อุทธรณ์กลับชั้นต้น สั่งถอนคำสั่งปลด”อภิสิทธิ์”พ้นทหาร ชี้ลงโทษวินัยต้องรับราชการอยู่

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน นายไพบูลย์ โพธิ์น้อย ทนายความนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาศาลแพ่งอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต อดีต รมว.กลาโหม เรื่องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของกระทรวงกลาโหม ที่ให้ปลดนายอภิสิทธิ์ออกจากราชการ โดยศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษากลับเป็นให้เพิกถอนคำสั่งของกระทรวงกลาโหม อย่างไรก็ตามคดียังไม่ถึงที่สุด ซึ่ง พล.อ.อ.สุกำพลยังสามารถยื่นฎีกาได้อีก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับคดีดังกล่าวศาลแพ่งซึ่งเป็นศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558 ว่า คำสั่งของกระทรวงกลาโหมนั้นชอบแล้ว ไม่มีเหตุเพิกถอนคำสั่งของจำเลย เนื่องจากเหตุที่จำเลย ปลดโจทก์ออกจากราชการ เพราะโจทก์ขาดการตรวจเลือกทหารแล้วนำใบสำคัญ (ใบสด.9) แทนฉบับที่ชำรุดสูญหายอันเป็นเท็จ มาแสดงต่อสัสดีจังหวัดนครนายก ทำให้สัสดีจังหวัดนครนายก ไม่ทราบความจริงว่าโจทก์ครบเวลา ที่จะต้องเข้ารับการตรวจเลือกทหาร จึงไม่ได้ระบุสถานะว่า เป็นผู้ขาดการเกณฑ์ทหาร เป็นเหตุให้สัสดีจังหวัดนครนายกออกใบสำคัญ สด.3 (ใบขึ้นทะเบียนกองประจำการ) ให้แก่โจทก์ และโจทก์ไม่มีใบสด.41 เป็นเอกสารแสดงว่า ได้รับการผ่อนผันกรณีศึกษาที่ต่างประเทศว่าไม่ต้องเข้ารับการตรวจเลือกทหาร โจทก์จึงเป็นผู้ขาดคุณสมบัติและไม่มีคุณสมบัติที่จะบรรจุเข้ารับราชการกลาโหมพลเรือนชั้นสัญญาบัตรได้ การสมัครและบรรจุโจทก์เป็นข้าราชการกลาโหมพลเรือนชั้นสัญญาบัตร กับการแต่งตั้งโจทก์เป็นนายทหารสัญญาบัตรฯ ตามคำสั่งกระทรวงกลาโหมเป็นการไม่ชอบ คำสั่งของจำเลยที่ให้ปลดโจทก์ออกจากราชการ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบแล้ว ต่อมา นายอภิสิทธิ์โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ.2521 มาตรา 4 บัญญัตินิยามคำ ”ข้าราชการทหาร” หมายถึงทหารประจำการ และข้าราชการกลาโหมพลเรือนที่บรรจุในตำแหน่งอัตราทหาร โดยมาตรา 15 บัญญัติว่า วินัยของข้าราชการทหารกองประจำการ และนักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหมให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยทหาร ข้อบังคับและระเบียบแบบแผนที่กระทรวงกลาโหมกำหนด โดยพ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 ยังบัญญัติว่า ทหารกองเกินและทหารกองหนุนที่ถูกเรียกเข้ารับราชการ และทหารประจำการต้องอยู่ในวินัยทหาร เหมือนทหารกองประจำการ จึงทำให้เห็นว่าทหารประจำการและทหารกองประจำการเท่านั้นที่ต้องอยู่ในวินัยทหาร

และในส่วนของข้อบังคับทหารว่าด้วยการแบ่งประเภทนายทหารสัญญาบัตร โดยมาตรา 11 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า นายทหารสัญญาบัตรประจำการ ต้องขึ้นทะเบียนกองประจำการและรับราชการในกองจนครบกำหนดตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่กระทรวงกลาโหมจะสั่งปลดเป็นนายทหารประเภทอื่น หากถูกถอดหรือออกจากยศสัญญาบัตร ก็ให้ปลดพ้นราชการทหารประเภทที่ 2 ขณะที่วรรคสองบัญญัติว่า การแบ่งประเภทนายทหารสัญญาบัตรนั้น แล้วแต่กระทรวงกลาโหมจะกำหนด จึงทำให้เห็นว่า นายทหารสัญญาบัตรประจำการ เป็นผู้รับราชการทหารตามพระราชบัญญัติดังกล่าว และอาจถูกสั่งปลดได้เท่านั้น

Advertisement

ขณะที่พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ.2476 มาตรา 7 บัญญัติว่า ทหารผู้ใดกระทำผิดต่อวินัยทหารจะต้องรับทัณฑ์ตามวิธีในพระราชบัญญัติ และอาจถูกปลดจากประจำการ หรือถูกถอดยศทหาร โดยมาตรา 10 บัญญัติถึงผู้มีอำนาจที่ลงทัณฑ์ และเทียบชั้นผู้รับทัณฑ์รวม 12 ขั้น ตั้งแต่รมว.กลาโหม แม่ทัพ ผู้บัญชาการกองพล ผู้บังคับการกองเรือ ผู้บัญชาการกองพลบิน ผู้บังคับกองพัน จนถึงนักเรียนทหาร ซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้เป็นนายทหารประทวน รูปแถว ทำให้เห็นว่า ทหารที่จะถูกลงโทษทางวินัย ต้องเป็นทหารประจำการ หรือทหารกองประจำการที่รับราชการอยู่

แต่คดีนี้ ขณะที่จำเลยมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนการรับราชการทหารของโจทก์ และมีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากราชการ โจทก์จึงเป็นนายทหารนอกราชการ ซึ่งเป็นกระบวนการลงโทษทางวินัยทหารหลังจากโจทก์พ้นจากราชการแล้วถึง 23 ปีเศษ แม้ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้ แต่การพิจารณาและลงโทษข้าราชการทางวินัย ย่อมต้องพิจารณาและลงโทษในขณะที่บุคคลนั้นรับราชการอยู่ เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลนั้นก่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการต่อไป ซึ่งหากบุคคลนั้นพ้นจากราชการแล้ว ย่อมไม่อาจก่อความเสียหายได้อีก ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยตอบข้อหารือของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมเรื่องดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการทหารที่พ้นราชการด้วยเหตุเกษียณอายุราชการ และมีสิทธิรับบำนาญว่า การปลดข้าราชการทหารออกจากประจำการต้องเป็นข้าราชการทหารที่ประจำการอยู่ หากพ้นราชการแล้วก็ไม่อาจพ้นออกจากประจำการได้โดยสภาพ

ส่วนที่จำเลยอ้างว่า เคยมีการลงโทษทางวินัยข้าราชการทหารหลังจากพ้นราชการไปแล้วตามประกาศกระทรวงกลาโหม และคำสั่งกระทรวงกลาโหมนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย และสั่งพักราชการก่อนพ้นจากราชการ กับเป็นกรณีหนีราชการ รมว.กลาโหมจึงมีคำสั่งลงโทษปลดจากราชการย้อนหลังไปจนถึงวันที่รับราชการวันสุดท้าย ซึ่งคำสั่งเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับและกฎเกณฑ์ที่ถือปฏิบัติแล้ว แตกต่างจากคำสั่งปลดโจทก์ออกจากราชการทั้งที่โจทก์ไม่ได้รับราชการแล้ว โดยให้มีผลในวันที่ 2 มิถุนายน 2531 ซึ่งเป็นวันที่อ้างว่าโจทก์กระทำผิดวินัยทหาร กรณีจึงไม่ได้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับและกฎเกณฑ์ที่ถือปฏิบัติ จึงไม่อาจตีความปิดช่องว่างทางกฎหมายให้เป็นผลร้ายกับโจทก์ซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหาและถูกลงโทษทางวินัยตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าได้

Advertisement

ดังนั้น จำเลยจึงไม่มีอำนาจสั่งปลดโจทก์ออกจากราชการ ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ.2476 มาตรา 7 อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น จึงพิพากษากลับเป็นว่าให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงกลาโหมที่ 1163/2555 เรื่องให้ปลดนายทหารสัญญาบัตรออกจากราชการ ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2555

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image