ปริญญา เผย 6 หมื่นคนในคุกอยู่ระหว่างสอบสวน ยันตามหลักการ ‘ยังบริสุทธิ์’ เสนอ 5 ข้อแก้กระบวนการยุติธรรม

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน เวลาราว 13.00 น. ที่ห้องประชุม 301 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ มีการจัดสัมมนาทางวิชาการ หัวข้อ ‘ปัญหาการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิดในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทย’

ในตอนหนึ่ง ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มธ. กล่าวว่า ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอย่างมาก สืบเนื่องจากปัญหาที่ไม่ได้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์  ผู้ที่จะพิพากษาว่าประชาชนทำผิดหรือไม่เป็นอำนาจศาลเท่านั้น เมื่อศาลยังไม่พิพากษาว่าผิด การนำตัวไปขังระหว่างการพิจารณาเป็นเรื่องยกเว้นเท่านั้น การควบคุมหรือคุมขังให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้หลบหนี แต่ในทางปฏิบัติระเบียบการตำรวจกำหนดให้กำหนดให้นำรายชื่อหรือประวัติของผู้ต้องหาทุกคนบันทึกลงในทะเบียนประวัติอาชญากร ต่อให้อัยการไม่ฟ้อง หรือศาลยกฟ้องก็ไม่มีการนำชื่อออก ประชาชนต้องทำเรื่องนำรายชื่อออกเอง เนื่องมาจากการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิดจนกว่าจะสู้คดีชนะถึงจะบริสุทธิ์

VIDEO CONTENT AVERTISEMENT

ต่อมา ผศ.ดร. ปริญญา ยกตัวอย่างข้อมูลผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างดำเนินการเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 มีจำนวนถึง 50,520 คน ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งแม้คดีความจบลงแต่การไปสมัครงานหากมีการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมจะมีชื่อในทะเบียนประวัติอาชญากรขึ้นทันทีโดยที่ไม่ได้ระบุข้อหา

“ช่วงดำเนินคดีส่งไปถึงศาลจะเน้นขังไว้ก่อน การปล่อยชั่วคราวกลับเป็นเรื่องรอง แต่การขังจะเป็นเรื่องหลักจนกว่าจะตัดสินไม่ผิด หรือยกฟ้อง หากไม่ต้องการให้ประกันจะมีการตั้งข้อหาที่ร้ายแรงไว้ ปัจจุบันผู้ต้องขัง 20% อยู่ในคุกระหว่างการสอบสวน มีจำนวนถึง 60,000 คน ทั้งที่ตามหลักแล้วยังบริสุทธิ์อยู่ ส่งผลให้จำนวนคนในคุกกลับเพิ่มสูงขึ้น และการปล่อยจำเป็นต้องมีหลักประกัน หรือเงินประกันตัวเพื่อเป็นการปล่อยชั่วคราว หากผู้ต้องขังไม่มีเงินประกัน หรือศาลตัดสินไม่ให้ประกันตัวก็จะถูกนำไปขังในคุกกับนักโทษ เนื่องมาจากที่เราสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด” ผศ.ดร. ปริญญากล่าว

ADVERTISMENT

ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า ที่จริงแล้ว คุกควรจะเป็นขั้นสุดท้าย แต่ พ.ร.บ. ราชทัณฑ์ฉบับ 2560 กำหนดว่า ผู้ต้องขังหมายความรวมถึงนักโทษเด็ดขาด หมายถึงว่า ถือว่าผิดไว้ก่อนจึงต้องนำตัวไปขัง ตนมีข้อเสนอแนะ 5 ข้อ เพื่อปรับปรุงแก้ไข โดยหวังว่าจะมีผู้บริสุทธิ์ที่ถูกกล่าวหาแล้วประกันตัวไม่ได้น้อยลง  ได้แก่

1. แก้ไขประมวลกฎหมายอาญาให้เปลี่ยนเป็นสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ไว้ก่อน
2. ตอนตั้งข้อหาให้บันทึกในทะเบียนผู้ต้องหาและ ล้างประวัติเก่า ให้ผู้ที่ศาลยกฟ้อง อัยการไม่สั่งฟ้อง หรือศาลลงแค่รอลงอาญา หรือแค่ปรับ
3. เปลี่ยน “ปล่อยชั่วคราว” เป็น “กักขังชั่วคราว” และกักขังเฉพาะเมื่อป้องกันมิให้หลบหนี รวมถึงยกเลิกการใช้เงินเป็นหลักประกัน
4. ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ประกันตัวไม่ได้ ต้องกักขังไว้ในที่ที่ไม่ใช่คุก หรือเรือนจำของนักโทษ และไม่ปฏิบัติเสมือนผู้กระทำผิด
5. กระทรวงยุติธรรมต้องบูรณาการ ประเมินผล และ ป้อนข้อมูลกลับ ทั้งกระบวนการรวมไปถึงต้นทางที่ฝ่ายนิติบัญญัติไว้ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไข

ADVERTISMENT

“ข้อหา ตำรวจเป็นคนตั้ง และยิ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง ผู้บังคับบัญชาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คือนายกรัฐมนตรี ดังนั้นคดีหรือเหตุการณ์ต่างๆ เช่น ประท้วงนายก ตำรวจสลายม็อบ ฉีดแก๊สน้ำตา ล้วนมาจากผู้บังคับบัญชาคือนายก จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่เราต้องทำให้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาเป็นการสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ไว้ก่อน” ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image