นายกสภาทนายความเจรจาผู้จัดการกองทุนวินาศภัย ติดตามเงินประกันให้ประชาชนที่ป่วยโควิด-19 เผยติดปัญหากองทุนไม่มีเงินชำระหนี้เพียงพอ
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 16 กรกฎาคม ที่กองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) ถ.วิภาวดีรังสิต ดร.วิเชียร ชุปไธสง นายกสภาทนายความพร้อมด้วย ดร. วิเชียร รุจิธำรงกุล ประสานงานผู้เสียหายตามสัญญาประกันภัยเข้าพบ นายชนะพล มหาวงษ์ ผจก.กองทุนวินาศภัย เพื่อติดตามการใช้สิทธิเรียกร้องของผู้เอาประกันภัย และเป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยโควิด-19
ดร.วิเชียร กล่าวว่า เนื่องจากประชาชนที่ได้รับความเสียหายมาร้องเรียนกับทางสภาทนายความโดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มประชาชนที่เป็นเจ้าหนี้ของบริษัทประกันภัยที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตไปก่อนหน้านี้ รวม 4 บริษัทประมาณ 5 แสนราย มูลหนี้ค้างประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท และอีกกลุ่มหนึ่งเป็นเจ้าหนี้บริษัทสินมั่นคงประกันภัย ประมาณ 5 แสนราย มูลหนี้ประมาณ 4.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะประชาชนร้องเรียน ยังไม่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต แต่มาถึงวันนี้บริษัทสินมั่นคงประกันภัยได้ถูกเพิกตอนใบอนุญาตโดยคำสั่งกระทรวงการคลังแล้ว และคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. แต่งตั้งกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) เป็นผู้ชำระบัญชี ในวันที่ 9 ก.ค. 2567 ซึ่งมีผลให้กองทุนประกันวินาศภัยจะต้องเข้ามาเป็นผู้ชำระบัญชีบริษัทสินมั่นคงประกันภัย เช่นเดียวกับบริษัทที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตไปก่อนหน้า
รวมจำนวนเจ้าหนี้ที่ทางกองทุนจะต้องชำระรวม ทั้งสองกลุ่มประมาณ 1 ล้านรายเศษ รวมเป็นยอดหนี้ประมาณ 9 หมื่นล้านบาท
ซึ่งเฉพาะในส่วนของ บริษัทสินมั่นคงประกันภัย จากการตรวจสอบเบื้องต้น มีทรัพย์สินเป็นอาคารที่ดินและรถยนต์ตลอดถึงอุปกรณ์สำนักงานที่สามารถนำมาจำหน่ายเพื่อนำเงินบางส่วนได้จำนวน 3,000 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ ซึ่งกองทุนประกันวินาศภัยต้องพยายามหาเงินจากช่องทางต่างๆ ตามกฎหมายประกันวินาศภัยเปิดช่องให้ทำได้คือ ขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐ ซึ่งเคยขอไปแต่ยังไม่ได้รับ
การตอบรับ, ขอขึ้นเงินสมทบจากบริษัทประกันวินาศภัย ปัจจุบันมีการขึ้นเงินสมทบจากบริษัทประกันวินาศภัย1 เท่าตัวแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอ และจากช่องทางการกู้ยืม ปัจจุบันไม่มีธนาคารใดให้กู้เนื่องจากกระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน รวมทั้งกรณี
มีแนวความคิดจาก คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ.จะขอความร่วมมือจากบริษัทประกันวินาศภัยอื่นๆที่เหลือให้รวมตัวกันปล่อยกู้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดยกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) จะออกพันธบัตรกู้ยืม แต่หากทำทุกช่องทางแล้วยังไม่สามารถรวบรวมเงินได้ครบตามยอดหนี้ซึ่งมีจำนวนมาก อาจจะต้องใช้วิธีการประนอมหนี้ร่วมด้วย สำหรับกรณีการประนอมหนี้กองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) มีความกังวลในข้อกฎหมายว่ากองทุนอาจไม่สามารถขอลดยอดหนี้ได้ตามข้อกฎหมายประกันภัย แต่ในทางกลับกันหากเป็นการเจรจายอมลดยอดให้ โดยความยินยอมของเจ้าหนี้หรือตัวแทนผู้รับมอบอำนาจ น่าจะสามารถทำได้ และทำให้เจ้าหนี้สามารถได้รับชำระหนี้ได้ไม่ต้องรอนานหลายสิบปี
นายชนะพล มหาวงษ์ กล่าวว่า วันนี้สภาทนายความมาหารือเบื้องต้น เพื่อหาทางออกให้ประชาชนที่ได้รับความเสียหาย ปัญหาของกองทุนประกันวินาศภัย คือ รับเรื่องของบริษัทประกัน 4 แห่ง มีหนี้ค้างรวม 6-7 แสนล้านบาท ยังจ่ายไม่หมด เพราะเงินไม่พอ เรามีกำลังจ่ายปีละ 1,200 ล้านบาท ใช้เวลาจ่าย 40 ปีกำลังจะมีปัญหาของบริษัทสินมั่งคงเข้ามาอีก 1 แห่ง มีเจ้าหนี้ทั้งเก่าและใหม่เกือบ 2 ล้านราย รอรับเงินจำนวน 4-5 แสนล้านบาท นอกจากนี้ยังมีหนี้ อีก 7 หมื่นล้านบาท ดังนั้นสมมติว่าผู้เอาประกันอายุ 50 ปีจะได้รับเงินตามกรมธรรพ์ เมื่ออายุ 130 ปี ใจจริงเราควรจ่ายให้เสร็จใน 2 ปี ยังมีกรมธรรพ์ที่ยังเดินอยู่ (ยังคุ้มครอง)แต่บริษัทล้มละลาย ถูกถอนใบอนุญาตไปแล้ว เราจะบอกเลิกสัญญาให้หมดภายใน 9 ก.ย.นี้
“ปัญหาติดตรงที่เงิน ถ้ามีเงินผมจะจ่ายให้หมด เราเข้าใจความเดือดร้อนของประชาชน แต่ประเด็นคือเงินไม่มีและติดขัดข้อกฎหมายบางประการ กับนโยบายรัฐ ขอให้สภาทนายความเป็นคนกลางเป็นกลไกไปเจรจากับรัฐบาล กระทรวงการคลังเพื่อขอนโยบาย และหาทางออกที่เหมาะสม ให้กับลูกหนี้” นายชนะพล กล่าว
ดร. วิเชียร กล่าวทิ้งท้ายว่า จะรับไปเจรจากับนายกรัฐมนตรี รมว.คลังหาทางแก้ปัญหาให้ลงตัว และเป็นคนกลางเจรจากับผู้เอาประกันภัยโควิด-19อีกครั้ง ว่าจะพอใจรับเงินสินไหมรายละเท่าใด
น.ส.วิศิษฐ์สิริ สิริปิไทสงค์ และ น.ส.ชญาภา จันทรลาเวียง เผยว่าเราไม่เชื่อมั่นกับระบบประกันภัย มีความหวังกับการเรียกร้องครี้งนี้ และอาจต้องใช้สิทธิทางศาล และอยากให้รัฐบาลลงมาดูแลตรงนี้ด้วย