ต่อเวลา”ยิ่งลักษณ์” เลขาฯศาลยุติธรรม ชี้ ประกาศใช้รธน. คดีจำนำข้าว ยื้อต่อ ยื่นอุทธรณ์ได้

เมื่อวันที่ 6 มกราคม นาย อธิคม อินทุภูติ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยถึงร่างรัฐธรรมนูญที่มีการประกาศใช้เร็วๆนี้ในหมวดศาลนั้นที่มีการแก้ไขเรื่องที่น่าสนใจ คือเรื่องสิทธิในการอุทธรณ์ในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จากเดิมรัฐธรรมนูญปี 50 นั้นกำหนดเรื่องการให้อุทธรณ์ได้ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และจะสามารถอุทธรณ์ได้เฉพาะผู้ต้องคำพิพากษาเท่านั้น ซึ่งก็คือฝ่ายจำเลย และจะต้องมีพยานหลักฐานใหม่ที่อาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ นั่นหมายความว่า พยานหลักฐานใหม่ที่จะประกอบการยื่นอุทธรณ์นั้นจะมีผลทำให้คดีเปลี่ยนแปลงซึ่งในความเป็นจริงเป็นไปไม่ได้ หรือเป็นไปได้ยากมาก ที่จะเกิดพยานหลักฐานใหม่ในระยะเวลาอุทธรณ์แค่ 30 วัน เพราะหากมีพยานหลักฐานคู่ความก็นำเสนอในชั้นพิจารณากันอย่างเต็มที่หมดแล้ว จึงเห็นได้ว่าจำเลยที่ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาคดีในศาลฎีกาฯนักการเมือง ศาลจะยกคำร้องหมด เพราะไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่ แต่รัฐธรรมนูญใหม่ที่ผ่านประชามติในหมวดศาลมีการกำหนดให้คู่ความสามารถยื่นอุทธรณ์ได้และสามารถ อุทธรณ์ได้ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ตัดเรื่องพยานหลักฐานใหม่ทิ้งไปสำหรับองค์คณะที่จะพิจารณาเรื่องอุทธรณ์ ได้กำหนดว่าจะต้องเป็นองคณะที่ประกอบด้วยผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาเท่านั้นและไม่ใช่คนพิจารณาในชั้นต้น เพราะฉะนั้นก็จะเป็นองคณะซ้อนกันในศาลเดียว

เมื่อถามว่า คดีสำคัญอย่างคดีรับจำนำข้าว คดีจีทูจี หรือคดีสลายการชุมนุม ที่อยู่ระหว่างการสืบพยานในศาลฎีกาฯนักการเมือง จะมีผลด้วยหรือไม่ นายอธิคม กล่าวว่า ถ้าหากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้ขึ้นมาคดีที่ตัดสินหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้จะอุทธรณ์ได้เลยโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องมีพยานหลักฐานหรือข้อเท็จจริงใหม่ โดยไม่มีข้อแม้ใดๆทั้งสิ้น ซึ่งรวมถึงคดีโครงการรับจำนำข้าวก็จะสามารถยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาได้ตามรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะประกาศใช้ ซึ่งหากศาลสั่งลงโทษจำคุกจำเลย จำเลยก็สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง แต่หากศาลพิพากษาว่าจำเลยไม่มีความผิด อัยการสูงสุดซึ่งเป็นโจทก์ก็สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อได้เช่นเดียวกันการอุทธรณ์ดังกล่าวจะสามารถยื่นได้ทั้งอัยการและฝ่ายผู้ต้องโทษตามคำพิพากษา

เมื่อถามว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นไปตามหลักสากลแล้วหรือไม่ นายอธิคม กล่าวว่า น่าจะไม่ขัด อย่างในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองบอกไว้เพียงแต่ว่า จำเลยในคดีอาญาพึงได้รับสิทธิที่จะทบทวนคำพิพากษาที่ลงโทษโดยองคณะที่สูงกว่า ถือว่าอยู่ตามหลักการนี้ ในการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ให้อุทธรณ์ต่อผู้พิพากษาระดับหัวหน้าคณะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image