ตั้ง’สราวุธ’เลขาฯศาลยุติธรรม นั่งคณะกรรมการบริหารด้านพัฒนาองค์กร ศาลปกครอง

นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง

เมื่อวันที่ 25 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลัง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้เมื่อปลายปี 2560 ที่ผ่านมา โดยกฎหมายกำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารศาลปกครอง(ก.บ.ศป.) จำนวน 15 คนที่มีประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นประธานกรรมการโดยตำเเหน่ง ตามมาตรา 41/2 วรรคหนึ่ง (5) บัญญัติไว้ให้มี ก.บ.ศป.ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการงบประมาณ , ด้านการพัฒนาองค์กร และด้านการบริหารจัดการ ที่ไม่เป็นหรือไม่เคยเป็นข้าราชการศาลปกครอง ด้านละ 1 คนด้วยนั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 มกราคมที่ประชุม ก.บ.ศป. มีกรรมการตามสัดส่วนกฎหมายกำหนด ประกอบด้วย ประธานศาลปกครองสูงสุด , เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา , เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) , ก.บ.ศป.ผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นตุลาการในศาลปกครองสูงสุดจํานวน 4 คน , ตุลาการในศาลปกครองชั้นต้นจํานวน 4 คน และ ก.บ.ศป.ผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง อีก 2 คน ได้ประชุมและมีมติเลือกบุคคลเป็น ก.บ.ศป.ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านต่างๆ ประกอบด้วย ด้านการงบประมาณ ที่ประชุมได้เลือก นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ สนช. และอดีต ผอ.สำนักงบประมาณ คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) , ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนาองค์กร เลือก นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการศาลยุติธรรม และด้านการบริหารจัดการ เลือก นายวิสูตร ประสิทธิ์ศิริวงศ์ อดีตเลขาธิการ ก.พ.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าว ผ่านการเสนอชื่อของกรรมการโดยมีการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ถูกเสนอชื่อไว้รวม 8 ข้อ ตาม มาตรา 41/4 หนึ่งในข้อสำคัญ คือ ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น กรรมการพรรคการเมือง สมาชิกพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง หลังจากเสนอชื่อแล้วที่ประชุม ก.บ.ศป.จึงลงมติเลือกกัน การคัดเลือกเมื่อผ่านมติที่ประชุมแล้วถือว่าสมบูรณ์ ขณะที่ ก.บ.ศป.ผู้ทรงคุณวุฒิ จะมีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี และห้ามดำรงตำแหน่งเกิน 2 วาระติดต่อกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ ก.บ.ศป. ดังกล่าว จะมีอํานาจหน้าที่กํากับดูแลการบริหารราชการศาลปกครอง และสํานักงานศาลปกครองในส่วนที่ไม่อยู่ในอํานาจของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด , ก.ศป. หรือ ก.ขป. เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ แบบแผน ประเพณีปฏิบัติของทางราชการ และนโยบายของประธานศาลปกครองสูงสุด โดยให้มีอํานาจหน้าที่14ข้อ ตามที่บัญญัติในมาตรา 41/8 เช่น การออกระเบียบ ประกาศ หรือหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารราชการศาลปกครอง และสํานักงานศาลปกครอง , ให้ความเห็นในการเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับศาลปกครอง , พิจารณาให้ความเห็นชอบในการจัดทํางบประมาณรายจ่ายประจําปี , ออกระเบียบเกี่ยวกับการจ้างและการแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีความรู้ความสามารถอันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของศาลปกครอง รวมทั้งอัตราค่าตอบแทนการจ้างด้วย , ออกระเบียบเกี่ยวกับการแต่งตั้งกรรมการหรืออนุกรรมการของศาลปกครองหรือสํานักงานศาลปกครอง และยับยั้งการดําเนินการที่ไม่เป็นไปตามระเบียบ ประกาศ หรือหลักเกณฑ์

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image