คุก2เดือน”นักศึกษาป.โท”คดีชุมนุมค้านรัฐประหาร หน้าหอศิลป์ฯ รอลงอาญา1ปี ปรับ 6 พันบาท

จ.ส.อ.อภิชาติ พงษ์สวัสดิ์ นักวิชาการด้านกฎหมาย และนักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 19 ธันวาคม ที่ศาลแขวงปทุมวัน ถนนพระราม4 ศาลอ่านคำพิพากษาคดี อ.363/2558 พนักงานอัยการสำนักงานคดีศาลแขวง 6 (ปทุมวัน) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง จ.ส.อ.อภิชาติ พงษ์สวัสดิ์ นักวิชาการด้านกฎหมาย และนักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นจำเลยฐานร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่10คนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยฝ่าฝืนประกาศ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช.) ฉบับที่ 7/2557 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง ซึ่งเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก และกระทำผิดต่อ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 มาตรา 8 และ 11 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 , 216, 368 วรรคแรก

ตามฟ้องเมื่อ วันที่ 28 เมษายน 2558 บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า ภายหลังการการยึดอำนาจปกครองจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แล้ววันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ตั้ง คสช. และประกาศ คสช.เรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมือง เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 เวลากลางคืน จำเลยกับพวกอีก 500 คนที่หลบหนีไม่ได้ตัวมาฟ้อง มั่วสุมชุมนุมคัดค้านการรัฐประหารของ คสช. โดยจำเลยกับพวกชูป้ายว่า “ไม่ยอมรับอำนาจเถื่อน” บริเวณหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และด่าทอ โห่ร้อง เจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย บริเวณหอศิลปฯ และยังปลุกระดมกลุ่มผู้ชุมนุม ให้ร่วมชุมนุมมากขึ้นเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง เหตุเกิดที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ถนนพระราม 1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน

จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดีและนำสืบว่า จำเลยทำงานที่ สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย วันที่ 23 พฤษภาคม 2557 หลังเลิกงาน เวลา 16.30 น. จำเลยไปที่หอศิลปฯ เพื่อแสดงออกถึงการไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร เนื่องจากวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีการส่งข้อความในเฟซบุ๊ก ว่าจะมีการรวมตัวที่หน้าหอศิลปฯ จำเลยจึงเดินทางไปในเวลา 18.00 น. ขณะเดินอยู่บนสกายวอล์คทางเชื่อมรถไฟฟ้าบีทีเอส ขณะนั้นมีการชุมนุมอยู่ จำเลยจึงนำป้ายที่เตรียมมาชูประท้วงไม่เห็นด้วย จากนั้น 30 นาทีมีเจ้าหน้าที่ทหาร 4-5 คน เดินมาจากสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ตรงมาที่จำเลยแล้วควบคุมตัวไปโดยไม่มีการแจ้งสิทธิและแจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบ ขณะที่ประชาชนมีสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะแสดงความไม่เห็นด้วยในการทำรัฐประหาร และการชุมนุมนั้นต่างคนต่างมาโดยไม่ได้นัดหมายและไม่ได้ก่อให้เกิดความวุ่นวาย

โดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 ให้ยกฟ้อง จ.ส.อ.อภิชาติ เนื่องจากยังฟังไม่ได้ว่า กองบังคับการปราบปราม(บก.ป.) มีอำนาจหน้าที่การสอบสวนความผิดอาญาในท้องที่เขตปทุมวันในคดีนี้ และยังฟังไม่ได้ว่า พนักงานสอบสวน กก.1 ป. มีอำนาจหน้าที่สอบสวนความผิดตามข้อกล่าวหาในคดีนี้ กรณีจึงฟังไม่ได้ว่า มีการสอบสวนความผิดตามข้อกล่าวหาโดยชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง คดีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่น

Advertisement

ต่อมาอัยการโจทก์ได้ยืนอุทธรณ์ ปัญหาข้อกฎหมายเรื่องขอให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเรื่องอำนาจการสอบสวน

ขณะที่ในวันนี้ จ.ส.อ.อภิชาติ เดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อมกับ นายรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความ

ต่อมาเวลา 16.00 น. นายรัษฎา ทนายความเปิดเผยว่า เดิมคดีนี้ศาลแขวงปทุมวันมีคำพิพากษายกฟ้องโดยให้เหตุผลเกี่ยวกับอำนาจการสอบสวนของตำรวจบก.ป. แต่ต่อมาอัยการโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ประเด็นข้อกฎหมายนี้ กระทั่งศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้วเห็นว่าพนักงานสอบสวนบก.ป.มีอำนาจสอบสวนจึงให้ย้อนสำนวนส่งกลับมาให้ศาลชั้นต้น พิจารณาแล้วมีคำพิพากษาใหม่ ศาลชั้นต้นก็ได้พิจารณาและมีคำพิพากษาในวันนี้ โดยศาลเห็นว่าการกระทำของ จ.ส.อ.อภิชาติ ฝ่าฝืนประกาศ คสช.เรื่องการห้ามชุมนุมและประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 จึงพิพากษาให้จำคุก 2 เดือนและปรับ 6,000 บาท แต่ศาลเห็นว่า จ.ส.อ.อภิชาติ ไม่เคยต้องโทษคดีอาญามาก่อนจึงให้รอลงอาญาไว้มีกำหนด 1 ปี

Advertisement

นายรัษฎา กล่าวต่อว่า ส่วนคดีนี้เราจะยื่นอุทธรณ์อีกหรือไม่ ต้องรอหารือกับทีมทนายความก่อนอีกครั้ง การกระทำของ จ.ส.อ.อภิชาติไม่ใช่การเคลื่อนไหวทางการเมืองแต่เป็นการแสดงความคิดเห็นต่อการรัฐประหาร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image