‘ยิ่งลักษณ์’ร้องศาลฎีกาฯนักการเมืองคดีจำนำข้าว ส่งศาลรธน.ตีความกฎหมาย

แฟ้มภาพ

เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 7 กรกฎาคม ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถนนแจ้งวัฒนะ นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดีจำนำข้าว คดีหมายเลขดำ อม.22/2558 พร้อมองค์คณะรวม 9 คน ไต่สวนพยานจำเลยนัดที่ 14 ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อายุ 50 ปี อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท

โดยวันนี้ทีมทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์นำพยานเข้าไต่สวนทั้งสิ้น 4 ปาก คือ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายสุรชัย ศรีสารคาม อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก และ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

ทั้งนี้ภายหลังไต่สวนพยานจำเลยทั้ง 4 ปากเสร็จสิ้น ทนายความจำเลยแถลงไม่ประสงค์จะนำ พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รอง ผบ.ตร. และข้าราชการในสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.) พยานอีกปากไต่สวนอีก ศาลจึงนัดไต่สวนพยานจำเลยกลุ่มสุดท้ายอีก 8 ปาก ประกอบด้วยพยานซึ่งเป็นอดีตข้าราชการและนักวิชาการในวันที่ 21 กรกฎาคม เวลา 09.30 น.

อย่างไรก็ดี ในวันนี้ฝ่ายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอศาลฎีกาฯส่งประเด็นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าบทบัญญัติมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 เกี่ยวกับการยึดสำนวน ป.ป.ช.เป็นหลักในการพิจารณาว่าจะขัดหรือไม่ขัดกับบทบัญญัติ มาตรา 235 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เนื่องจากรัฐธรรมนูญใหม่ระบุตอนท้ายด้วยว่า การพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ให้นําสํานวนการไต่สวนของ ป.ป.ช.เป็นหลักในการพิจารณา และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมให้ศาลมีอํานาจไต่สวนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ แต่ในมาตรา 5 พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ระบุว่า การพิจารณาคดีให้ศาลยึดรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นหลักในการพิจารณา และอาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร โดยองค์คณะได้รับคำร้องของจำเลยไว้พิจารณาเพื่อมีคำสั่งอีกครั้งในวันที่ 21 กรกฎาคม ว่าจะให้ส่งหรือไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่ต่อไป

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image