ศาลปค.ยกคำขอทุเลา”บุญทรง-พวก”ชดใช้จำนำข้าว2หมื่นล้าน เหตุการบังคับคดียังไม่เกิด

เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ ศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำร้องขอให้ทุเลาการบังคับใช้ตามคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ที่สั่งให้นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ ,นายภูมิ สาระผล อดีตรมช.พาณิชย์ ,นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ, นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และนายอัครพงศ์ ทีปวัชระ อดีตผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ผู้ฟ้องคดีรวม 5สำนวน คดีชดใช้ค่าเสียหายจากการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจี รวมมูลค่ากว่า2หมื่นล้านบาท

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ศาลจะมีอำนาจออกคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งพิพาทในระหว่างพิจารณาคดีได้นั้น ต้องครบเงื่อนไขตามกฎหมายทั้ง 3 ประการ 1.คำสั่งพิพาทน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย 2.การให้คำสั่งพิพาทมีผลใช้บังคับต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง และ 3.การทุเลาการบังคับตามคำสั่งพิพาทไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะ ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงในชั้นไต่สวนคำขอวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาแล้ว เห็นว่า ภายหลังจากนายกรัฐมนตรีกับพวกรวม 4 คน เป็นผู้ถูกฟ้องคดีได้ออกคำสั่งเรียกให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 คดี ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน นายกรัฐมนตรีฯมีหนังสือแจ้งเตือนให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้เสร็จสิ้นใน15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือดังกล่าว ซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 และผู้แทนฝ่ายของนายกรัฐมนตรีให้ถ้อยคำต่อศาลรับกันว่านอกจากหนังสือแจ้งเตือนดังกล่าวแล้ว ฝ่ายของนายกรัฐมนตรีผู้ถูกฟ้องคดียังไม่มีการใช้มาตรการบังคับทางปกครอง โดยยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 และขายทอดตลาดเพื่อชำระค่าสินไหมทดแทนแต่อย่างใด ในชั้นนี้จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่า คำสั่งพิพาทน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง5 อ้างว่าคำสั่งพิพาทไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการนั้น เป็นประเด็นในเนื้อหาของคดีที่ศาลจะต้องแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อพิจารณาพิพากษาต่อไป และเมื่อนายกรัฐมนตรีผู้ถูกฟ้องคดียังไม่มีการใช้มาตรการบังคับทางปกครอง ในชั้นนี้จึงรับฟังไม่ได้ว่าหากศาลไม่มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำพิพากษาจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงจากผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 คดีที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง ดังนั้นข้อกล่าวอ้างในการขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสิ่งพิพาทของผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 คดีจึงไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ศาลจึงไม่มีอำนาจสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งที่เรียกให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 คดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไว้เป็นการชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดี ศาลจึงมีคำสั่งยกคำขอวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาของผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 คดี

ทั้งนี้ในการอ่านคำสั่งวันนี้ฝ่ายผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 รายไม่ได้เดินทางมาศาล แต่มอบให้ตัวแทนมาฟังคำสั่งแทน

Advertisement

โดยตัวแทนผู้ฟ้องคดี ระบุว่า สาเหตุที่ศาลยกคำขอเนื่องจากเห็นว่าการบังคับคดียังไม่เกิดขึ้นจริง เป็นเพียงแต่มีการแจ้งเตือนจากกระทรวงพาณิชย์ว่ามีคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น ส่วนกระบวนการบังคับคดีเป็นเรื่องที่กระทรวงพาณิชย์กับกรมบังคับคดีต้องไปดำเนินการ อย่างไรก็ตามหากมีการบังคับคดีเกิดขึ้นจริง ผู้ฟ้องคดีฯทั้งหมดจะยื่นต่อศาลปกครองอีกครั้งเพื่อขอทุเลาการบังคับใช้คำสั่งกระทรวงพานิชย์ดังกล่าว ส่วนคดีหลักที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงพานิชย์ให้ชดใช้สินไหมทดแทนในกรณีดังกล่าวขณะนี้อยู่ในระหว่างกระบวนการพิจารณาของศาล

ด้านน.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ชี้แจงถึงขั้นตอนการบังคับคดีว่า ขณะนี้กรมบังคับคดียังไม่ได้รับเรื่องนี้จากกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ที่ถือว่าเป็นผู้เสียหาย จึงยังไม่ได้ดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์ใด ๆ ทั้งสิ้น โดยต้องรอให้กรมการค้าต่างประเทศตั้งเรื่องมาว่ามีทรัพย์สินใดบ้างที่ต้องการให้กรมบังคับคดีดำเนินการ เป็นหน้าที่ของกรมการค้าต่างประเทศ ที่ต้องไปสืบหาทรัพย์สินแล้วแจ้งต่อกรมบังคับคดี หลังจากนั้นกรมบังคับคดีจึงจะปฎิบัติตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่งคือไปดำเนินการยึดอายัดทรัพย์ตามคำสั่งกระทรวงพานิชย์ต่อไป

ขณะที่นางดวงพร รอดพยาธิ อธิบดีกรมการค้าต่าประเทศ กล่าวว่า ได้ส่งหนังสือให้กรมบังคับคดีไปตามขั้นตอนแล้ว แต่รายละเอียดยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะเรื่องนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เคยชี้แจงถึงขั้นตอนการบังคับคดีเพื่อนำทรัพย์มาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำสั่งกระทรวงพานิชย์ จะต้องดำเนินการภายใน 45 วัน นับแต่วันที่กระทรวงพาณิชย์ออกคำสั่ง ขณะนี้พ้นระยะเวลาดังกล่าวมาหลายเดือนแล้ว แต่การบังคับคดีก็ยังไม่เกิดขึ้น

สำหรับผู้ฟ้องทั้ง5ถูกเรียกค่าเสียหายให้ชดใช้รวมมูลค่ากว่า2หมื่นล้านบาท โดยแยกดังนี้ นายบุญทรง ต้องชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 1,770 ล้านบาท นายภูมิ 2,300 ล้านบาท นายมนัส นายทฆัมพร และนายอัครพงศ์ รายละ 4 พันล้านบาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image