ลุ้นที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาตั้งองค์คณะ9คนพิจารณา อุทธรณ์เอาผิด”พล.ต.ท.สุชาติ”คดีสลายม็อบพันธมิตร

พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผบช.น.

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)เดินทางมายื่นคำอุทธรณ์ใน คดีหมายเลขดำ อม.2/2558 ที่ศาลฎีกาฯพิพากษาเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ให้ยกฟ้อง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และพล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. จำเลยที่ 1-4 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีขอคืนพื้นที่การชุมนุมจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ปิดล้อมทางเข้ารัฐสภา ปี2551 โดยอุทธรณ์ของ ป.ป.ช.ได้ยื่นเฉพาะจำเลยที่ 4 พล.ต.ท.สุชาติ ซึ่งป.ป.ช.ได้นำแนวทางคำวินิจฉัยเสียงข้างน้อยของผู้พิพากษาในองค์คณะ3คน ที่เห็นว่า พล.ต.ท.สุชาติ เป็นผู้ปฏิบัติการโดยตรงที่รับนโยบายมาดำเนินการได้กระทำเกินกว่าเหตุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขั้นตอนหลังจากนี้แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฯจะรวบรวมคำอุทธรณ์และเอกสารของฝ่าย ป.ป.ช.โจทก์ โดยมีองค์คณะในแผนกคดีอาญาฯ3คนรับผิดชอบดูแลในเบื้องต้น จะต้องแจ้งให้จำเลยทราบเพื่อให้ทำคำแก้อุทธรณ์โจทก์แล้วยื่นกลับมายังแผนกคดีอาญาฯภายใน 15วันตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์การอุทธรณ์คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ พ.ศ.2551 ข้อ 7 แล้วเมื่อจำเลยส่งคำแก้อุทธรณ์มาครบถ้วน ก็จะรวบรวมถ้อยคำอุทธรณ์ของ ป.ป.ช. คำแก้อุทธรณ์ของจำเลย และสำนวนพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อให้พิจารณาคำอุทธรณ์ตามบทบัญญัติใหม่ของรัฐธรรมนูญฯ ปี2560 มาตรา 195 วรรคสี่

โดยบทบัญญัติดังกล่าวระบุว่า คําพิพากษาของศาลฎีกาฯ ให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายใน30วันนับแต่วันที่ ศาลฎีกาฯ มีคําพิพากษา โดยการวินิจฉัยอุทธรณ์ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ให้ดําเนินการโดยองค์คณะของศาลฎีกา ประกอบด้วย ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดํารงตําแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา หรือผู้พิพากษาอาวุโสซึ่งเคยดํารงตําแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ที่ไม่เคยพิจารณาคดีนั้นมาก่อน และได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจํานวน 9 คน โดยให้เลือกเป็นรายคดี และเมื่อองค์คณะของศาลฎีกาดังกล่าวได้วินิจฉัยแล้ว ให้ถือว่าคําวินิจฉัยนั้นเป็นคําวินิจฉัยอุทธรณ์ของ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาขณะที่หลักเกณฑ์และวิธีการอุทธรณ์ และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ ให้เป็นไปตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่ง ทางการเมือง

ทั้งนี้สำหรับการประชุมใหญ่ศาลฎีกาตอนนี้ได้มีการกำหนดประชุมปกติไว้เดิมอยู่แล้วในวันที่ 14 กันยายน จะต้องรอดูว่าคู่ความจะส่งเอกสารเกี่ยวกับการอุทธรณ์คดีได้ครบถ้วนสมบูรณ์ทั้ง2ฝ่ายทันกำหนดนัดประชุมดังกล่าวหรือไม่ หากทันจะนำวาระการยื่นอุทธรณ์ของ ป.ป.ช.เสนอต่อที่ประชุมใหญ่พิจารณาตามขั้นตอนกฏหมาย พร้อมทั้งเลือกผู้พิพากษา9คนตามหลักเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้มาเป็นตัวแทนที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาวินิจฉัยคำอุทธรณ์ ซึ่งที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาในปัจจุบันนี้มีจำนวนผู้พิพากษาศาลฎีกาและผู้พิพากษาอาวุโสของศาลฎีการวมทั้งสิ้น166คน อย่างไรก็ดีหากการรวบรวมเอกสารอุทธรณ์ไม่ทันกำหนดประชุมใหญ่ศาลฎีกาในวันที่ 14 กันยายน ก็มีการเสนอกำหนดวันประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อพิจารณาอุทธรณ์คดีนี้ต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image