พิรุธเพียบ! เอกสารปล่อยกู้สถาบันการเงินชุมชน ต้นเหตุชาวบ้านคันโทถูกหลอก 50 ล้าน

 

วันที่ 2 มีนาคม  จากกรณีชาวบ้านหลายตำบลในเขตอำเภอท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ อ้างว่าถูกสถาบันการเงินชุมชนท่าคันโท หมู่ 9 ตำบลท่าคันโท หลอกให้เซ็นสัญญากู้เงินจากธนาคารออมสินสาขา อ.ท่าคันโท รายละ 200,000 บาท จนมีผู้เสียหายกว่า 300 ราย ใน 4 ตำบล พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือพิสูจน์ความจริงเพราะไม่มีปัญญาชำระหนี้นั้น ล่าสุด เจ้าหน้าที่สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอท่าคันโท และตำรวจ พัฒนาชุมชนอำเภอท่าคันโทยังคงเดินหน้าตรวจสอบการบริหารงานของประธานและคณะกรรมการสถาบันการเงินชุมชนท่าคันโท หมู่ 9 อย่างต่อเนื่อง

หลังจากเมื่อวานนี้ได้เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงกับประธานและคณะกรรมการของสถาบันการเงินชุมชนท่าคันโท หมู่ 9 ไปแล้ว แต่กลับไม่สามารถตรวจสอบเอกสารที่สำคัญได้ โดยเฉพาะบัญชีรายรับ รายจ่าย บันทึกผลการประชุม เอกสารสัญญากู้เงินของสมาชิกที่กู้กับธนาคารออมสิน บัญชีธนาคารเล่มที่ 4 ซึ่งเป็นเล่มที่มีการโอนเงินเข้าจากชาวบ้าน ซึ่งประธานและคณะกรรมการสถาบันฯอ้างว่า ได้ส่งให้กับทนายความเพื่อเตรียมต่อสู้คดี พร้อมทั้งเข้าให้ปากคำถึงแนวทางการดำเนินการของกองทุนหมู่บ้านหรือสถาบันการเงินชุมชนที่แท้จริง และเข้าสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับคดีที่ชาวบ้านแจ้งความกับประธานและกรรมการสถาบันการเงินชุมชนท่าคันโท หมู่ 9 กับตำรวจและพนักงานสอบสวน สภ.ท่าคันโท โดยเจ้าหน้าที่ยังตรวจพบพิรุธเอกสารสัญญากู้เงินของสถาบันฯที่ปล่อยกู้ให้กับสมาชิกและบุคคลทั่วไปอีกด้วย

นายสิทธิศาสตร์ ม่วงศรี ผอ.ฝ่ายกฎหมายและงานทะเบียน สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้น ทำให้สถาบันต่างๆ ได้รับผลกระทบไปด้วยจากการขาดความเชื่อมั่นอย่างรุนแรง ดังนั้นจึงต้องเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยหลังจากเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับประธานและคณะกรรมการสถาบันการเงินชุมชนท่าคันโท หมู่ 9 รวมทั้งหมด 9 คน ซึ่งทางสถาบันฯกลับไม่สามารถนำเอกสารที่สำคัญมาแสดงได้ อ้างว่าเอกสารทั้งหมดอยู่กับทนายความ เพื่อเตรียมต่อสู้คดี

Advertisement

201703021335214-20041021173804

นายสิทธิศาสตร์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบเอกสาร ซึ่งเป็นสัญญาการกู้เงินที่ทางสถาบันการเงินชุมชนท่าคันโท หมู่ 9 ปล่อยกู้ให้กับสมาชิกและบุคคลทั่วไป มีความผิดปกติและพิรุธหลายอย่าง ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การกู้เงิน โดยเฉพาะสภาพของกระดาษที่ทำสัญญาใหม่เกินไป ทั้งๆ ที่บางสัญญากระดาษที่ทำสัญญานั้นทำมาตั้งแต่ปี 2558 ในสัญญามีการปล่อยช่องว่าง บางสัญญามีการลงชื่อผู้กู้เงินและผู้ค้ำ แต่ปล่อยช่องว่างโดยไม่ระบุจำนวนเงินกู้ บางสัญญาสัญญาระบุจำนวนเงินกู้ แต่ปล่อยช่องว่าง โดยไม่ระบุชื่อคนกู้เงิน และที่สำคัญบางสัญญามีการถ่ายเอกสารสำเนา ซึ่งมีการลายเซ็นของพยานที่เป็นกรรมการของสถาบันฯไว้แล้วและคล้ายมีการเซ็นชื่อผู้กู้ใหม่ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบยอดและจำนวนเงินที่ทางสถาบันฯปล่อยกู้ไปเท่าไหร่ และมีใครบ้าง

“อีกทั้งเงินที่นำมาจากชาวบ้านรายละ 190,000 บาทที่ชาวบ้านกู้มาจากธนาคารออมสินรวมแล้วประมาณ 50 ล้านบาท ตามที่ชาวบ้านอ้างนั้นก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเงินก้อนดังกล่าวไปไปอยู่ไหน เพราะทางสถาบันอ้างว่าอยู่กับทนายทั้งหมด แต่ทางเจ้าหน้าที่จะต้องติดตามตรวจสอบจำนวนเงินที่ปล่อยกู้ไปและเอกสารทั้งหมด พร้อมทั้งลงพื้นที่เข้าสอบสมาชิกที่กู้เงินกับธนาคารออมสินแล้วทางสถาบันนำเอาเงินไปปล่อยกู้ทั้งหมด 269 ราย และและประสานยังธนาคารออมสินสาขาอำเภอท่าคันโทว่าจำนวนที่ชาวบ้านกู้ไปทั้งหมดกี่รายและยอดเงินเท่าไหร่” นายสิทธิศาสตร์กล่าว

นายสิทธิศาสตร์กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ เท่าที่ตรวจสอบเบื้องต้นขั้นตอนและวิธีการดำเนินงานของสถาบันการเงินชุมชนท่าคันโท หมู่ 9 กรณีให้ชาวบ้าน ซึ่งเป็นสมาชิกไปกู้เงินจากธนาคารออมสินรายละ 5,000 บาทบ้าง รายละ 150,000 บาทบ้าง และรายละ 200,000 บาทบ้าง แล้วทางสถาบันการเงินชุมชนท่าคันโท หมู่ 9 นำเงินมาปล่อยกู้ให้กับสมาชิกต่ออีกทอด โดยใช้ชื่อสถาบันฯปล่อยกู้และให้ค่าเซ็นสัญญากู้เงินกับชาวบ้านรายละ 10,000 บาทนั้น ถือเป็นเรื่องที่ผิดกฎระเบียบของ พ.ร.บ.กองทุนหมู่บ้านอย่าชัดเจน เพราะกองทุนหมู่บ้านนั้นเดิมทีนั้นรัฐบาลได้การสนับสนุนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนแห่งละ 1 ล้านบาท เพื่อให้ไปบริหารจัดการ และต่อมามีนโยบายให้กองทุนหรือสถาบันการเงินสามารถเพิ่มทุนได้ หรือที่เรียกว่า กทบ.9 โดยการกู้เงินกับธนาคารได้อีกแห่งละ 1 ล้านบาท แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิก คณะกรรมการและทางอำเภอ แต่สำหรับกรณีนี้เป็นการให้ชาวบ้านไปกู้เงินเพื่อมาสมทบทุนกับทางสถาบันฯแล้วปล่อยกู้ต่อ และไม่ทราบว่าได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกหรือทางอำเภอหรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่ผิด และเท่าที่ตรวจสอบเบื้องต้นเป็นการกระทำส่วนบุคคลหรือกระทำแบบส่วนตัวของประธานและคณะกรรมการ ที่ให้ชาวบ้านไปกู้เงินกับธนาคารออมสินแล้วนำเงินมาปล่อยกู้ต่อ โดยสถาบันฯซึ่งเป็นนิติบุคคลเพียงแต่ออกหนังสือและเซ็นรับรองพฤติกรรมและรับรองการเป็นสมาชิกกระดาษ 2 แผ่นเท่านั้น ซึ่งกรณีนี้ทางประธานและคณะกรรมการจะต้องรับผิดชอบ ดังนั้น ทางเจ้าหน้าที่จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมบอร์ดใหญ่ของสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เพื่อพิจารณามีแนวทางการการดำเนินการต่อไป

นอกจากนี้ ความคืบหน้าของคดีล่าสุด พนักงานสอบสวน สภ.ท่าคันโทได้สอบปากคำชาวบ้านที่เข้ามาแจ้งความร้องทุกข์ทั้งหมด 95 รายเสร็จแล้ว แต่ยังเหลือสอบพยานแวดล้อมที่เกี่ยวข้องอีกประมาณ 3-4 ปาก จากนั้นจะเรียกตัวประธานและคณะกรรมการทั้งหมด 9 คนมารับทราบข้อกล่าวหา และสอบปากคำ ซึ่งหายังไม่มาก็จะออกมาเรียก และหายังไม่มาอีกและยังมีพฤติการณ์หลบหนี้ก็จะออกหมายจับต่อไป พร้อมทั้งรวบรวบประสานและส่งเรื่องไปยัง ปปง.เพื่อเข้ามาตรวจสอบเส้นทางการเงินของสถาบันการเงินชุมชนท่าทันโท หมู่ 9 ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image