สภาทนายความล่าชื่อชาวบ้าน เตรียมฟ้อง ‘รัฐ-เอกชน’ ต้นตอหมอคางดำระบาด 16 ส.ค.

สภาทนายความล่าชื่อชาวบ้าน เตรียมฟ้อง ‘รัฐ-เอกชน’ ต้นตอหมอคางดำระบาด 16 ส.ค.

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ที่สำนักงานกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์และสวัสดิการชุมชน ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม นายจรุงศักดิ์ ชะโกฏิ ประธานคณะทำงานคดีขอความช่วยเหลือกรณีชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากปลาหมอคางดำ สภาทนายความ พร้อมทนายความ และผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่รวบรวมผลกระทบที่ชาวบ้าน เกษตรกร ได้รับความเดือดร้อนจากการระบาดของปลาหมอคางดำ โดยมีชาวบ้าน และผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก ทยอยเดินทางมายื่นลงทะเบียนให้ข้อเท็จจริงกรณีผลกระทบของการระบาดปลาหมอคางดำในพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และแหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้ได้รับความเสียหาย โดยทนายความได้รวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลอาชีพข้อมูลความเสียหาย ข้อร้องเรียนต่างๆ ตลอดจนข้อมูลเอกสาร นอกจากนี้ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ได้มอบอำนาจการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง เช่น แจ้งความร้องทุกข์ ห้องคดีอาญา คดีแพ่ง หรือคดีแพ่งอันเกี่ยวกับคดีอาญา คดีล้มละลาย หรือคดีทั้งปวง เป็นต้น

“คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สภาทนายความได้รับหนังสือร้องเรียนจากชาวบ้าน ต.ยี่สาร ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ว่าได้รับความเสียหายจากการระบาดของปลาหมอคางดำพบในแหล่งน้ำธรรมชาติ และในพื้นที่บ่อเลี้ยงกุ้ง บ่อเลี้ยงปลา จึงตั้งประธานสภาทนายความจังหวัดรวม 16 จังหวัด เป็นผู้แทนสภาทนายความ เพื่อร่วมประชุมกับส่วนราชการ กำหนดวิธีแก้ปัญหาโดยเร่งด่วน ต่อมามีชาวบ้านจังหวัดอื่นๆ ยื่นขอความช่วยเหลือทางกฎหมายเข้ามาเพิ่มเติม ดังนั้น สภาทนายความจึงเตรียมฟ้องคดีปกครอง และคดีแพ่งกับหน่วยงานของรัฐ และบริษัทเอกชนนำเข้าปลาดังกล่าว จึงต้องลงพื้นที่รวบรวมรายชื่อชาวบ้าน และความเสียหาย วันนี้เริ่มที่ จ.สมุทรสงคราม เป็นที่ตั้งบริษัทเอกชน และเป็นจุดแรกที่ปลาหมอคางดำเริ่มระบาด” นายจรุงศักดิ์ กล่าว

นายจรุงศักดิ์ กล่าวต่อว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมสภาทนายความ และคณะกรรมการสำนักงานคดีปกครอง กำหนดแนวทางให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย 2 แนวทาง คือ การดำเนินคดีแพ่งกับผู้ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในไทย ดำเนินคดีแบบกลุ่ม เรียกค่าเสียหายจากการขาดรายได้ของชาวประมง และเรียกค่าเสียหายจากทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายตามหลัก ผู้ก่อให้เกิดมลพิษเป็นผู้จ่าย โดยจะฟ้องศาลปกครอง ฟ้องหน่วยงานของรัฐอนุญาตให้นำปลาหมอคางดำเข้ามา ละเลย ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้เกิดการแพร่ระบาด เป็นการทำละเมิดทางปกครอง และให้หน่วยงานอนุญาตขจัดการแพร่ระบาด และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่สูญเสียไป และฟ้องศาลแพ่งแผนกคดีสิ่งแวดล้อม ฟ้องบริษัทเอกชน รวมทั้ง หน่วยงานของรัฐที่นำปลาหมอคางดำเข้ามาแล้วเกิดความเสียหาย โดยให้เรียกค่าใช้จ่ายการดำเนินการจากผู้ก่อให้เกิดการระบาด รวมทั้ง ค่าเสียหายจากการต้องสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ

“นอกจากชาวบ้านจะฟ้องแล้ว สภาทนายความซึ่งเป็นผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.คุณภาพสิ่งแวดล้อมจะเป็นโจทย์ฟ้องคดีด้วย คาดว่าจะยื่นฟ้องไม่เกินวันที่ 16 สิงหาคมนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้ไม่ได้มายื่นเอกสารในวันนี้ สามารถขอรับ และยื่นเอกสารได้ที่สภาทนายความจังหวัดต่างๆ ทั้ง 16 แห่ง” นายจรุงศักดิ์กล่าว

ADVERTISMENT

ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายวินัย วรรณสุก ประธานกลุ่มประมงเรือเล็กหัวดอน กล่าวว่า สถานการณ์ปลาหมอคางดำระบาดใน อ.หัวหิน ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ และในทะเลกำลังวิกฤต ขณะนี้พยายามเร่งกำจัดปลาหมอคางดำตัวใหญ่ แต่ปัญหาคือยังไม่สามารถกำจัดลูกปลาหมอคางดำที่มีมหาศาลในแหล่งน้ำได้เลย เนื่องจากติดขัดข้อกฎหมาย ไม่สามารถใช้อุปกรณ์บางชนิด หรือแหตาเล็ก

“คาดว่าปีนี้หัวหินจะมีหมึกเพิ่มมาก เพราะเมื่อ 3-4 เดือนที่ผ่านมา ตรวจเช็กไข่หมึกบริเวณซั้งกอในทะเลที่ชาวประมงช่วยกันทำไว้ห่างจากชายฝั่งประมาณ 1 กิโลเมตรเศษ พบมีไข่ปริมาณมาก จึงมั่นใจว่าปีนี้ชาวประมงจะมีรายได้จากการจับหมึกขาย แต่ล่าสุดไข่หมึกที่แนวซั้งกอหายเกลี้ยง ไม่พบหมึกตัวใหญ่ที่ควรจะมีจำนวนมากในทะเล ประกอบกับมีชาวประมงเรือเล็กบางส่วนจับปลาหมอคางดำในทะเลได้ จึงเชื่อว่าปลาหมอข้างดำแพร่ระบาดไปสู่ทะเลแล้ว การเร่งกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ ลำคลองสาธารณะต่างๆ จึงถือเป็นเรื่องเร่งด่วน” นายวินัย กล่าว