ศาลฎีกาเลือกองค์คณะ9คน พิจารณาคดีสลายม็อบพันธมิตร หลังป.ป.ช.อุทธรณ์ในส่วน’พล.ต.ท.สุชาติ’ อดีตผบช.น.

เมื่อวันที่7ธันวาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 6ธันวาคมที่ผ่านมา ที่อาคารศาลฎีกา ถนนเเจ้งวัฒนะ นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา เรียกประชุมผู้พิพากษาศาลฎีกา176คน โดยมีวาระการคัดเลือกองค์คณะพิจารณาคำร้องอุทธรณ์ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ยื่นอุทธรณ์ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(อดีตผบช.น.) จำเลยที่4 ในคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อปี2551 หลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยกฟ้องจำเลย4คน คือ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เเละ พล.ต.ท.สุชาติ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ที่ผ่านมา

โดยจากผลการนับคะเเนนผู้พิพากษาในศาลฎีกาที่ได้รับเลือกเป็นองค์คณะทั้ง 9 คน ประกอบด้วย 1.นายสุนทร ทรงฤกษ์ ประธานแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกา 2.นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา 3.นายวิชัย เอื้ออังคณากุล รองประธานศาลฎีกา 4.นายทวี ประจวบลาภ ประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา 5.นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ รองประธานศาลฎีกา 6.นายพรเทพ อัมพรกลิ่นแก้ว รองประธานศาลฎีกา 7.นายสู่บุญ วุฒิวงศ์ ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา 8.นางอุบลรัตน์ ลุยวิกกัย รองประธานศาลฎีกา และ9.นายสุรพันธุ์ ละอองมณี ประธานแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศในศาลฎีกา

โดยหลังจากนี้ นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกาที่ได้ลงนามรับรองเเล้ว จะติดประกาศรายชื่อองค์คณะผู้พิพากษาไว้ที่ศาลฎีกาภายใน 5 วันนับแต่วันประชุมใหญ่เพื่อให้คู่ความทราบ และเปิดโอกาสให้คัดค้านผู้พิพากษาที่ได้รับเลือก การยื่นคัดค้านคู่ความสามารถยื่นได้ตั้งแต่วันที่มีการติดประกาศไปจนก่อนที่จะเริ่มมีการไต่สวนพยานในคดี ขณะที่ขั้นตอนหลังจากนั้นองค์คณะผู้พิพากษาที่ได้รับการคัดเลือกจะทำการเลือกผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน 1 คน โดยใช้วิธีลงคะแนนลับ หลังจากได้เจ้าของสำนวนเเล้วองค์คณะทั้ง9คนจะร่วมกันพิจารณาคำร้องอุทธรณ์ของคู่ความเเละมีคำสั่งต่อไป

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับคดีนี้ ป.ป.ช.มีมติยื่นอุทธรณ์จำเลยที่ 4 คือ พล.ต.ท.สุชาติ เพียงคนเดียว เนื่องจากเห็นว่าเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผบช.น. มีอำนาจหน้าที่สั่งการ และบังคับบัญชาข้าราชการตำรวจสังกัดบช.น. และได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ผู้บัญชาการเหตุการณ์ตามแผนรักษาความสงบ (กรกฎ 48) ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีอำนาจหน้าที่สั่งการและบังคับบัญชานายตำรวจอื่นที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม โดยในการทำหน้าที่ผู้บัญชาการเหตุการณ์ดังกล่าว จำเลยที่ 4 ย่อมทราบถึงสถานการณ์การใช้แก๊สน้ำตาโดยตลอดในช่วงเวลาของการสลายการชุมนุม

ส่วนจำเลยอีก 3 คน นายสมชาย พล.อ.ชวลิต และ พล.ต.อ.พัชรวาท ที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติไม่อุทธรณ์ ด้วยคะแนน 7 ต่อ 1 งดออกเสียง 1 โดยก่อนหน้านี้ทางกลุ่มพันธมิตรฯ เคยออกมาเรียกร้องให้ ป.ป.ช. อุทธรณ์คดีต่อจำเลยทุกคน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image