“วิญญัติ”หนุนห้ามจัดผู้ต้องหาเเถลงข่าว ชี้ละเมิดสิทธิ-ขัดระเบียบ ตร. แนะสิทธิผู้ต้องหา5ข้อ

แฟ้มภาพ

เมื่อเวลา17.00น.วันที่ 23 มิถุนายน นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน และเลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) ปัจจุบันเป็นทนายความรับผิดชอบคดีดังอย่างคดีชุมนุมทางการเมือง กล่าวถึงกรณีพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. มีหนังสือคำสั่งแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ปฏิบัติโดยเคร่งครัดเรื่องการห้ามจัดผู้ต้องหามาแถลงข่าวหรือให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนทุกกรณี รวมทั้งการห้ามบันทึกภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เจ้าหน้าที่ขณะอยู่ร่วมกับผู้ต้องหา และห้ามเจ้าหน้าที่แสดงกิริยาที่อาจทำให้บุคคลอื่นเข้าใจว่ามีความใกล้ชิดสนิทสนมกับผู้ต้องหาเป็นการส่วนตัวว่า เรื่องนี้เคยเรียกร้องและท้วงติงมาตลอดว่าไม่เหมาะสม เนื่องจากเป็นละเมิดสิทธิมนุษยชนและขัดต่อระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) ที่เคยวางข้อปฏิบัติไว้ดีแล้วเมื่อหลายปีก่อน แต่ระยะหลังกลับมีนายตำรวจหรือผู้ปฏิบัติฝ่าฝืนหรือไม่นำพาเสียเอง

นายวิญญัติ กล่าวต่อว่า เมื่อ ผบ.ตร. ออกคำสั่งกำชับก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องทำให้ได้จริง หากมีการฝ่าฝืนต้องผิดวินัยให้เป็นกรณีตัวอย่าง เพราะประชาชนถูกกระทำเช่นนี้มานาน การที่ตำรวจนำผู้ต้องหาแถลงข่าว นอกจากจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังอาจเข้าข่ายละเมิดสิทธิผู้ต้องหาด้วย การนำตัวผู้ต้องหามาแถลงข่าว จะถ่ายทอดสดหรือทำข่าวเผยแพร่ทางใดๆก็ตาม ถือว่าเข้าข่ายเป็นการละเมิดสิทธิผู้ต้องหา เพราะบุคคลย่อมมีสิทธิเป็นส่วนตัว มีเกียรติยศ ชื่อเสียงและครอบครัว บุคคลอื่นจะละเมิดไม่ได้ ทั้งนี้ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง , รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย , ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ข้อสั่งการนี้จึงไม่ใช่เรื่องใหม่และควรจะให้ความคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญาไว้จริงจัง กฎหมายไทยเป็นระบบกล่าวหาก็จริง แต่ใช่ว่าจะละเมิดอย่างไรก็ได้ ตราบใดที่ศาลยังไม่ตัดสินถึงที่สุด ผู้ที่ถูกกล่าวหาในคดีอาญา ถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์ การแถลงข่าวในรูปแบบนี้ อาจถูกมองว่าไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่เพื่อผลงานของตำรวจเอง เปรียบได้กับการชี้นำให้สังคมตัดสินเขาแล้ว ปัญหานี้ไม่ตำหนิสื่อมวลชน เพราะหากไม่มีการอำนวยการหรือจัดให้มีการแถลงข่าวของทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สื่อมวลชนคงจะไม่ทำข่าวนั้นๆ และมาซักถาม ถ่ายภาพ บันทึกคลิปออกเผยแพร่เสียเองได้ แน่นอนว่ากระทบต่อกระบวนการสอบสวนและส่งผลต่อการพิจารณาคดีในอนาคตได้เช่นกัน

ทั้งนี้ นายวิญญัติ ยังกล่าวถึงข้อแนะนำแก่ผู้ต้องหาทุกคดีด้วยว่า 1.ผู้ต้องหาในคดีอาญามีสิทธิ์ที่จะให้การหรือไม่ให้การใดๆก็ได้ ปฏิเสธที่จะไม่ร่วมแถลงข่าว และแจ้งว่าไม่ต้องการทำแผนประกอบคำรับสารภาพได้ 2.ผู้ต้องหาในคดีอาญาให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน ก็มีสิทธิ์ที่จะไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพหรือมีสิทธิ์ที่จะไม่ไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ 3.ผู้ต้องหาและพนักงานสอบสวน รวมถึงตำรวจ ควรหลีกเลี่ยงการให้สัมภาษณ์ใดๆ ในลักษณะเป็นการตอบโต้ ระหว่างพนักงานสอบสวนกับผู้ต้องหาหรือบุคคลใดๆกับผู้ต้องหา หรือเปิดโอกาสให้มีสื่อมวลชนเป็นผู้สัมภาษณ์หรือซักถาม เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อรูปคดี 4.ผู้ต้องหาต้องไม่ยอมรับ หรือหลงเชื่อการให้คำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง ทรมาน ใช้กำลังบังคับ หรือกระทำโดยมิชอบประการใดๆ เพื่อจูงใจให้เขาให้การอย่างใดๆ ในเรื่องที่ต้องหานั้น จากบุคคลใดๆ รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ และ5. ผู้ต้องหาต้องยืนยันความบริสุทธิ์ของตนอย่างหนักแน่น และหากมีทนายความที่ไม่ให้ความรู้ ความเข้าใจ ในการให้คำปรึกษา ให้เชื่อมั่นในตนเองไว้ก่อน เพื่อรอให้มีทนายความที่ให้คำปรึกษาได้อย่างมั่นใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image