“ศานิตย์”ฉุนทนายอม5ล้าน”ด.ญ.”เหยื่อรถชนพิการ บอก”น่าตกนรก7ขุม”ชงสภาทนายถอนตั๋ว

จากกรณีมีการนำเสนอข่าวระบุว่า น.ส.พรทิพย์ จันทรัตน์ อายุ 44 ปี เข็นรถวีลแชร์ที่มีลูกสาวชื่อบีม นั่งมา ตระเวนขายของตามศาลาวัด ที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์ ต.บางตลาด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เพื่อหาเงินเลี้ยงตัวเองและบุตรสาวในแต่ละวัน หลังประสบอุบัติเหตุรถปิกอัพชนกับรถพ่วง18ล้อ เหตุเกิดที่อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี เป็นเหตุให้นายอรุณรัตน์ แก้วผ่อง สามีน.ส.พรทิพย์ เสียชีวิต ส่วนน.ส.พรทิพย์ ได้รับบาดเจ็บสาหัส ส่วนน้องบีม กระดูกทับไขสันหลังกลายเป็นคนพิการต้องนั่งวีลแชร์ ต่อมาได้รับการช่วยเหลือจากนายเอก (นามสมมุติ) ทนายความช่วยดำเนินการทางคดี โดยบริษัทรถพ่วงคู่กรณีจ่ายเงินเยียวยาจำนวน5ล้านบาท แต่นายเอก กลับจ่ายให้กับน.ส.พรทิพย์ เดือนละ40,000 หมื่นบาท เป็นเวลา 7 เดือน ก่อนหนีไปและติดต่อไม่ได้

ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผบช.น. เปิดเผยว่า เหตุเกิดตั้งแต่ปี 2549มีขบวนการของคนที่ใช้ความรู้ด้านกฎหมายหลอกน้องเขา ในส่วนของน้องผู้เสียหายเพิ่งมารู้ว่าถูกหลอก ทุนทรัพย์ที่จะต้องได้รับเบื้องต้นประมาณ 4 ล้านบาท แต่กลับได้ไม่ครบจำนวน จนกระทั่งผู้เสียหายเข้าแจ้งความที่สน.บางยี่ขัน ฐานฉ้อโกงและปลอมแปลงเอกสาร แต่ปรากฏว่าความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารไปเสนอต่อศาลเพื่อขออนุมัติออกหมายจับแล้ว โดยศาลไม่สามารถพิจารณาออกหมายจับให้ได้ เพราะมองว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปลอมแปลงเอกสารของบริษัทที่ชดใช้ค่าเสียหายให้ เป็นเรื่องที่อุปโลกน์กันเอง เหมือนการแอบอ้างแล้วเซ็นชื่อมาเป็นเรื่องส่วนตัวไม่เกี่ยวข้องกับนิติบุคคล

พล.ต.ท.ศานิตย์ กล่าวต่อว่า คดีที่ต้องมาพิจารณานั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับการฉ้อโกง เพราะทุกพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการหลอกลวงผู้อื่นโดยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงอันควรบอกให้แจ้งโดยการหลอกลวงได้ไปซึ่งทรัพย์ ไม่รู้ว่าผู้กระทำการดังกล่าวไปเกลี้ยกล่อมผู้เสียหายอย่างไร ทางพนักงานสอบสวนสน.บางยี่ขัน ให้ข้อมูลว่าความผิดลักษณะดังกล่าวสามารถยอมความได้ เป็นความผิดต่อส่วนตัว ถ้าถอนแจ้งความเมื่อไหร่คดีจบทันที สุดท้ายผู้เสียหายกลับไปหลงเชื่อก็ถอนแจ้งความ สิทธิทางคดีอาญาฟ้องระงับ ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาอยู่ว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ตนสั่งการกำชับให้ทางบก.น.7 แล้วว่าจะช่วยเหลือเยียวยาน้องผู้เสียหายได้มากแค่ไหน กรณีของการปกครองอยากทราบว่าผู้มีวิชาชีพทนายความมีพฤติการณ์ลักษณะแบบนี้จะต้องสอบสวนด้านจริยธรรมจรรยาบรรณด้วยหรือไม่ เพราะเอาความรู้ทางด้านกฎหมายเพื่อเอาประโยชน์ของตนเองและเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น แทนที่จะได้เงิน 4 ล้านบาท แต่ได้เงินเพียง 2 แสนกว่าบาท ตอนหลังให้เขาไปถอนแจ้งความ ถือเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ เพราะเกิดขึ้นกับสังคมไทยอยู่บ่อยครั้ง หลายๆเรื่องพี่น้องประชาชนอาจจะเข้าใจหรือไม่ทราบสิ่งที่เกิดขึ้น กลับถูกพวกมิจฉาชีพหลอก ทำให้เกิดความเสียหาย

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีดังกล่าวผู้เสียหายสามารถเข้าแจ้งความใหม่ได้หรือไม่ พล.ต.ท.ศานิตย์ กล่าวว่า กรณีการแจ้งความใหม่จะทำไม่ได้ เพราะกรณีดังกล่าวมีการแจ้งความไปและถอนแจ้งความไปแล้ว นอกจากต้องเกิดข้อเท็จจริงใหม่ แต่หากเป็นข้อเท็จจริงในเรื่องเดิมจะไม่สามารถแจ้งความใหม่ได้ เพราะถอนคำร้องทุกข์ไปแล้ว อย่างไรก็ตามสั่งการให้ พ.ต.อ. อรรถวุฒิ นิวาตโสภณ ผกก.สน.บางยี่ขัน พยายามตรวจสอบข้อเท็จจริง หากมีข้อมูลกระทำความผิดในกรรมอื่นๆหรือฐานอื่นๆ ต่างกรรมต่างวาระต้องมาดำเนินการกับบุคคลที่ทำให้น้องผู้พิการเสียหาย ถือเป็นเรื่องน่าเห็นใจ เพราะขณะที่เกิดเหตุผู้เสียหายอายุเพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น เรื่องผ่านมา 11 ปี เสียคุณพ่อไป แทนที่จะได้ค่าชดเชยค่าเสียหาย พวกอาสาสมัครแบบนี้น่าตกนรก 7 ขุม ส่วนสำนวนการสอบสวนนั้น พนักงานสอบสวนสน.บางยี่ขัน ส่งสำนวนไปยังชั้นอัยการแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่เกี่ยวข้อง อำนาจพนักงานสอบสวนหมดสิ้นไปนับตั้งแต่ส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการ เว้นแต่พนักงานอัยการจะใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 143 ให้พนักงานสอบสวนสอบเพิ่มเติมเรียกพยานมาซักถาม หรือมีหลักฐานใหม่ ถือเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นให้ชัดเจนอีกครั้ง ทั้งนี้ ได้สอบถามพนักงานสอบสวนไปแล้วให้ชัดเจนหรือไม่ ทางพนักงานสอบสวนบอกว่าผู้เสียหายยืนยันมา คนที่มีพฤติการณ์ต้มตุ๋นหลอกลวงจะมีวิธีการพูดจาหว่านล้อมเหยื่อ พอเซ็นถอนไปสิทธินำคดีอาญามาฟ้องหมดสิ้นไป

Advertisement

“กรณีดังกล่าวผมต้องขอเวลาศึกษาข้อมูลโดยละเอียดก่อน เบื้องต้นข้อมูลคร่าวๆ ลักษณะแบบนี้ ต้องทำการตรวจสอบว่า ถ้ากรรมเดิมหรือข้อเท็จจริงเดิมและมีการถอนแจ้งความไปแล้วจะไม่สามารถแจ้งความใหม่ได้ แต่อาจมีกรณีอื่นๆไปหลอกลวงผู้อื่นอีกหลายครั้ง ต่างกรรมต่างวาระ เราสามารถจะหยิบยกมาได้ แต่ถ้ามีเพียงแค่วาระเดียวหรือกรรมเดียวก็เป็นเรื่องยาก แต่กรณีดังกล่าวต้องยื่นเรื่องให้สภาทนายความยื่นเรื่องร้องเรียนเรื่องจรรยาบรรณได้หรือไม่ เพื่อถอดถอนใบอนุญาตในฐานะที่เอาความรู้ที่มีอยู่ไปต้มตุ๋นหลอกลวง หลายๆ คนไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย ถึงแม้ว่าทุกคนต้องรู้กฎหมาย แต่ตามข้อเท็จจริงไม่สามารถรู้ข้อกฎหมายได้ทุกคน ผู้มีอาชีพเหล่านี้ต้องใช้วิชาความรู้ของตนเองไปในทางที่สุจริต แต่ลักษณะดังกล่าวเป็นการใช้วิชาความรู้โดยไม่สุจริต ทางตำรวจจะประสานกับทางสภาทนายความว่า จะมีการดำเนินการตรวจสอบคนที่เอาอาชีพมาหากินกับคนพิการ ถือเป็นกรณีที่น่าเสียใจ กรณีของทนายความทำผิดจรรณยาบรรณของทนายความจะมีมาตรการทางปกครองอย่างไร ต้องมีการดำเนินการประสานงานปฏิบัติร่วมกัน ยกตัวอย่างการถอนการอนุญาตการว่าความตลอดชีพเพื่อไม่ให้มีการกระทำความผิดต่อไป” พล.ต.ท.ศานิตย์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image