เปิดข้อกฎหมาย..ทำไม’เบญจา’ถึงได้ประกัน ทั้งที่ยังไม่เข้าสู่การเซ็นรับรองเพื่อยื่นฎีกา?!

จากกรณีที่ศาลฎีกา มีคำสั่งในวันที่20ตุลาคม อนุญาตให้ประกันตัว นางเบญจา หลุยเจริญ อดีต รมช.คลัง สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีตรองอธิบดีกรมสรรพากร น.ส.จำรัส แหยมสร้อยทอง อดีต ผอ.สำนักกฎหมาย น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ อดีต ผอ.สำนักกฎหมาย นายกริช วิปุลานุสาสน์ ผอ.สำนักกฎหมาย กรมสรรพากร และ น.ส.ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ คนใกล้ชิดเลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภริยานายทักษิณ ชินวัตร เป็นจำเลยที่ 1-5 คนละ 500,000 บาท หลังจากศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น(ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง)ให้จำคุกจำเลยที่1-4คนละ 3 ปี และจำคุกจำเลยที่5เป็นเวลา 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา

แหล่งข่าวผู้พิพากษา อธิบายขั้นตอนการปฏิบัติต่อการพิจารณาปล่อยชั่วคราวจำเลยในคดีต่างๆ ว่า หลักปฏิบัติการพิจารณาปล่อยชั่วคราวจำเลยมีบัญญัติในประมวลวิธีพิจารณาความอาญาอยู่แล้ว เป็นหลักทั่วไปที่ใช้กันทั้งทุกชั้นศาล ตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา โดยคดีถ้ามีการอ่านคำพิพากษาศาลสูงแล้วเมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว หากศาลชั้นต้นเห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราวศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตได้ หรือมิฉะนั้นให้รีบส่งคำร้องพร้อมสำนวนให้ศาลสูงใช้ดุลยพินิจเพื่อสั่งแล้วแต่กรณี (ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 106)

“การพิจารณาศาลสูงใช้หลักเดียวกับที่บัญญัติไว้ในประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ไม่ได้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ โดยเรื่องพิจารณาสั่งประกันเป็นการใช้ดุลยพินิจ (ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108) ที่จะพิจารณาจากพฤติการณ์คดี ความหนักเบาของข้อหาและอัตราโทษที่ลงไว้ ความน่าเชื่อถือในหลักประกัน ความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราวมีเพียงใด โดยมีการกำหนดวงเงินประกันไว้เป็นกรอบด้วย การสั่งประกันต้องคำนึงถึงการจะหลบหนีหรือไม่ยิ่งขึ้น

“โดยการสั่งประกันศาลไม่ได้ดูเรื่องตัวบุคคลว่าเป็นใคร มีชื่อเสียงอย่างไร แต่หลักคือโทษนั้นสูงหรือไม่ พฤติการณ์ส่อจะหลบหนีหรือไม่ ดังนั้นการสั่งประกันโดยส่วนใหญ่ศาลสูงจะเพิ่มวงเงินประกันสูงขึ้นกว่าเดิมและจะมีการกำหนดเงื่อนไขต่างๆเอาไว้เพื่อความรอบคอบ ส่วนเงื่อนไขจะเข้มข้นเพียงใดก็แล้วแต่กรณี ขณะที่เมื่อสั่งประกันแล้วนายประกันถือเป็นส่วนสำคัญที่จะมีภาระในการติดตามส่งตัวจำเลยมาศาลตามนัด หากไม่ปฏิบัติตามสัญญาประกันและจำเลยหนี ศาลมีอำนาจบังคับตามสัญญาประกันด้วย การสั่งปรับนายประกันตามสัญญาประกันที่ทำไว้ได้”แหล่งข่าวกล่าว

Advertisement

แหล่งข่าว กล่าวต่อว่า เมื่อเปรียบเทียบระหว่างศาลฎีกาให้ประกันนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมการบริษัทไร่ส้ม จำกัด คดีร่วมสนับสนุนเจ้าหน้า อสมท. ปฏิบัติหน้าที่มิชอบในการรายงานโฆษณาส่วนเกิน ที่ต้องยื่นคำฎีกาที่มีการรับรองโดยผู้พิพากษาก่อนจึงจะได้พิจารณาสั่งประกัน แต่คดีของนางเบญจา ศาลฎีกาสั่งได้โดยยังไม่มีการยื่นคำฎีกาที่มีผู้พิพากษาเซ็นรับรองนั้น การสั่งประกันถือเป็นดุลยพินิจของศาล โดยแยกจากขั้นตอนการยื่นอุทธรณ์ ฎีกา จริงๆกฎหมายมิได้ล็อกเรื่องนี้ว่าในคดีต้องห้ามฎีกา เมื่อจะสั่งประกันศาลสูงต้องรอจำเลยยื่นอุทธรณ์ ฎีกาเสียก่อน แต่เป็นหนึ่งในแนวทางที่ศาลพิจารณาจากพฤติการณ์หลายประการรวมกันหากคดีนี้โทษสูง หลักสั่งประกันศาลจะพิจารณาถึงความหนักเบาของโทษที่ลงไว้

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า หากเป็นคดีทุจริตที่ลงโทษเกิน10ปี อย่างกรณีคดีนายสรยุทธ ศาลลงโทษหนักเกินกว่า10ปี ในชั้นแรกศาลสูงย่อมต้องพิจารณาหลายประการแล้วยังไม่ให้ประกันกระทั่งจำเลยยื่นฎีกาที่มีการเซ็นรับรอง ส่วนคดีของนางเบญจา ลงโทษ 2-3 ปีเท่านั้น ยังเรียกว่าโทษไม่หนักมาก ดังนั้นศาลสูงจะสั่งประกันได้ถ้าพิจารณาแล้วเห็นสมควร โดยประมวลวิธีพิจารณาความอาญาเรื่องการปล่อยชั่วคราว ไม่ได้กำหนดขนาดว่าหากจำเลยยังไม่ยื่นอุทธรณ์ ฎีกาแล้วศาลสูงสั่งประกันไม่ได้ ส่วนการฎีกาคดีของนางเบญจา จะมีผู้พิพากษาเซ็นรับรองเพื่อจะยื่นฎีกาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายด้วยหรือไม่ เป็นเรื่องที่ว่ากล่าวกันต่อไป แนวทางการสั่งประกันของศาลไม่มีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์อะไรใหม่ แต่ยังเป็นกฎหมายเดิมที่ใช้ทั่วไปกับทุกคน ทุกชั้นศาล โดยศาลเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจโดยรอบคอบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image