อุทธรณ์ลดโทษ จำคุก1ปี“คุณหญิงเป็ด อดีตผู้ว่าฯสตง.-อดีตผอ.สตง.”คดีสัมมนาพ่วงกฐิน ไม่รอลงอาญา

ภาพจากแฟ้ม:คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถนนนครไชยศรี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีที่พนักงานอัยการ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และนายคัมภีร์ สมใจ อดีตผู้อำนวยการสำนักบริหารงานและทรัพยากรบุคคล สตง. ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 กรณีจัดสัมมนา ที่ จ.น่าน วันที่ 31 ตุลาคม 2546 ทั้งๆที่ไม่ได้มีการสัมมนากันจริง แต่จัดสัมมนาเพื่อให้ข้าราชการที่มีรายชื่อเข้ารับการสัมมนานั้นไปร่วมงานถวายผ้าพระกฐินพระราชทานที่จัดขึ้นในวันเดียวกัน แล้วให้เบิกค่าเดินทาง ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายต่างๆ ในงบฯเดียวกัน294,440บาท ทำให้ สตง.เสียหาย ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดคุณหญิงจารุวรรณ และนายคัมภีร์

โดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 ว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามมาตรา 157 ให้จำคุกคนละ 2 ปี โดยไม่รอการลงโทษ จากนั้นคุณหญิงจารุวรรณ และนายคัมภีร์ ได้ยื่นสมุดบัญชีเงินฝากคนละ 200,000 บาท ขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์คดี

ทั้งนี้ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษากันแล้ว ประเด็นที่คุณหญิงจารุวรรณ จำเลยที่ 1 อุทธรณ์สู้ประเด็นการไต่สวนของคณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช.ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า หลังจากคณะอนุกรรมการไต่สวน รวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับข้อกล่าวหาและพิจารณาว่ามีมูลแล้ว คณะอนุกรรมการฯ ได้แจ้งข้อกล่าวหาให้จำเลยที่ 1 ทราบ และแจ้งด้วยว่า ในการแก้ข้อกล่าวหาจำเลยอาจทำเป็นหนังสือหรือชี้แจงด้วยวาจาก็ได้ ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ลงชื่อรับทราบข้อกล่าวหา

ส่วนที่จำเลยอ้างว่า ประธานอนุกรรมการฯ ลงลายมือชื่อในคำสั่งเรียกพยานไว้ล่วงหน้านั้นเพื่อให้อนุกรรมการฯใช้ดุลพินิจไประบุชื่อพยานในภายหลัง โดยไม่ปรากฏว่ามีการมอบหมายจากคณะอนุกรรมการฯนั้น เห็นว่าอำนาจนั้นเป็นการใช้อำนาจที่จำเป็นต้องทำหนังสือหรือคำสั่ง เพื่อดำเนินการตามแนวทางการไต่สวน จะต้องลงนามโดยประธานอนุกรรมการฯจะต้องลงนามตามระเบียบ ป.ป.ช. ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการไต่สวน พ.ศ.2547 ข้อ 8 วรรคสอง แม้โจทก์จะไม่มีรายงานการประชุมของคณะอนุกรรมการฯที่เป็นพยานเอกสารมาแสดงสนับสนุนแต่ก็ไม่ได้เป็นข้อพิรุธที่บ่งชี้ว่าไม่มีการมอบหมายหรือกำหนดแนวทางการไต่สวนของอนุกรรมการฯ ดังนั้นการไต่สวนของคณะอนุกรรมการฯ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

Advertisement

ส่วนที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า เป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่มิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายกับผู้หนึ่งผู้ใด ตาม มาตรา 157 ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ เห็นว่า หลังจากคณะทำงานด้านการจัดสัมมนาที่มี นายคัมภีร์ จำเลยที่ 2 เป็นหัวหน้าเห็นว่าการจัดโครงการสัมมนาที่จ.น่านในช่วงเวลาเดียวกับการถวายผ้าพระกฐินพระราชทานจะเป็นประโยชน์ตามหลักการทำงานเชิงบูรณาการ แล้วต่อมาจำเลยที่ 2 มีบันทึกจัดโครงการสัมมนาเสนอให้คุณหญิงจารุวรรณ จำเลยที่ 1 พิจารณาอนุมัติ ซึ่งกำหนดสัมมนาดังกล่าวนั้นตรงกับวันถวายผ้าพระกฐิน ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม- 1 พฤศจิกายน 2546 การที่จะเข้าร่วมสัมมนาที่จัดขึ้นในวันเวลาเดียวกัน แต่ต่างสถานที่กันจึงเป็นเรื่องผิดสังเกต และหลังจากที่โครงการสัมมนาได้รับการอนุมัติไม่นานมีรายงานว่ามีจำนวนข้าราชการที่สมัครใจไปร่วมพิธีทอดกฐินซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายเองนั้นมีจำนวนลดลง ทั้งที่การตรวจสอบจำนวนข้าราชการนั้นเสร็จสิ้นไปแล้ว ตั้งแต่สิ้นเดือนกันยายน 2546 โดยเมื่อทราบจำนวนข้าราชการที่สมัครใจไปร่วมพิธีแล้ว จำเลยทั้งสองกับผู้บริหาร สตง.ก็ดำเนินการให้ข้าราชการในโครงการสัมมนาทั้งหมดไปร่วมการถวายผ้าพระกฐินทันทีพร้อมกับปรับเปลี่ยน ลดระยะเวลาสัมมนาโดยไม่ปรากฏว่าเป็นประโยชน์ตามหลักการทำงานเชิงบูรณาการแต่อย่างใด

ส่วนที่จำเลยทั้งสอง อ้างว่าการเปลี่ยนสถานที่จัดสัมมนาจาก โรงแรมซิตี้ ปาร์ค ไปเป็นสโมสรสันติภาพ 2 สืบเนื่องจากการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่การถวายผ้าพระกฐินเกิดความล่าช้า และเป็นการประหยัดการเดินทาง และข้าราชการไม่ต้องกลับโรงแรมก่อน แต่จากการไต่ส่วนกับได้ความจากพนักงานโรงแรม พยานโจทก์ เจ้าหน้าที่ สตง.ยกเลิกการสัมมนาก่อนวันสัมมนาไม่น้อยกว่า 3 วัน โดยโรงแรมยังไม่ได้จัดเตรียมอาหารและเครื่องดื่มจึงไม่ได้คิดค่าใช้จ่ายดังกล่าว เพียงแต่คิดเฉพาะค่าใช้จ่ายในการทำป้าย 300 บาท เท่านั้น แม้จะไม่ได้ความชัดว่า เจ้าหน้าที่ สตง. ที่สั่งยกเลิกเป็นใครแต่ก็ไม่ได้เป็นข้อสำคัญ เพราะเมื่อการเปลี่ยนแปลงสถานที่สัมมนาไม่ได้เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน แต่ได้เตรียมการไว้ก่อน อีกทั้งยังได้ความจากเจ้าหน้าที่ผู้ร่วมสัมมนา 2 คนว่าหลังจากเสร็จพิธีถวายผ้าพระกฐินก็ได้เดินทางกลับโรงแรม จากนั้นจึงไปร่วมงานที่สโมสรสันติภาพ 2 จึงแสดงให้เห็นว่า การเดินทางกลับที่พักไม่ได้ใช้เวลามากทำให้ข้อกล่าวอ้างของจำเลยไม่มีน้ำหนัก

ประกอบกับมี พยานคนกลาง เบิกความว่า การถวายผ้าพระกฐินล่าช้าก็เพราะรอวัฒนธรรมจังหวัด สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดน่าน และหลังพิธีถวายผ้าพระกฐินก็มีการทอดผ้ากฐินสามัคคีซึ่งเป็นเรื่องความสมัครใจและความศรัทธาของข้าราชการ ไม่ได้เป็นเรื่องของทางราชการ แต่กลับมีการเปลี่ยนกำหนดการสัมมนาเพื่อให้การทอดผ้ากฐินสามัคคีเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงเป็นลักษณะการจัดสัมมนาเพื่อสนับสนุนกิจกรรมอื่นให้ดำเนินโดยราบรื่นมากกว่าที่จะมุ่งประโยชน์จากการสัมมนา ตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้

Advertisement

ขณะที่การจัดโต๊ะอาหารเป็นแบบโต๊ะจีนหันหน้าเข้าหากันนั่งแต่ละโต๊ะประมาณ 10คน ส่วนบนเวทีได้ติดป้ายข้อความว่า “ ขอต้อนรับคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา และคณะด้วยความรักยิ่ง 31 ตุลาคม 2546 ”โดยมีการเสิร์ฟอาหารเย็นและเครื่องดื่ม ขณะที่สโมสรสันติภาพ 2 เป็นสถานที่จัดงานนั้นตั้งอยู่ภายในหมู่บ้านเป็นอาคาร 2 ชั้น ชั้นบนสำหรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ชั้นล่างสำหรับข้าราชการทั่วไป ลักษณะดังกล่าวไม่ได้บ่งชี้ว่าเป็นการสัมมนา อีกทั้งระหว่างงานก็มีเสียงดังรบกวน ไม่มีเอกสารประกอบ ไม่มีการถกปัญหาหรือสรุปผลสัมมนา โดยพยานระบุด้วยว่าขณะรับประทานอาหารมีการเสิร์ฟแอลกอฮอล์ด้วย ศาลเห็นว่าการจัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลทำให้การระดมความคิด การแลกเปลี่ยนความรู้ และความคิดเห็นถูกบั่นทอนให้ลดลง อีกทั้งการจัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งเป็นสิ่งมึนเมาให้แก่ข้าราชการถือไม่ได้ว่าเป็นการจัดสัมมนาของส่วนราชการตามความหมายที่เข้าใจทั่วไป และถือไม่ได้เป็นการจัดโครงการสัมมนาตามนิยามของการสัมมนาทางวิชาการหรือเชิงปฏิบัติการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมของส่วนราชการ พ.ศ.2545

เมื่อพฤติการณ์บ่งชี้ตรงกันว่า การจัดและอนุมัติโครงการสัมมนากระทำไปเพื่อให้ข้าราชการ สตง. ไปร่วมการถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน และการทอดผ้ากฐินสามัคคี โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วยตัวเอง แต่เบิกจ่ายงบประมาณ สตง. ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมของส่วนราชการ พ.ศ.2545 โดยไม่มีการสัมมนาที่แท้จริง เป็นการเบิกจ่ายโดยไม่มีสิทธิทำให้ สตง.เสียหาย โดยจำเลยทั้งสองร่วมรู้เห็นตั้งแต่ต้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิด ตาม มาตรา157 ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่จำเลยทั้งสอง อุทธรณ์ว่า ควรลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ เห็นว่าจำเลยทั้งสองรับราชการที่ สตง.มางานจนดำรงตำแหน่งระดับสูง นับว่าได้ทำคุณประโยชน์ให้กับราชการ ประกอบกับจำเลยทั้งสองมีอายุมากประมาณ 70 ปี มีเหตุควรปราณี ที่ศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 2 ปี จึงหนักเกินไป สมควรแก้ไขให้เหมาะสม

ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยทั้งสอง คนละ 1 ปี แต่ที่จำเลยขอให้รอการลงโทษนั้น ศาลเห็นว่า สตง.เป็นส่วนราชการมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของส่วนราชการอื่นให้เป็นไปตามกฎหมายและมติ ครม.การตรวจสอบเพื่อให้เห็นว่ามีการใช้จ่ายเงินตามวัตถุประสงค์ โดยประหยัดและได้ผลตามเป้าหมายและมีผลคุ้มค่าหรือไม่ แต่จำเลยทั้งสองกลับไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินเสียเอง ทำให้ส่วนราชการอื่นและสังคมทั่วไปเคลือบแคลงและขาดความเชื่อมั่นในความสุจริตและระบบการตรวจสอบซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ พฤติการณ์จึงนับว่าร้ายแรง แม้ว่าคุณหญิงจารุวรรณ จะดำรงตำแหน่งในสถาบันต่างๆหลายแห่ง และนายคัมภีร์ จำเลยที่สอง มีอาการเจ็บป่วยแต่ก็ยังไม่เป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักเพียงพอ ที่จะรอการลงโทษให้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์นี้ ยังไม่ถือเป็นที่สุด คู่ความยังสามารถฎีกาได้ภายใน 30 วัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image