“ก.บังคับคดี”แจงกม.ใหม่”ของใช้เครื่องนุ่งห่มส่วนตัว-เงินเดือนไม่เกิน2หมื่น-เงินฌาปนกิจ” ห้ามยึด

น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 18 กรกฎาคม ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่น แจ้งวัฒนะ น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี แถลงชี้แจง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2560 ได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม มีผลใช้บังคับเมื่อพ้น 60 วัน หรือประมาณวันที่ 4 กันยายนนี้ว่า กฎหมายฉบับนี้นับเป็นการปฏิรูปการบังคับคดีทั้งระบบ เพื่อลดขั้นตอนการดำเนินการบังคับคดี และลดการประวิงคดี รวมถึงเพื่อให้การบังคับคดีมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมีสาระสำคัญ คือ 1.กำหนดวิธีการยึดทรัพย์สินประเภทต่างๆ ให้มีความชัดเจนและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น 2.เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจออกคำสั่งอายัดได้เองและอายัดสิทธิเรียกร้องได้ทั่วประเทศ 3.ยกเลิกขั้นตอนการรายงานศาลขออนุญาตขายทอดตลาด 4.การขายทอดตลาดสามารถดำเนินการในวันหยุดหรือนอกเวลาทำการปกติได้โดยไม่ต้องขออนุญาตศาล 5.การยื่นคำร้องขอให้กำหนดหรือคัดค้านวิธีการขาย ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีต้องยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายใน 3 วัน 6.ยกเลิกการคัดค้านราคาเสนอสูงสุดในการขายทอดตลาดและผูกพันราคา และ 7.ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีมีสิทธิเข้าสู้ราคาเองในการขายทอดตลาดเพื่อให้ได้ราคาที่ตนต้องการ หรือหาบุคคลอื่นมาสู้ราคา

น.ส.รื่นวดีกล่าวต่อว่า ส่วนทรัพย์สินที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี หรือยึดไม่ได้ ตามมาตรา 301 และมาตรา 302 โดยมาตรา 301 เป็นเรื่องของทรัพย์สิน เช่น เครื่องนุ่งห่มหลับนอน เครื่องใช้ในครัวเรือน และเครื่องใช้สอยส่วนตัว ในส่วนที่ราคาประเมินไม่เกิน 20,000 บาท และยังรวมไปถึงสัตว์ สิ่งของ เครื่องใช้ ในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ ในส่วนที่ราคาประเมินไม่เกิน 1 แสนบาท และที่ดินที่ยังอยู่ภายในระยะเวลาห้ามโอน ส่วนมาตรา 302 เป็นเรื่องของเงิน ซึ่งไม่เป็นเงินหรือสิทธิเรียกร้องที่ไม่อยู่ในความรับผิดชอบแห่งการบังคับคดี โดยในส่วนที่อายัดไม่ได้ คือ 1.เบี้ยเลี้ยงชีพตามที่มีกฎหมายกำหนดทั้งจำนวน 2.เงินเดือนของข้าราชการ เจ้าหน้าที่ หรือลูกจ้างในหน่วยงานราชการทั้งจำนวน 3.เงินเดือนของบุคคลซึ่งไม่ใช่ข้าราชการหรือลูกจ้างในหน่วยงานราชการ ในส่วนที่ไม่เกินเดือนละ 20,000 บาท

อธิบดีกรมบังคับคดีกล่าวอีกว่า 4.เงินรายได้ที่บุคคลภายนอกยกให้เป็นคราวๆ เพื่อเลี้ยงชีพในส่วนที่ไม่เกินเดือนละ 20,000 บาท 5.บำเหน็จหรือค่าชดเชยหรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของบุคคลซึ่งไม่ใช่ข้าราชการหรือลูกจ้างในหน่วยงานราชการหรือลูกจ้างในหน่วยงานราชการ ในส่วนที่ไม่เกิน 30,000 บาท และ 6.เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้รับอันเนื่องจากความตายของบุคคลอื่นตามจำนวนที่จำเป็นในการดำเนินการฌาปนกิจศพตามฐานะของผู้ตาย นอกจากนี้ในมาตรา 331 เป็นเรื่องการขายทอดตลาด ยังได้เพิ่มช่องทางการขายโดยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การประมูลผ่านระบบอินเตอร์เน็ตทางโทรศัพท์มือถือ การขายทอดตลาดในวันหยุดงานหรือนอกเวลาทำการปกติก็ได้ และขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดได้เมื่อพ้น 60 วันหลังจากยึด โดยไม่ต้องรายงานศาลขออนุญาตขาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image