พลิกรธน.60″อุทธรณ์คดีอาญานักการเมือง”กับดาบใหม่ป.ป.ช.ฟ้องศาลฎีกา ฟันผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง

รัฐธรรมนูญปี 2560 มีความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และองค์กรอัยการที่น่าสนใจติดตามหลายๆเรื่อง บางเรื่องเป็นการเปลี่ยนแปลงการจัดองค์กรและอำนาจหน้าที่ของหน่วยงาน บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญและคู่ความในคดี และหมวด 10 ศาล ตามรัฐธรรมนูญใหม่จะเป็นบทบัญญัติที่กล่าวถึงเฉพาะศาลยุติธรรม ศาลปกครองและศาลทหารเท่านั้น ไม่รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญด้วย เนื่องจากบทบัญญัติว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญจะแยกต่างหากไว้อยู่ในหมวด 11

ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ให้สัมภาษณ์“มติชน”เกี่ยวกับบทบัญญัติเรื่องเงินเดือนศาลยุติธรรมและศาลปกครอง ตลอดจนการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 193 วรรคสอง บัญญัติให้ศาลยุติธรรมและศาลปกครองมีระบบเงินเดือนและค่าตอบแทนเป็นการเฉพาะตามความเหมาะสมตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่สร้างความชัดเจนในเรื่องระบบเงินเดือนและค่าตอบแทนของผู้พิพากษาศาลยุติธรรมและตุลาการศาลปกครองให้มีลักษณะเฉพาะมากขึ้นกว่าที่รัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 202 วรรค 1 บัญญัติไว้ว่า “เงินเดือน เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้พิพากษาและตุลาการ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ ทั้งนี้ จะนำระบบบัญชีเงินเดือนหรือเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนมาใช้บังคับมิได้”

นอกจากนี้ บทบัญญัติตามมาตรา 202 วรรค 2 ที่ให้นำเอาบทบัญญัติเรื่องเงินเดือนและเงินอื่น ๆ ของผู้พิพากษาและตุลาการมาใช้บังคับกับกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ด้วยโดยอนุโลม ไม่ได้ถูกนำมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ด้วย

ดร.ธนกฤต กล่าวต่อว่า ในส่วนของการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 278 วรรค 3 สามารถกระทำได้ภายใต้หลักเกณฑ์ว่าต้องมีพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งอาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ โดยยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ทั้งนี้หลักเกณฑ์การยื่นอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ให้เป็นไปตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกากำหนด แต่ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 195 วรรค 4 บัญญัติให้สามารถอุทธรณ์ คำพิพากษาของศาลต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้โดยไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่าต้องมีพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งอาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญไว้ด้วย นอกจากนี้ ตามมาตรา 195 วรรค 7 หลักเกณฑ์และวิธีการอุทธรณ์ไม่ได้เป็นไปตามระเบียบที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกากำหนด แต่ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว อยู่ระหว่างจัดทำร่าง ต้องให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญปี2560ประกาศใช้ ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 267

Advertisement

ดร.ธนกฤต กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้พบว่า ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 219 ประกอบบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ มาตรา 276 ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ร่วมกับกับองค์กรอิสระในการกำหนดให้มีมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นใช้บังคับกับผู้ดำรงตำแหน่งตามที่กำหนดไว้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 และหากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตรวจสอบพบว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามที่กฎหมายกำหนด ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอเรื่องให้ศาลฎีกาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 235 วรรค 1 (1) ให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ฟ้องคดีต่อศาลฎีกาได้โดยตรง โดยไม่ต้องส่งสำนวนการไต่สวนไปยังอัยการสูงสุด และเป็นการให้อำนาจศาลฎีกาในการวินิจฉัยเรื่องการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงเข้ามาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่ได้กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่เฉพาะของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แตกต่างจากกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนและมีมติว่า บุคคลที่ถูกกล่าวหาดังกล่าวข้างต้นมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย จะต้องส่งสำนวนการไต่สวนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือดำเนินการอื่นตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตกำหนด ตามที่รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 235 วรรค 1 (2) บัญญัติไว้

“นอกจากนี้ ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ฟ้องต่อศาลฎีกาว่า ผู้ถูกกล่าวหาฝ่าฝืนหรือ ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง หากศาลฎีกาประทับรับฟ้อง ให้ผู้ถูกกล่าวหาหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา เว้นแต่ศาลฎีกาจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น และหากศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า ผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์หรือกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ผู้ต้องคำพิพากษาต้องพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น และให้อำนาจศาลที่จะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดไม่เกิน 10 ปี ด้วยหรือไม่ก็ได้ และผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสมัครรับเลือกเป็น ส.ส. ส.ว. สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ ด้วย ซึ่งนับว่าเป็นบทลงโทษด้านมาตรฐานทางจริยธรรมที่รุนแรงมากเช่นเดียวกับกรณีถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย จะแตกต่างกันที่การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ไม่มีบทลงโทษให้ริบทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเท่านั้น”ดร.ธนกฤตระบุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image