บิ๊กโจ๊กสั่งรวบ ‘ขบวนการเจ้าหน้าที่รัฐ’ เอื้อประโยชน์ฮั้วประมูลเรือของกลาง

บิ๊กโจ๊กสั่งรวบขบวนการ จนท.รัฐ เอื้อประโยชน์ฮั้วประมูลเรือของกลาง หลังพบความผิดปกติ

จากกรณีมีการลักลอบนำเรือจากประเทศมาเลเซียเข้ามาประเทศไทย เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปฏิบัติการประมง ร่วมกับ ศรชล.จับกุมเรือประมงปลอมแปลงสัญชาติ ซึ่งลักลอบเข้ามาทำการประมงโดยผิดกฎหมาย หรือ IUU จำนวน 5 ลำ พร้อมดำเนินคดีเจ้าของเรือและลูกเรือ จำนวน 22 ราย โดยมีการตรวจยึดเรือทั้ง 5 ลำเป็นของกลางในคดี

ต่อมา วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 พนักงานสอบสวน สภ.สิงหนคร ได้มอบเรือของกลางทั้ง 5 ลำให้กับด่านศุลกากรสงขลาเป็นผู้เก็บรักษาไว้ ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 และในวันที่ 17 มีนาคม 2565 ด่านศุลกากรสงขลามีการขายทอดตลาดเรือของกลางทั้ง 5 ลำ อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 โดยมีผู้เข้าร่วมการประมูล จำนวน 9 รายนั้น

VIDEO CONTENT AVERTISEMENT

คณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ควบคุม เฝ้าระวังการทำประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ได้ตรวจพบความผิดปกติในการประมูลเรือของกลางทั้ง 5 ลำ จึงได้รายงานต่อ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. โดย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์สั่งการให้ชุดปฏิบัติการสืบสวนและสอบสวนเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นโดยทันที เน้นย้ำให้ใช้ความละเอียดรอบคอบในการตรวจสอบเนื่องจากมีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องด้วย

โดยพฤติการณ์ในคดีนี้ก่อนจะมีการเข้าเสนอราคากันนั้น เชื่อว่าได้มีการตกลง หรือสมยอมกันว่าให้ผู้เข้าเสนอราคารายอื่นเข้ามาร่วมเสนอราคาเพื่อมีราคาที่เหมาะสม โดยผู้ชนะการประมูล ดังนี้

ADVERTISMENT

นางสาวเพ็ญฤดี อิ่มทั่ว ได้ชนะการประมูลเรือ 3 ลำ ได้แก่
– เรือ KNF7706 (KM.KILAT MAJU JAYA 65)
– เรือ KNF7451 (KM.HASIL MELIMPAH 12)
– เรือ PAF4727(KM.EDBERT JAYA5)
นางสมสวย คงวัดใหม่ ได้ชนะการประมูลเรือ 1 ลำ ดังนี้
– เรือ KNF7705 (JADE 3 EKS.FU YUAN YU)
นายสุรัตน์ บัวผุด ได้ชนะการประมูลเรือ 1 ลำ ดังนี้
– เรือ KNF7779 (JADE 5 EKS.FU YUAN YU 794)

ADVERTISMENT

เมื่อตรวจสอบชื่อและนามสกุลของผู้เข้าร่วมในการเสนอราคา รวมถึงที่อยู่จริงของผู้เข้าร่วมเสนอราคาพบความผิดปกติ กล่าวคือ ผู้ชนะเสนอราคาและผู้เข้าร่วมการเสนอราคาเรือของกลางดังกล่าวข้างต้นทั้ง 5 ลำ มีความเชื่อมโยงกัน บางรายมีความสัมพันธ์กันเชิงเครือญาติ และมีลักษณะตกลงสมยอมราคากันโดยไม่มีเจตนาที่จะเสนอราคาแข่งขันกันอย่างแท้จริง เพียงเพื่อให้เจ้าของเรือเดิมเป็นผู้ชนะในการเสนอราคาและได้เป็นผู้ได้ทำสัญญากับด่านศุลกากรเท่านั้น

และเมื่อเสร็จสิ้นการประมูล ผู้ชนะการประมูลได้นำเรือทั้ง 5 ลำ เดินทางไปยังประเทศมาเลเซียโดยไม่ได้แจ้งกรมเจ้าท่า ไม่ผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมือง และฝ่าฝืนคำสั่งกักเรือของพนักงานเจ้าหน้าที่และในความผิดเกี่ยวกับฮั้วประมูลตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542

โดยกล่าวหาว่าผู้ใดตกลงร่วมกันในการเสนอราคาเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะให้ประโยชน์แก่ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้มีสิทธิทางสัญญากับหน่วยงานของรัฐ โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม โดยการกีดกันไม่ให้มีการเสนอราคา โดยการเอาเปรียบแก่หน่วยงานของรัฐอันมิใช่เป็นไปในทางการประกอบธุรกิจปกติ โดยมีผู้ต้องหา จำนวน 8 ราย ดังนี้

1.นางเพ็ญฤดี อิ่มทั่ว

2.นางสมสวย คงวัดใหม่

3.นายสุรัตน์ บัวผุด

4.นางเรืองศรี อิ่มทั่ว

5.นางพิมพา นวลทอง

6.นายโชคชัย เหมพลเทพ

7.น.ส.รุ่งนภา พราหมวิเชียร

8.นายสุรชัย จารุธรรมาภรณ์

ส่วนพฤติกรรมของกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐมี ผอ.ศุลกากร ภาค 4 เป็นหัวหน้า และนายด่านจังหวัดสงขลาเป็น “รองหัวหน้า” มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ 7 ราย ผอ.อนุมัติการขายเรือ 3 ลำ และนายด่านเป็นผู้อนุมัติการขายเรือ 2 ลำ ซึ่งโดยปกติแล้วอำนาจอนุมัติเป็นของ ผอ.ส่วน แต่นายด่านกลับพิจารณาอนุมัติเรือดังกล่าวเอง และกรรมการมีหน้าที่ดำเนินการขายทอดตลาด รวบรวมข้อมูลการเสนอขออนุมัติ โดยลักษณะเป็นการแบ่งหน้ากันทำเป็นขั้นเป็นตอน และในการประมูลนั้นยังมีการปิดบังข้อมูลที่สำคัญ หรือแจ้งข้อมูลไม่ตรงตามความจริงในข้อพิจารณา อ้างระเบียบในการเสนอของกรรมการโดยใช้ราคาตลาดที่ไม่ตรงตามความจริง ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก โดยมีการทำให้ราคาประมูลสูงสุด มีความเหมาะสมเป็นราคาที่ขายได้ ทำให้การอนุมัติของ ผอ.ศุลการ ภาค 4 และนายด่านดูเหมือนมีความถูกต้อง เหมาะสม โดยจะแยกพิจารณาพฤติการณ์ในการกระทำผิดเป็นรายบุคคล พบว่า มีเจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรร่วมกระทำความผิด จำนวน 10 ราย และผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ จำนวน 8 ราย รวมทั้งหมด 18 ราย

จากการรวบรวมพยานหลักฐานจึงได้แจ้งข้อกล่าวหากับเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่ร่วมกระทำผิด จำนวน 10 ราย ดังนี้

1.นายยุทธนา พูลพิพัฒน์ ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากร ภาคที่ 4 มีหน้าที่เป็นผู้พิจารณาอนุมัติวิธีจำหน่ายของกลางและอนุมัติการขายทอดตลาด

2.นายวรชาติ คงจินดามณี ตำแหน่ง นิติกร สำนักงานศุลกากรภาคที่ 4 มีหน้าที่ตรวจสอบ กลั่นกรอง และประมวลเรื่องในข้อเท็จจริง ระเบียบ และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเสนอต่อผู้บังคับบัญชา ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172

3.นางสาวจินตนา คงเมือง ตำแหน่ง นายด่านศุลกากรสงขลา มีหน้าที่เป็นผู้พิจารณาอนุมัติการขายทอดตลาด

4.นางสาวอมรรัตน์ ผาสุข ตำแหน่ง หัวหน้าฝ่ายบริการศุลกากรที่ 2 ด่านศุลกากรสงขลา และเป็นกรรมการ

5.นายวีรศักดิ์ บุญทอง เป็นประธานคณะกรรมการ

6.นายสุชาญ เทพไชย เป็นคณะกรรมการ

7.นางสาวชญานิน สุทธากาศ เป็นคณะกรรมการ

8.นายสุรเชษฐ ปานสี เป็นคณะกรรมการ

9.นางพรทิพย์ สีดาวงศ์ เป็นคณะกรรมการ

10.นางสาวกรกนก ฐิติพรวณิช เป็นคณะกรรมการ

ซึ่งลำดับที่ 1, 3-10 เป็นผู้มีหน้าที่เป็นกรรมการขายทอดตลาด และเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติขายทอดตลาดเรือประมงทั้ง 5 ลำ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ไม่ยุติการประมูลการขายทอดตลาดเมื่อรู้ หรือควรจะรู้ปรากฏหลักฐานแจ้งชัดว่ามีการฮั้วแต่ไม่ยุติการขาย และกระทำการใดๆ เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้ประมูลรายหนึ่งรายใด ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 10, 12

และมีผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 มาตรา 157 จำนวน 8 ราย ดังนี้

1.นางเพ็ญฤดี อิ่มทั่ว

2.นางสมสวย คงวัดใหม่

3.นายสุรัตน์ บัวผุด

4.นางเรืองศรี อิ่มทั่ว

5.นางพิมพา นวลทอง

6.นายโชคชัย เหมพลเทพ

7.น.ส.รุ่งนภา พราหมวิเชียร

8.นายสุรชัย จารุธรรมาภรณ์

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์กล่าวว่า ในกรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่ประชาชนและสื่อมวลชน รวมทั้งองค์กรจากต่างประเทศให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งการเอื้อประโยชน์ในลักษณะของการฮั้วในการประมูลงานเป็นการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการประมูลแสวงหาประโยชน์ที่มิชอบจากผู้ประมูลได้ จากการดำเนินการมีการกระทำในลักษณะเป็นการสมยอมในการเสนอราคาและมีพฤติการณ์ต่างๆ อันทำให้มิได้มีการแข่งขันกันเสนอประโยชน์สูงสุดให้แก่หน่วยงานของรัฐอย่างแท้จริง และเกิดผลเสียหายต่อประเทศชาติ ซึ่งเป็นการละเว้นไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ อันมีผลทำให้ปัญหาในการเรื่องนี้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐ

สำหรับการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐนั้น เมื่อเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) ได้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่มีการรับสินบนในการดำเนินการเกี่ยวกับการตรวจสอบเรือขาเข้า-ออกในประเทศ จำนวน 11 ราย โดยเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง จำนวน 6 คน เจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่า จำนวน 2 คน และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จำนวน 3 คน

โดยทั้ง 11 ราย ซึ่งถูกดำเนินคดีในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 1 แสนบาท ถึง 4 แสนบาท หรือประหารชีวิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image