น.1-ผู้ว่ากปภ.-วิศวกรรมสถานฯ-กทม.รุดตรวจอาคารประปาไฟไหม้ ยันไร้เอกสารทุจริต วอดเฉพาะชั้น 4 ไม่ทรุด

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 21 มีนาคม พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผบช.น พร้อมด้วย พ.ต.อ.มานะ เผาะช่วย ผกก.สน.ทุ่งสองห้อง นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร นายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้ว่าการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) นายธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) นายเอนก ศิริพานิชกร กรรมการและประธานสาขาวิศวกรรมโยธา เจ้าหน้าที่วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย เจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร และเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน (พฐ.) เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ภายในอาคารการประปาส่วนภูมิภาค สํานักงานใหญ่ เลขที่ 72 ซอยแจ้งวัฒนะ 1 แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม โดยใช้เวลาในการตรวจสอบนานกว่า 2 ชั่วโมง

พล.ต.ท.ศานิตย์กล่าวว่า จากการตรวจสอบตั้งไว้ 3 ประเด็น คือ เกิดจากความประมาท อุบัติเหตุ และการวางเพลิง ประเด็นการวางเพลิงนั้นมีความเป็นไปได้น้อย แต่ก็ยังไม่ตัดประเด็นดังกล่าวทิ้ง ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่าต้นเพลิงมาจากห้องกองกิจการที่ 3 โดยห้องดังกล่าวนั้นไม่มีเอกสารสำคัญอะไรเป็นเพียงเอกสารรายงานผลการปฏิบัติงานของสำนักงานการประปาเขตที่ 1 และเขตที่ 8 ไม่มีเอกสารที่มีการร้องเรียนการทุจริต อย่างไรก็ตาม ได้สอบปากคำพยานแวดล้อม เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานให้ห้องต้นเพลิงไปแล้ว 10 ปาก โดยทั้ง 10 คน ให้การว่าเมื่อถึงเวลาเลิกงานก็ต่างแยกย้ายกันกลับไม่ได้มีใครอยู่ขณะเกิดเหตุ จากคำให้การทั้ง 10 คน มีความสอดคล้องกัน และคาดว่าการเกิดเพลิงไหม้มาจากการเกิดอุบัติเหตุ

นายเสรีกล่าวว่า บริเวณจุดเกิดเหตุชั้น 4 เป็นชั้นทำงานของฝ่ายเลขาฯรองผู้ว่าการ ซึ่งชั้นนั้นมีห้องสำนักงานผู้ตรวจการอยู่ เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงเอกสารการร้องเรียนที่เกิดขึ้นว่าได้รับความเสียหายหรือไม่ นายเสรีกล่าวว่า เมื่อมีการร้องเรียน ตรวจสอบพบแล้วว่ามีมูลก็จะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ สำนักงานมีระบบในการจัดเก็บข้อมูล ส่วนเรื่องร้องเรียน 30 กว่าเรื่องนั้น ดำเนินการไปได้ เนื่องจากแต่ละเขตที่มีเรื่องร้องเรียนจะมีเอกสารเก็บไว้ที่เขตอยู่แล้ว นอกจากนี้ เอกสารการจัดซื้อจัดจ้างไม่ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะเอกสารจะอยู่ที่เขตที่มีการจัดซื้อจัดจ้าง

นายเสรีกล่าวต่อว่า ส่วนการบริการของการประปาไม่ได้รับผลกระทบเพราะ กปภ.มีสำนักงานอยู่ทั่วประเทศ แต่ละสำนักงานจะมีการดำเนินการให้บริการประชาชนอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การดำเนินการซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหายจะดำเนินการให้เร็วที่สุด โดยจะต้องให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้อนุญาตก่อน จึงจะสามารถเข้าไปซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหายได้ ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายได้ และการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่อยู่อาคารดังกล่าวจะย้ายไปทำงานอาคารใกล้เคียงก่อน

Advertisement

3.
นายธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการตรวจสอบอาคารที่เกิดเพลิงไหม้ทางกายภาพพบลักษณะการเสียรูปทรง เหล็กมีการบิดตัว แต่โครงสร้างเสายังตั้งตรง ส่วนพื้นคอนกรีตบางจุดมีการแอ่นตัว อาคารได้รับความเสียหายเฉพาะบริเวณชั้น 4 อาคารยังมีความแข็งแรงจึงไม่มีการทรุดตัวของอาคารแน่นอน เพราะเพลิงไหม้ไม่ได้เกิดจากชั้นล่างจึงทำให้โอกาสที่อาคารจะถล่มลงมามีน้อยมาก ซึ่งส่วนที่ถูกไฟไหม้เสียหายจะต้องเสริมโครงสร้างเหล่านั้นให้มีกำลัง ทั้งนี้ บริเวณชั้น 1-3 ยังคงสภาพเดิม เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปเก็บสิ่งของออกมาได้ ส่วนพื้นที่บริเวณชั้น 4 จะต้องทำการตรวจสอบโดยการทดสอบกำลังวัสดุ เสริมกำลังและทดสอบการรับน้ำหนักเพื่อให้เกิดความมั่นใจ ซึ่งส่วนที่ได้รับความเสียหายสามารถแก้ไขได้ ซึ่งจะต้องเริ่มทำความสะอาดบริเวณชั้น 4 ก่อน เพื่อตรวจสอบบริเวณพื้นที่ได้รับความเสียหาย ส่วนหลังคาที่เป็นเหล็กได้รับความเสียหายบิดเบี้ยวจะต้องทำการรื้อถอนออก ซึ่งหลังจากการแก้ไขซ่อมแซมเสร็จก็จะสามารถใช้งานได้ตามปกติ

นายจักกพันธุ์กล่าวว่า โดยปกติตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2535 ที่กำหนดให้อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่ที่ชุมนุมคนจำนวนมาก มีการตรวจสอบอาคาร ตรวจสอบระบบป้องกันอัคคีภัยประจำปี โดยวิศวกรผู้ชำนาญการและมีใบประกอบวิชาชีพถูกต้อง และส่งผลการตรวจสอบมายัง กทม.ทุกปี ในส่วนนี้ กทม.จะร่วมกับสำนักงานเขตสุ่มตรวจอาคารอีกครั้ง แต่กรณีอาคาร 4 ชั้นของการประปาส่วนภูมิภาคที่เกิดเหตุเพลิงไหม้นั้น ก่อสร้างตั้งแต่ปี 2525 และเป็นอาคารที่ไม่ได้อยู่ในประเภทอาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่ จึงไม่ต้องส่งผลตรวจสอบประจำปี แต่ กทม.จะมีการสุ่มตรวจ และสามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับการติดตั้งระบบป้องกันเหตุอัคคีภัยได้ ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่าอาคารนี้มีการติดตั้งระบบเตือนภัย สายยางฉีดน้ำสำหรับดับเพลิง และถังดับเพลิง ซึ่งเป็นอุปกรณ์พื้นที่ที่แต่ละอาคารควรมีไว้เพื่อระงับเหตุฉุกเฉินในเบื้องต้น

สำหรับจำนวนอาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 3,000 อาคาร ในส่วนนี้เป็นอาคารเก่าที่ก่อสร้างก่อน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ปี2535 จำนวนกว่า 1,200 อาคาร
3

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image