“อัยการ”เปิดกฎหมาย”ยิ่งลักษณ์”ยื่นอุทธรณ์ได้ไม่ต้องแสดงตน-หนีคดีทุจริตไร้อายุความ

เมื่อวันที่ 28 กันยายน ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงขั้นตอนข้อกฎหมายภายหลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาลงโทษจำคุก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นเวลา 5 ปี ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ว่าในการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาล ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 195 วรรค 7 บัญญัติให้หลักเกณฑ์และวิธีการอุทธรณ์ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฉบับใหม่ ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีการประกาศให้ พ.ร.ป. ฯ ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย ดังนั้น บทบัญญัติตามมาตรา 61 ของ พ.ร.ป. ฯ ฉบับใหม่ ที่กำหนดว่า หากจำเลยซึ่งไม่ได้ถูกคุมขังจะยื่นอุทธรณ์ จำเลยจะต้องมาแสดงตนต่อเจ้าหน้าที่ศาลในขณะยื่นอุทธรณ์ มิฉะนั้นให้ศาลมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ก็จะยังไม่มีผลใช้บังคับ ดังนั้น หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็นจำเลยยื่นอุทธรณ์ในขณะที่ พ.ร.ป. ฯ ฉบับใหม่ยังไม่มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ไม่ต้องมาแสดงตนต่อเจ้าหน้าที่ศาลในขณะยื่นอุทธรณ์ โดยสามารถแต่งตั้งมอบหมายให้บุคคลอื่นยื่นอุทธรณ์ได้โดยที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ต้องมาแสดงตน

ดร.ธนกฤตกล่าวว่า กรณีดังกล่าวนี้จะนำเอาบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ.) มาตรา 198 และ 216 ที่บัญญัติให้จำเลยที่ไม่ได้ถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์หรือฎีกา จะมีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาได้ ต้องมาแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาลในวันยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาด้วย มาบังคับใช้กับคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ไม่น่าจะได้ เพราะเป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิของจำเลยในการโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาล จึงต้องมีบทบัญญัติเรื่องนี้ไว้เป็นการเฉพาะอย่างชัดเจน ไม่ใช่จะนำเอาบทบัญญัติใน ป.วิ.อ. มาใช้บังคับอย่างไรก็ได้ และ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 18 ก็บัญญัติให้นำเอาบทบัญญัติใน ป.วิ.อ. มาบังคับใช้โดยอนุโลม โดยต้องไม่ขัดหรือแย้งกับ พ.ร.ป. ฯ พ.ศ. 2542 ด้วย และประการสำคัญรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 195 วรรค 7 บัญญัติหลักเกณฑ์และวิธีการอุทธรณ์ไว้เป็นการเฉพาะให้เป็นไปตาม พ.ร.ป. ฯ ฉบับใหม่ ไม่ได้ให้เป็นไปตาม ป.วิ.อ. ดังนั้น เมื่อ พ.ร.ป. ฯ ฉบับใหม่ยังไม่มีผลบังคับใช้ จำเลยก็ย่อมต้องมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลได้โดยที่ไม่ต้องมาแสดงตนต่อเจ้าหน้าที่ศาลในขณะยื่นอุทธรณ์

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 195 วรรค 4 จะบัญญัติให้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา แต่การที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลได้นั้นฝ่ายจำเลยมีความจำเป็นที่จะต้องขอคัดคำพิพากษาของศาลหรือคำวินิจฉัยกลางและความเห็นในการวินิจฉัยคดีของผู้พิพากษาในองค์คณะผู้พิพากษาทุกคนทั้ง 9 ท่าน หรือคำวินิจฉัยส่วนตน มาศึกษาเพื่อประกอบการพิจารณาทำคำอุทธรณ์ และจำเป็นต้องพิจารณาเอกสารจำนวนมาก รวมทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งหากฝ่ายจำเลยไม่สามารถขอคัดคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยส่วนตน หรือไม่สามารถทำคำอุทธรณ์ได้ทันเวลาที่จะทำให้สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายในเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา ก็จะต้องมีการยื่นคำขอขยายระยะเวลาในการอุทธรณ์ออกไป ซึ่งสามารถกระทำได้ตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 18 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 หรือ ตาม พ.ร.ป. ฯ ฉบับใหม่ มาตรา 19 แล้วแต่กรณี ซึ่งปกติแล้วศาลจะอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ไปคราวละไม่เกิน 30 วัน และหากฝ่ายจำเลยยังไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายในกำหนดเวลาอีกก็สามารถขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ต่อศาลได้อีก ซึ่งก็เป็นอำนาจดุลพินิจของศาลที่จะขยายระยะเวลาให้ได้

“ดังนั้น จึงอาจมีได้ทั้งกรณีที่ยังอยู่ภายในช่วงเวลาอุทธรณ์ 30 วันนับแต่วันที่ศาลอ่านคำพิพากษาและจำเลยยังไม่ได้มีการยื่นอุทธรณ์ และกรณีที่จำเลยไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา และต้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไป ซึ่งหากทั้ง 2 ช่วงเวลาดังกล่าว ได้มีการประกาศให้ พ.ร.ป. ฯ ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้ว การยื่นอุทธรณ์ของฝ่ายจำเลยก็จะต้องเป็นไปตาม พ.ร.ป. ฯ ฉบับใหม่ มาตรา 61 ดังที่กล่าวไป ซึ่งก็จะส่งผลให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องมาแสดงตนต่อเจ้าหน้าที่ศาลในขณะยื่นอุทธรณ์ด้วย หากไม่มาแสดงตนในขณะยื่นอุทธรณ์ และยื่นอุทธรณ์ไป ศาลก็ต้องมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ และถือว่าคดีนี้ไม่มีการอุทธรณ์คำพิพากษา และจะเป็นไปตาม พ.ร.ป.ฯ ฉบับใหม่ มาตรา 62 ที่บัญญัติให้คดีที่ไม่มีการอุทธรณ์คำพิพากษาให้เป็นที่สุดตั้งแต่วันที่ศาลได้อ่านคำพิพากษา ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ที่ พ.ร.ป.ฯ ฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้ก่อนที่ฝ่ายจำเลยจะยื่นอุทธรณ์ ซึ่งจะส่งผลต่อการยื่นอุทธรณ์ ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องมาแสดงตนต่อเจ้าหน้าที่ศาลในขณะยื่นอุทธรณ์ด้วย”ดร.ธนกฤตกล่าว

Advertisement

ดร.ธนกฤต ยังอธิบายต่อว่า นอกจากนี้ พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 74/1 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2558 กำหนดไว้ว่า ในการดำเนินคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ข้าราชการการเมือง รวมทั้งบุคคลอื่นที่เป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน ถ้าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลย และจำเลยหลบหนีไปในระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ ไม่ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความล่วงเลยการลงโทษตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 98 มาใช้บังคับ และ พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฉบับใหม่ที่เตรียมจะออกนี้ก็ได้บัญญัติไว้เช่นเดียวกันในมาตรา 25 ไม่ให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 98 ดังกล่าวมาใช้บังคับ ในกรณีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลย และจำเลยหลบหนีไปในระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ โดย ป.อ. มาตรา 98 กำหนดว่า หากศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลยผู้กระทำความผิด แต่จำเลยหลบหนีจนพ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 98 คดีเป็นอันขาดอายุความ จะไม่สามารถลงโทษจำเลยได้อีก เนื่องจากเกินกำหนดเวลาที่เป็นอายุความล่วงเลยการลงโทษ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยผู้กระทำความผิดได้อีกต่อไป เช่น เกินกำหนด 10 ปี สำหรับโทษจำคุกมากกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 7 ปี ให้ถือว่าล่วงเลยการลงโทษ จะลงโทษจำเลยไม่ได้ เป็นต้น

“ดังนั้น พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 74/1 และ พ.ร.ป. ฯ ฉบับใหม่ มาตรา 25 นี้ จึงเป็นการกำหนดหลักการที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงในระหว่างที่จำเลยผู้กระทำความผิดหลบหนี ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ห้ามไม่ให้จำเลยยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้เพื่อไม่ให้ตนต้องถูกลงโทษตามคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุด
ทำให้ไม่ว่าจำเลยจะหลบหนีไปนานเท่าใดก็สามารถลงโทษจำเลยได้ เพราะจะไม่มีการนับอายุความในระหว่างที่จำเลยหลบหนีเพื่อเป็นข้ออ้างให้พ้นกำหนดอายุความล่วงเลยการลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 98 ดังที่กล่าวไป ” อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุดกล่าว และว่า กรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ รวมทั้งกรณีของ น.ส.ธันยพร จันทร์สกุลพร บุตรสาวของนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง ที่หลบหนีในระหว่างที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาให้ลงโทษ หากคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดเมื่อใด ก็จะเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ห้ามไม่ให้นำเรื่องอายุความล่วงเลยการลงโทษมาบังคับใช้ดังที่กล่าวมา โดยถึงแม้ พ.ร.ป. ฯ ฉบับใหม่ มาตรา 25 จะยังไม่มีผลบังคับใช้ ก็สามารถนำเอา พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 74/1 มาบังคับใช้กับกรณีดังกล่าวได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image