‘ศาลปค.’ยกคำขอชาวซอยร่วมฤดี ร้องเอาผิดวินัย’ผอ.เขตปทุมวัน-ผู้ว่าฯกทม.’รื้อตึกสูงล่าช้า ชี้ต้องละเอียด

เมื่อวันที่ 22พฤศจิกายน ที่ศาลปกครอง ถนนเเจ้งวัฒนะ ศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขแดงที่ อ.588/2557 ระหว่าง นายแพทย์สงคราม ทรัพย์เจริญ กับพวกรวม 24คน ยื่นฟ้อง ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน กับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รวม 2 คน ผู้ถูกฟ้องคดี และบริษัท ลาภประทาน จำกัด กับพวก รวม 2คน เป็นผู้ร้องสอดเเละผู้สร้างอาคาร เกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารโรงแรมดิเอทัสและเซอร์วิส อพาร์ทเมนต์ ดิเอทัส เรสซิเดนซ์ ภายในซอยร่วมฤดี ก่อสร้างขัดต่อกฎหมายควบคุมอาคารปี 2522

โดยคดีนี้ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 2ธันวาคม 2557ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1เเละ2 ใช้อำนาจตามมาตรา 40 ,41,42,43 แห่งพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ดำเนินการกับผู้ร้องสอด ทั้งสอง แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด

ต่อมาผู้ฟ้องคดีทั้ง24ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งในชั้นบังคับคดี เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง2มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด โดยปฏิบัติล่าช้าเกินสมควร

ศาลปกครองกลางซึ่งมีอำนาจในชั้นบังคับคดี พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ภายหลังจากที่ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งในชั้นบังคับคดีเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2559ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1เเละ2 ปฏิบัติตามคำพิพากษา ของศาลปกครองสูงสุดให้ครบถ้วน

Advertisement

ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1จึงได้มีคำสั่งตามมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 กับผู้ร้องสอดที่เป็นบริษัททั้งสอง ให้รื้อถอนอาคารทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง แต่เมื่อครบกำหนดเวลา ผู้ร้องสอดทั้ง2ไม่มีการรื้อถอนอาคาร และผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง2ยังไม่ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 43 แห่งพ.ร.บ.ดังกล่าว ในการเข้ารื้อถอนอาคาร จึงถือเป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง2ได้มีการปฏิบัติให้เป็นไปตาม คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดแล้ว แต่ยังไม่ถูกต้องครบถ้วนและได้ปฏิบัติล่าช้า

อย่างไรก็ตามเมื่อความล่าช้านั้น เกิดจากการที่อาคารของผู้ร้องสอดทั้งสองมีลักษณะเป็นอาคารสูง และขนาดใหญ่พิเศษ อีกทั้งสภาพแวดล้อมโดยรอบของอาคาร ประกอบด้วยบ้านพักอาศัย อาคารพาณิชย์ สถานรับเลี้ยงเด็ก และถนนสาธารณะที่มีรถผ่านเข้าออกตลอด การดำเนินการรื้อถอนจึงต้องใช้ความละเอียดรอบคอบและมีผู้ชำนาญการเข้ามาดำเนินการ ซึ่งผู้ว่าฯกทม.ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2ได้มีการอนุมัติงบประมาณในการรื้อถอนอาคารเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2560 โดยจะมีการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามขั้นตอนของกฎหมาย มีกำหนดระยะเวลารื้อถอนอาคารประมาณ 365 วัน จึงเห็นได้ว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดล่าช้า มิได้เกิดจากการจงใจแต่เพราะมีเหตุอันสมควร

ศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่งในชั้นบังคับคดี ดังนี้ 1.ยกคำร้องของผู้ฟ้องคดีทั้ง24 ที่ขอให้ศาลสั่งปรับผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง2และแจ้งผู้บังคับบัญชาเพื่อลงโทษทางวินัยกับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง 2ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง2ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดให้ครบถ้วน โดยใช้อำนาจตามมาตรา 43แห่งพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522ดำเนินการกับผู้ร้องสอดทั้งสองต่อไป 3.ให้สำนักบังคับคดีปกครองติดตามการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และรายงานให้ศาลปกครองกลางทราบทุกระยะจนกว่าจะมีการปฏิบัติครบถ้วน 4.หากผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดให้ถูกต้องครบถ้วน หรือปฏิบัติล่าช้าเกินสมควร ศาลจะไต่สวนเพื่อมีคำสั่งปรับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองและแจ้งผู้บังคับบัญชาลงโทษทางวินัยกับผู้ถูกฟ้องคดี ทั้งสองต่อไป

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้เป็นคดีที่ นพ.สงคราม ทรัพย์เจริญ ผู้ฟ้องคดี กับพวกซึ่งเป็นชาวบ้านซอยร่วมฤดี 24 คน เป็นผู้ฟ้องคดีที่ศาลปกครองสูงสุดเคยพิพากษาให้ชนะคดีนี้ ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองกลางไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีพบว่า ผู้อำนวยการเขตปทุมวันและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ถูกฟ้อง ไม่ได้ดำเนินการแก้ไขความสูง ของอาคารโรงแรมดิเอทัสและเซอร์วิส อพาร์ทเมนต์ ดิเอทัส เรสซิเดนซ์ ภายในซอยร่วมฤดี ก่อสร้างขัดต่อกฎหมายควบคุมอาคารปี 2522 โดยเป็นอาคารที่สูงเกินกว่ากฎหมายกำหนดและมีเขตความกว้างติดถนนสาธารณะไม่ถึง 10 เมตร ตามที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2557

ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้ถูกฟ้องไม่ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลที่ให้ปรับลดชั้นของอาคาร หรือรื้อถอนอาคารภายใน 60 วัน นับแต่มีคำพิพากษา แต่กลับสั่งให้บริษัทเจ้าของอาคาร 2 บริษัท ห้ามบุคคลใดใช้ หรือเข้าไปในอาคารเท่านั้น จึงเห็นว่าเป็นการช่วยเหลือประวิงเวลาการบังคับคดีทั้งที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image