ราชทัณฑ์โต้องค์กรสิทธิมนุษยชนสากล กล่าวหาคุกไทยด้อยมาตรฐาน ยันรักษามาตรฐานยูเอ็น

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมราชทัณฑ์ออกเอกสารข่าวแถลงข้อเท็จจริงกรณีองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนสากลกล่าวอ้างว่าการจัดการภายในเรือนจำของไทยไม่ได้มาตรฐานสากลโดยเนื้อหาระบุว่า กรมราชทัณฑ์ขอเรียนชี้แจงเกี่ยวกับกรณีที่สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล(FIDH) กล่าวอ้างว่าการบริหารจัดการภายในเรือนจำของไทยไม่ได้มาตรฐานสากล และมีการละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ยังมีปัญหาขาดแคลนผู้คุมและนักโทษล้นคุก ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้ ประเด็นเกี่ยวกับการกล่าวอ้างว่า การจัดการเรือนจำไทยไม่เป็นไปตามาตรฐานสากลนั้น กรมราชทัณฑ์ ได้ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังไทยและต่างชาติ ตามหลักการสากลทุกประการ ทั้งนี้ การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังของกรมราชทัณฑ์ เป็นไปตามข้อกำหนดของมาตรฐานขั้นต่ำในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังแห่งองค์การสหประชาชาติ (The Mandela Rules) ข้อกำหนดกรุงเทพ (The Bangkok Rules)ไม่ว่าจะเป็นด้านความเป็นอยู่ของผู้ต้องขัง การรักษาพยาบาล การให้การศึกษา และฝึกวิชาชีพ เป็นต้น

“ประเด็นกรณีกล่าวหาว่ามีการทรมานและละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนนั้น ตามพ.ร.บ.ราชทัณฑ์และระเบียบที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการเรือนจำ มิได้อนุญาตให้มีการทรมานผู้ต้องขัง โดยการลงโทษผู้ต้องขังจะเป็นการลงโทษทางวินัย ได้แก่ ภาคทัณฑ์, งดการเลื่อนชั้น, ลดชั้น, ตัดการอนุญาตให้ได้รับการเยี่ยมหรือการติดต่อไม่เกินสามเดือน, ลดหรืองดประโยชน์และรางวัล, ขังเดี่ยวไม่เกินหนึ่งเดือน, ตัดจำนวนวันที่ได้รับการลดวันต้องโทษ สำหรับกรณีการใช้เครื่องพันธนาการ กรมราชทัณฑ์จะใช้เครื่องพันธนาการเฉพาะกรณี ในการนำตัวผู้ต้องขังไปศาล และการขนย้ายผู้ต้องขังจากเรือนจำหนึ่งไปยังอีกเรือนจำหนึ่งเท่านั้น โดยเครื่องพันธนาการที่ใช้ คือ กุญแจมือและกุญแจเท้าเท่านั้น โดยที่ขนาดและรูปแบบของกุญแจมือ และกุญแจเท้าเป็นรูปแบบที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและใช้ทั่วไปในประเทศแถบยุโรปและอเมริกา

“กรณีกล่าวหาว่ามีการทุบตีผู้ต้องขังด้วยไม้กระบอง ขอเรียนว่า กระบองเป็นอาวุธของ เจ้าพนักงาน ในการปฏิบัติงาน แต่การใช้กระบองจะสามารถใช้ได้เฉพาะกรณีการระงับเหตุหรือป้องกันตัวเท่านั้น และประเด็นเกี่ยวกับสภาพความแออัดในเรือนจำไทย ขอเรียนว่า มีต้นเหตุจากปัญหายาเสพติดที่แพร่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน จะพบว่ามีผู้ต้องขังคดียาเสพติดถูกคุมขังในเรือนจำประมาณ ร้อยละ 70 ของผู้ต้องขังทั้งหมด แนวทางการแก้ปัญหานี้ รัฐบาลกำหนดให้มีการแก้ไขกฎหมายยาเสพติดโดยให้มีการนำผู้เสพออกไปบำบัดรักษาให้มากขึ้น พร้อมทั้งเปลี่ยนแปลงวิธีการพิจารณาและการกำหนดโทษความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยเฉพาะผู้จำหน่ายรายย่อยให้เหมาะสม คาดว่าเมื่อกฎหมายใหม่ใช้บังคับแล้ว จำนวนผู้ต้องขังน่าจะลดลง”เอกสารข่าวระบุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image