ยธ.ห่วง“สมเด็จช่วง”มีชื่อครอบครองของผิดกม. ควรแจง หากถูกแจ้งข้อหา อย่าว่ากลั่นแกล้ง

ยธ.ห่วง“สมเด็จเด็จช่วง” มีชื่อครอบครองของผิดกม.ควรชี้แจง หากถูกแจ้งข้อหา อย่าว่ากลั่นแกล้ง ดีอสไอตั้งคำถาม 8 ข้อ ซักประวัติส่วนตัว ที่มารถ

แหล่งข่าวจากกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) แจ้งว่า ในวันที่ 21 มีนาคม ทีมพนักงานสอบสวนการตรวจสอบรถยนต์หลบเลี่ยงภาษีกว่า 6,000 คัน จะประชุมเพื่อรายงานความคืบหน้าทางคดีในส่วนที่ดำเนินการไปแล้ว ร่วมถึงกรณีการสอบปากคำสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือสมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กรณีครอบครองรถโบราณ เมอร์เซเดส เบนซ์ ทะเบียน ขม 99 กรุงเทพมหานคร ว่าดำเนินการในส่วนใดไปบ้างและขั้นตอนจากนี้จะทำอย่างไร
          
แหล่งข่าวกล่าวว่า ทีมพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ รายงานให้ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รับทราบข้อเท็จจริงการไปสอบปากคำสมเด็จช่วง เมื่อวันที่ 16 มีนาคมว่า ทีมพนักงานสอบสวนไม่ได้มีการตกลง หรือรับปากนายสมศักดิ์ โตรักษา ทีมทนายความวัดปากน้ำภาษีเจริญ ในประเด็นการส่งคำถามไปให้กับทีมทนายความ อีกทั้งดีเอสไอได้รับหนังสือคำร้องที่ยื่นให้พนักงานสอบสวน พร้อมหนังสือมอบอำนาจ 1 ฉบับ และในหนังสือระบุ 2 ข้อ เรื่องแรกระบุว่าได้รับมอบอำนาจจากสมเด็จพระมหา รัชมังคลาจารย์ เป็นผู้ให้การกับดีเอสไอ อีกประเด็น เรื่องการขอให้ส่งคำถามดีเอสไอมาเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้ทั้งสองประเด็นไม่สามารถกระทำได้
          
แหล่งข่าวกล่าวว่า พนักงานสอบสวนดีเอสไอเตรียมคำถามเพื่อไปสอบปากคำสมเด็จช่วง 8 คำถาม และได้แจ้งทีมพนักงานสอบสวน ก่อนเดินทางไปสอบปากคำสมเด็จช่วง ทั้งนี้ประเด็น คำถามเป็นการถามตามแบบฟอร์มการสอบปากคำเหมือนคดีทั่วไป ตั้งแต่ประวัติส่วนตัว ชื่อ นามสกุล อาชีพ จากนั้นถามที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ ชื่อบุคคล อ้างว่ามีการรับมอบมา ซึ่งประเด็นเหล่านี้ปรากฏไปตามสื่อมวลชนเกือบหมด อย่างไรก็ตามได้มีการพูดคุยกับทนายความว่า หากประเด็นคำถามในข้อใดที่สมเด็จช่วงตอบไม่ได้ หรือจำไม่ได้ ก็สามารถตอบเป็นลายลักษณ์อักษร ตามหลังมาก็ได้ ดังนั้นกรณีที่ทนายความบอกว่าไม่ได้เตรียมคำถามไปจึงบิดเบือนข้อเท็จจริง เพราะการนัดหมายไปที่วัด เพื่อสอบปากคำ พนักงานสอบสวนเตรียมประเด็นคำถามอยู่แล้ว
          
แหล่งข่าวกล่าวว่า พล.อ.ไพบูลย์จะชี้แจงในประเด็นดังกล่าวด้วยตนเอง อีกทั้งยังกำชับพนักงานสอบสวนไม่ให้ออกมาตอบโต้ไปมากับทีมทนาย ทั้งนี้ทีมกฎหมายของ พล.อ.ไพบูลย์ ได้ตรวจสอบขั้นตอนการทำงานของดีเอสไอว่าดำเนินการเป็นอย่างไร ถูกต้องตามกฎหมาย และระเบียบหรือไม่ ซึ่งอธิบดีดีเอสไอได้ชี้แจงขั้นตอนให้รับทราบโดยละเอียด และยืนยันว่าไม่สามารถส่งคำถามให้ได้ การออกหนังสือเรียกหรือหมายเรียกพยานมาให้การ ก็สามารถดำเนินการได้ทันทีเช่นกัน
        
 “มีข้อห่วงใยว่าหากสมเด็จช่วงไม่ชี้แจงอาจจะเสียสิทธิได้ ควรใช้สิทธิชี้แจง เพราะตอนนี้สมเด็จช่วงมีชื่อครอบครองสิ่งของที่ผิดกฎหมาย หากไม่ชี้แจงข้อเท็จจริงว่าได้มาอย่างไร ในขั้นตอนต่อไป หากมีการตั้งข้อกล่าวหาอย่าบอกว่าดีเอสไอกลั่นแกล้ง อยากให้ทีมทนายความคิดตรงนี้ให้มาก” แหล่งข่าวกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image