆ ที่นายกฯเป็นโดยตำแหน่ง เช่น “ก.ต.ช.” ประวิตร ควบด้วยหรือไม่

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการในหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุดได้ให้ความเห็นข้อกฎหมายผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในประเด็น ขั้นตอนและผลตามกฎหมายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้อง และสั่งให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่ ความว่า

ขั้นตอนตามกฎหมายหลังจากศาลมีคำสั่งรับคำร้อง

ปกติทั่วไปการพิจารณาว่าจะรับคำร้องที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ จะกระทำโดยคณะตุลาการคณะเล็ก ซึ่งมีอยู่ 2 คณะ คณะใดคณะหนึ่ง แล้วแต่ว่าจะเป็นคณะ 1 หรือคณะ 2 ซึ่งแต่ละคณะจะประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 4 คน

ADVERTISMENT

อย่างไรก็ตาม คดีคำร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของนายกรัฐมนตรีนี้ เป็นคดีสำคัญที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ศาลรัฐธรรมนูญหรือคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน จึงมีอำนาจพิจารณาและมีคำสั่งว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาหรือไม่ แทนที่จะเป็นคณะตุลาการคณะเล็กเป็นผู้พิจารณาและมีคำสั่งดังกล่าวข้างต้น ซึ่งทำให้การพิจารณาคำร้องมีความรัดกุมและรวดเร็วขึ้น

สำหรับคดีที่วินิจฉัยเรื่องความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงหรือไม่นี้ รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดกรอบเวลาในการพิจารณาคดีไว้ หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้ว เนื่องจากคดีตามคำร้องนี้เป็นคดีที่มีคู่กรณี จึงต้องมีการส่งสำเนาคำร้องให้แก่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้อง และ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีระยะเวลาในการยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง หรือภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด (พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 54) ซึ่งคดีคำร้องนี้เป็นคดีที่มีความสำคัญเร่งด่วน ศาลอาจจะกำหนดระยะเวลายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาให้น้อยกว่า 15 วัน เพื่อให้การพิจารณาคดีรวดเร็วขึ้น เช่น 5 วัน 7 วัน ก็ได้

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ประเด็นระยะเวลาดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญแล้วหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายหรือมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยคดีได้โดยไม่ต้องทำการไต่สวน (พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 58) ซึ่งจะส่งผลให้ระยะเวลาในการพิจารณาคดีสั้นและรวดเร็วกว่าคดีที่ต้องมีการไต่สวนตามขั้นตอนปกติ ซึ่งจะมีขั้นตอนคำแถลงการณ์เปิดคดี คำแถลงการณ์ปิดคดี การยื่นบัญชีระบุพยาน การตรวจพยานหลักฐาน การสืบพยาน การไต่สวนพยาน เป็นต้น

ดังนั้น คดีนี้ หากไม่มีการไต่สวน คาดว่าศาลรัฐธรรมนูญน่าจะใช้ระยะเวลาในการทำคำวินิจฉัยไม่นาน อาจจะมีคำวินิจฉัยคดีได้ภายในไม่กี่สัปดาห์นับจากนี้ไปก็ได้

ผลตามกฎหมายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ พลเอก ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่

ผู้ที่จะทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีในระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง เป็นไปตาม พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 41 ซึ่งกำหนดว่า ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรองนายกรัฐมนตรีหลายคน ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน มีรองนายกรัฐมนตรีหลายคน รองนายกรัฐมนตรีที่จะเป็นผู้รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ตาม พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ มาตรา 41 จะต้องให้คณะรัฐมนตรีมีมติมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทนเสียก่อน ซึ่งตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 237/2563 ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2563 คณะรัฐมนตรีได้มีมติมอบหมายให้ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในลำดับที่ 1 ดังนั้น หากพิจารณาตามมติคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นไปตามลำดับอาวุโสตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จึงเป็นผู้ทำหน้าที่รักษาการแทนนายกรัฐมนตรี ในระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่

อนึ่ง มีข้อสังเกตดังนี้

1. ในกรณีที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในหน่วยงานของรัฐต่าง ๆ โดยตำแหน่งในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรี เช่น คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ แล้ว พลเอกประยุทธ์ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ พลเอก ประยุทธ์ จะยังคงสามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการในหน่วยงานรัฐต่าง ๆ เหล่านี้ในระหว่างที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่ หรือว่าจะต้องให้พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนในฐานะรักษาการแทนนายกรัฐมนตรี ในช่วงเวลาดังกล่าว

2. ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว ที่กำหนดเงื่อนไขในการรักษาการแทนนายกรัฐมนตรีไว้ว่า ในระหว่างการรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีผู้รักษาราชการแทนจะสั่งการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลและการอนุมัติเงินงบประมาณอันอยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรีไม่ได้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีเสียก่อน อาจจะเหมาะสมกับช่วงเวลาที่นายกรัฐมนตรี ไม่สามารถปฏิบัติราชการได้ในช่วงสั้น ๆ เช่น นายกรัฐมนตรีเดินทางไปต่างประเทศ เป็นต้น แต่ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะเป็นช่วงเวลาที่นานกว่านั้น คงต้องมาพิจารณาว่าเงื่อนไขดังกล่าวจะกระทบกับการบริหารราชการแผ่นดินหรือไม่ ซึ่งในเรื่องนี้หากเห็นว่าเงื่อนไขที่กำหนดไว้ไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน คณะรัฐมนตรีย่อมมีอำนาจในการพิจารณาเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้เหมาะสมได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image