การประชุมเร่งรัดการป้องกันปราบปรามยาเสพติด กองบัญชาการตำรวจนครบาล
เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ในการประชุมเร่งรัดการป้องกันปราบปรามยาเสพติดของ ศูนย์ ศอ.ปส.บช.น. ในวันศุกร์ที่ผ่านมา พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. ได้มอบหมายและสั่งการให้ พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์ รอง ผบช.น. (ดูแลงานด้านยาเสพติด) พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ , พล.ต.ต.วสันต์ เตชะอัครเกษม รอง ผบช.น. (ในฐานะผู้ช่วยดูแลงานด้านยาเสพติด) พล.ต.ต.ธีระเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น./เลขานุการ ศอ.ปส.บช.น. และ ผู้บังคับการในสังกัดทุกๆ หน่วย โดยในการประชุมได้มีการสรุปผลการปฏิบัติในภาพรวมของ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ในการป้องกันปราบปรามยาเสพติด ดังนี้
ภาพรวมการจับกุมคดียาเสพติด ในข้อหาความผิดร้ายแรงของ บช.น. มีผลการจับกุมเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบการจับกุมในปี 2566 ในห้วงเดียวกัน โดยตั้งแต่เดือน ต.ค.2566 ถึง 9 ส.ค.2567 มีผลการ จับกุมยาเสพติดในข้อหาความผิดร้ายแรง ได้มากถึง 5,313 คดี จับกุมผู้ต้องหาได้จำนวน 5,799 คน เปรียบเทียบกับปี 2566 ในห้วงเดียวกัน สามารถจับกุมได้มากกว่า จำนวน 2,218 คดี ผู้ต้องหา 2,582 คน คิดเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ 239.54 (รวมทุกข้อหา 9,361 คดี) ประกอบด้วย
– มีการยึดของกลาง
– ยาบ้า จำนวน 60 ล้านเม็ดเศษ
– ยาไอซ์ จำนวน 1,631 กก.
– เคตามีน จำนวน 644 กก.
– เฮโรอีน จำนวน 161 กก.
– ยาอี จำนวน 3,763 เม็ด ฯลฯ
ในห้วงการเร่งรัด 3 เดือนตามนโยบายของ นายกรัฐมนตรี (มิ.ย.ถึง ส.ค.2567) บช.น. สามารถจับกุมยาเสพติดในข้อหาความผิดร้ายแรงได้ ผู้ต้องหา 1,956 คน รวมทุกข้อหา 5,009 คน สูงกว่าเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้เป็นตัวชี้วัดถึง 1,208 คน คิดเป็นสูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 161.92
เรื่องคดีเครือข่ายรายสำคัญ เป้าหมายในห้วง 3 เดือน มีการตั้งเป้าหมายไว้ 55 เครือข่าย บช.น. สามารถ ดำเนินการได้ครบทั้ง 55 เครือข่าย โดยยังเหลือเวลาอีก 21 วัน ซึ่งจะดำเนินการต่อเป้าหมายเครือข่ายรายสำคัญเพิ่มไปได้อีก เพื่อเป็นการทำลายขบวนการค้ายาเสพติด และเครือข่ายรายสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการแพร่ระบาดในชุมชนของกรุงเทพมหานคร
เรื่อง การขยายผลจากการจับกุมผู้ค้ารายย่อย รายเล็ก กลาง ใหญ่ ซึ่งกำหนดให้ต้องมีการขยายผลไปจับกุมผู้ร่วมกระทำความผิดในข้อหา สมคบ สนับสนุน ฯ มีการกำหนดเป้าหมายไว้ 45 คดี บช.น. สามารถดำเนินการได้ครบทั้ง 45 คดี และยังเสนอขออนุมัติต่อ เลขา ปปส. เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาเพื่อดำเนินคดีกับเครือข่ายอื่นๆ ไว้อีกหลายคดี อยู่ระหว่างการดำเนินการต่อเนื่อง โดยไม่ได้หยุดการทำงาน เพื่อให้มีการขยายผลต่อเนื่องต่อไป เป้าหมายเพื่อต้องการให้สามารถจับกุม และยึดทรัพย์ เครือข่ายขบวนการค้ายาเสพติด ที่เหนือขึ้นไปจนถึงนายทุนให้ได้มากที่สุด เพื่อตัดท่อน้ำเลี้ยง ของขบวนการค้ายาเสพติดดังกล่าว
เรื่อง การยึดทรัพย์ของกลุ่มค้ายาเสพติด มีการกำหนดเป้าหมายการยึดทรัพย์ ทั้งปีงบประมาณ 2567 ให้ บช.น. ดำเนินการยึดทรัพย์ให้ได้ จำนวน 800 ล้านบาท (ทั้งปีงบประมาณ ตั้งแต่ ต.ค.66- ก.ย.67) บช.น.สามารถดำเนินการได้ในภาพรวมตั้งแต่ 1 ต.ค.66 ถึง 9 ส.ค.67 จำนวนทั้งสิ้น 1,180 ล้านบาทเศษ ทะลุเป้าหมายภาพรวมทั้งปีงบประมาณไปเรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อมองในห้วงการระดมเร่งรัดใน 3 เดือน ของนายกรัฐมนตรี (ห้วงเดือน มิ.ย.ถึง ส.ค.67) มีการกำหนดเป้าหมายให้ บช.น. ทำการยึดทรัพย์ให้ได้ 201 ล้านบาท บช.น. สามารถดำเนินการได้ในห้วงนี้ ประมาณ 70 ล้านบาทเศษ ซึ่งดูเหมือนต่ำกว่าเป้าหมายในห้วงระดมนี้
ซึ่งหากมองในภาพรวม จะเห็นได้ว่า บช.น. ได้เร่งดำเนินการเรื่องการยึดทรัพย์มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2567 จนทะลุเป้าหมายภาพรวมของทั้งปีงบประมาณไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น ในห้วง 3 เดือน อาจไม่ถึงเป้าที่มีการกำหนดไว้ โดยเป้าหมายที่กำหนดไว้เป็นการกำหนดที่ท้าทายให้ต้องดำเนินการไปให้ถึง ของ บช.น.มีการกำหนดในยอดที่สูงกว่าทุกจังหวัด ทั้ง 25 จังหวัดเป้าหมาย
แต่อย่างไรก็ตาม ผบช.น. ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ยังได้มีการประสานงานกับ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และหน่วยร่วมต่างๆ ทั้งหมดในกรุงเทพมหานคร โดยมี พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์ รอง ผบช.น. ในฐานะผอ.ศอ.ปส.บช.น. เป็นผู้รับนโนบายไปขับเคลื่อนให้บังเกิดผลในทางปฏิบัติในนามของศูนย์ป้องกันปราบปรามยาเสพติดกรุงเทพมหานคร โดยให้ทำงานร่วมกัน ทั้งในเรื่องการรับแจ้งข้อมูล เบาะแส รวมถึงการดำเนินคดีในเรื่องการสมคบ สนับสนุนให้ไปถึงกลุ่มนายทุน ตัวการใหญ่ เพื่อให้สามารถยึดทรัพย์ให้ได้มากที่สุดในห้วง 3 เดือนของการเร่งรัดตามนโยบายนายกรัฐมนตรี ในครั้งนี้
ในส่วนของ มาตรการการจัดระเบียบสังคม เพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยง พื้นที่เสี่ยงต่างๆ ผบช.น. ยังได้สั่งการให้ทุกสถานีตำรวจทั้ง 88 สถานี , บก.สปพ., บก.สส.บช.น. , กก.ดส. รวมถึง กก.สส. ในแต่ละ บก. ให้ร่วมกันออกสืบสวน หาข่าว ออกตรวจตราสถานบันเทิง สถานบริการ,สถานประกอบการที่ให้บริการคล้ายสถานบันเทิง , พื้นที่เสี่ยงรอบสถานศึกษาในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร อย่างต่อเนื่อง และยังได้รับคำชื่นชมในการประชุมคณะกรรมการเร่งรัด (ครส) ว่า
บช.น. และกรุงเทพมหานคร มีการดำเนินการในเรื่องนี้ได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพเรื่องการป้องกัน บำบัดรักษา ที่เป็นงานของฝ่ายสาธารณสุข สำนักอนามัยฯ และกรุงเทพมหานคร บช.น. ก็ได้ให้การสนับสนุนการปฏิบัติ และจัดกำลังเข้าไปร่วมปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถในทุกพื้นที่ ทั้งการค้นหาผู้ป่วยในชุมชน ผู้มีอาการทางจิตที่เกิดจากการใช้ยาเสพติด และไม่ได้ใช้ยาเสพติด การเอ็กซเรย์พื้นที่ค้นหาผู้เสพ เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการบำบัด รักษา และมีผลการปฏิบัติผ่านเกณฑ์ของคณะกรรมการ ฯ โดย สำนักงานเขตทั้ง 50 เขตของ กรุงเทพมหานคร ได้มีการประเมินความพึงพอใจของพี่น้องประชาชนในทุกเขต พบว่ามีความพึงพอใจของประชาชน ในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่สูงขึ้นอีกส่วนหนึ่งด้วย
อย่างไรก็ตาม ผบช.น. ได้เน้นย้ำกำลังพลที่ปฏิบัติงานด้านการป้องกันปราบปรามยาเสพติด และทุกสายงาน ว่า ให้มีความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ เน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยในการเข้าปฏิบัติงาน ทุกครั้งต้องไม่ประมาท ต้องมีการตรวจสอบอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ให้พร้อม และเพียงพอต่อการทำงาน โดยเฉพาะในการเข้าระงับเหตุ คนคุ้มคลั่งทั้งที่เกิดจากการใช้ยาเสพติด และมีอาการทางจิต ต้องพึงใช้ความระมัดระวังสูงสุด เพื่อไม่ให้การสูญเสีย หรือได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ และสั่งการให้กำลังพลทุกนายเร่งรัดดำเนินการทั้งในด้านการป้องกัน การปราบปราม การสนับสนุนเรื่องการบำบัดรักษา การดำเนินการตามโครงการชุมชนบำบัดอย่างยั่งยืนในทุกชุมชนที่เข้าร่วมในโครงการ และดูแลพี่น้องประชาชนในเขตนครบาลให้ปลอดภัยจากปัญหายาเสพติดในทุก ๆ มิติ