ตัวแทนตำรวจไทย ขึ้นเวที “ยูเอ็น” ดันใช้ตร.สากล -ตร.ในชุมชน รับมือก่อการร้าย

พล.ต.ต.อภิชาติ สุริบุญญา ผู้ ผบก.ตท. ในฐานะหัวหน้าตำรวจสากลประเทศไทย ขึ้นกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 71

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ที่นครนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา พล.ต.ต. อภิชาติ สุริบุญญา ผู้บังคับการกองการต่างประเทศ(ผบก.ตท.)ในฐานะหัวหน้าตำรวจสากลประเทศไทย ขึ้นกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติครั้งที่ 71 ในนามของประเทศไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สนับสนุนร่างมติสหประชาชาติว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสหประชาชาติกับองค์การตำรวจสากล ซึ่งประเทศไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับการทาบทามจากองค์การตำรวจสากลให้เป็น 1 ใน 5 ประเทศซึ่งประกอบด้วย สวิสเซอร์แลนด์ รวันดา จอร์แดน จาไมก้า และไทย ให้ทำหน้าที่ยกร่างและอุปถัมภ์หลักในข้อมตินี้

พล.ต.ต.อภิชาติ สุริบุญญา ผบก.ตท.
พล.ต.ต.อภิชาติ สุริบุญญา ผบก.ตท.

ทั้งนี้ พล.ต.ต.อภิชาติ กล่าวในที่ประชุมถึงสภาพปัญหาของอาชญากรรมข้ามชาติและการก่อการร้ายในปัจจุบันที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วจากสภาพแวดล้อมของโลกที่เชื่อมโยงกันมากขึ้น ซึ่งการต่อสู้กับภัยคุกคามเหล่านี้ ไม่ควรเพียงเป็นหน้าที่ของตำรวจและฝ่ายความมั่นคงของรัฐเท่านั้น แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนและประชาชนอย่างแท้จริงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และใช้แนวทางข่าวกรองนำกิจการตำรวจ ซึ่งพลังความร่วมมือแบบบูรณาการแบบนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อภาคเอกชนและประชาชนต้องถูกให้องค์ความรู้และความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาชญากรรมและการก่อการร้ายอย่างต่อเนื่อง โดยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตำรวจในชุมชน ดังนั้น ถึงเวลาที่สหประชาชาติควรจะมีกลไกในการนำแนวทางและองค์ความรู้ต่างๆ ว่าด้วยการต่อสู้อาชญากรรมข้ามชาติและการก่อการร้ายที่ได้จากการประชุมส่งตรงไปถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติโดยตรงและรวดเร็ว โดยแนวทางและองค์ความรู้เหล่านี้ไม่ควรตกค้างอยู่ที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงเพราะจะเสียเวลา เนื่องจากการต่อสู้กับอาชญากรรมปัจจุบันนั้นต้องตอบโต้รวดเร็วทันทีเพื่อลดการสูญเสียให้น้อยที่สุด ซึ่งกลไกดังกล่าวก็คือ เครือข่ายตำรวจสากลที่มีระบบการสื่อสารครอบคลุมถึง 190 ประเทศและกำลังขยายลงลึกไปถึงเจ้าหน้าที่ปฏิบัติในหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย

นอกจากนี้ พล.ต.ต.อภิชาติ ยังกล่าวถึงความสำเร็จของตำรวจไทยในการใช้เครือข่ายช่องทางตำรวจสากลซึ่งสามารถจับกุมคนร้ายข้ามข้ามชาติที่ถูกหมายจับขององค์การตำรวจสากลได้มากถึง 55 คนในรอบสามปีที่ผ่านมา มากที่สุดในภาคพื้นเอเชีย และท้ายที่สุด สมาชิกสหประชาชาติทั้ง 190 ประเทศก็ได้ให้การรับรองมตินี้อย่างเป็นเอกฉันท์ ซึ่งนับจากนี้เป็นต้นไป ช่องทางสื่อสารองค์การตำรวจสากลหรือที่เรียกกันว่า I-24/7 หรือระบบการสื่อสารขององค์การตำรวจสากลที่ใช้สื่อสารประเทศสมาชิกทั้งหมด 190 ประเทศอยู่ จะมีความเป็นทางการมากขึ้น และจะเป็นช่องทางหลักที่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติจะใช้ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรองในการป้องกันปราบปรามภัยคุกคามข้ามชาติต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image