‘อสส.’ชูปี2561มุ่งคุ้มครองสิทธิ ไม่ฟ้องผู้บริสุทธิ์ ไม่ก้ำกึ่งแล้วฟ้อง

นายธรัมพ์ ชาลีจันทร์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด

เมื่อวันที่ 4 มกราคม นายธรัมพ์ ชาลีจันทร์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้รับมอบจากอัยการสูงสุด กล่าวถึงนโยบายบริหารจัดการองค์กรและจัดการคดีในปีใหม่ 2561 ว่า ตามนโยบายการบริหารงานของนายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด ได้ประกาศกับอัยการทั่วประเทศเมื่อเดือนตุลาคม 2560 ได้กำหนดแผนการบริหารไว้ 2 ปี ช่วงปี 2560 – 2562 ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งนั้น จริงๆ มีนโยบายหลายด้าน โดยนโยบายด้านคุ้มครองสิทธิของประชาชน เป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญ รวมทั้งการพัฒนาองค์กรอัยการด้านต่างๆ และการบริหารกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

นายธรัมพ์ กล่าวว่า การคุ้มครองสิทธิของประชาชน คือการสั่งคดีของพนักงานอัยการ สิ่งที่ต้องคำนึงมากที่สุดคือต้องคุ้มครองสิทธิทั้งฝั่งผู้เสียหายในคดี กับสิทธิของผู้ต้องหาว่าจะต้องได้รับการพิจารณาอย่างยุติธรรมและเป็นธรรม สั่งคดีอย่างปราศจากอคติ ขณะที่ผู้กระทำผิดต้องได้รับการถูกดำเนินคดีเพื่อไปพิสูจน์การกระทำในชั้นศาล ขณะเดียวกันการสั่งคดีต้องมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิสูจน์ความผิดได้จริง อัยการสูงสุดให้นโยบายไว้ชัดเจนแล้วว่า จะไม่ฟ้องผู้บริสุทธิ์หรือผู้ที่ยังคงมีความสงสัยว่าได้กระทำความผิดนั้นหรือไม่ ประเภทที่ฟ้องไปก่อนแล้วหาหลักฐานมาเสริมพิสูจน์ในศาลนั้นเราไม่ทำ ดังนั้นการสั่งคดีพยานหลักฐานจึงต้องมีความชัดเจนขนาดที่ว่าเมื่อฟ้องคดีสู่ศาลแล้ว ศาลจะต้องลงโทษจำเลยเพราะพยานหลักฐานมั่นคง

“การสั่งคดีของอัยการมีผลอย่างมาก ที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ดังนั้นเราต้องพิจารณาพยานหลักฐานอย่างละเอียดรอบคอบ ถ้าเขาผิดเขาต้องถูกดำเนินคดี ถ้ายังไม่มั่นใจว่าทำผิดจริงหรือไม่ พยานหลักฐานมีเพียงพอไหมเราต้องสั่งสอบสวนเพิ่มเติม ไม่ใช่ก้ำๆกึ่งๆแล้วไปฟ้อง” นายธรัมพ์กล่าว และว่า ดังนั้นอาจทำให้สังคมเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าอัยการทำงานช้า บางเรื่องผู้เสียหายอาจไปฟ้องคดีเองก่อนเพราะคิดว่าอัยการล่าช้า จะให้ระบุระยะเวลาตายตัวในการสั่งคดีเลยไม่ได้ เพราะแต่ละคดีมีความสลับซับซ้อนต่างกันไป คดีที่มีพยานหลักฐานชัดเจน ประจักษ์พยานเพียงพออย่างนี้ใช้เวลาไม่มาก อย่างไรก็ดีมีระยะเวลาตามกรอบกฎหมายที่กำกับการทำงานของอัยการอยู่แล้ว เช่น อายุความในคดีอาญา ระยะเวลาการควบคุมตัว (การฝากขัง) โดยการทำงานหากคดีมีพยานหลักฐานเพียงพออัยการจะสั่งคดีหรือฟ้องให้ทันในกรอบเวลาการฝากขัง

“เราอยู่ในยุคสมัยของเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารกับโซเชียลมีเดียที่ใช้อย่างกว้างขวาง ส่งผลให้การทำงานของอัยการอาจยากลำบากมากขึ้น เพราะจะมีการชี้นำ หรือการแสดงความคิด ความเห็นทางสื่ออย่างแพร่หลาย ดังนั้นในการสั่งคดีเราจะระวัง และต้องไม่ตามกระแส แต่จะยึดหลักพยานหลักฐานในสำนวนเป็นสำคัญ ต้องสั่งคดีด้วยความโปร่งใส ตัดการชี้นำออกให้หมด อย่างกรณีของครูจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร ที่มีการวิจารณ์ผ่านออนไลน์อย่างแพร่หลาย แต่สุดท้ายเมื่อถึงกระบวนการทางศาลก็พิสูจน์แล้วว่ามีขบวนการรับผิด” นายธรัมพ์ กล่าว

Advertisement

นายธรัมพ์ กล่าวอีกว่า การคุ้มครองสิทธิประชาชนอีกข้อที่สำคัญ คือ การให้ความรู้ทางกฎหมายทั้งอาญาและแพ่ง การทำนิติกรรม สัญญา สอดรับกับนโยบายของรัฐและหน่วยงานต่างๆ อย่างกระทรวงมหาดไทยหลายเรื่อง เช่น การจัดระบบไกล่เกลี่ยที่จะลดคดีก่อนขึ้นศาลได้ การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ หรือกองทุนหมู่บ้านที่ต้องมีการทำสัญญา และทำให้ประชาชนมีโอกาสที่จะเข้าถึงกระบวนยุติธรรมให้ได้มากที่สุดโดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเงิน หรือฐานะยากดีมีจนไม่ใช่ประเด็น จะเป็นงานเชิงรุกซึ่งอัยการมีสำนักงานให้ความรู้และช่วยเหลือกฎหมายประชาชน (สคช.) ทั่วประเทศทั้ง 76 จังหวัด โดยผู้ที่คุมสำนักงานผ่านหลักสูตรระดับอัยการจังหวัด ในสังคมประชาธิปไตยประชาชนต้องรู้ถึงสิทธิและหน้าที่ ดังนั้น อัยการที่เป็นหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมต้องทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ตรงนี้ เราจะกระตุ้นให้ประชาชนรู้ว่าเขามีสิทธิอะไร เขาก็จะป้องกันไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิ นอกจากนี้ในส่วนของสำนักงานอัยการจังหวัดตามภูมิภาคต่างๆถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะขับเคลื่อนโยบายของอัยการสูงสุด ในช่วง 2 ปีนี้ที่จะปฏิบัติให้เป็นจริงเพื่อประโยชน์ประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image