ป.ป.ท.ตั้งอนุไต่สวน คดีทุจริตงบอุดหนุน คนไร้ที่พึ่งฯขอนแก่น-ป่วยเอดส์ พบ จนท.เอี่ยว 6 ราย

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ที่ห้องประชุม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ชั้น 28 อาคารซอฟแวร์ ปาร์ค ถนนแจ้งวัฒนะ จ.นนทบุรี นายกิตติ ลิ้มชัยกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ท. พร้อมด้วยบอร์ด ป.ป.ท. ประกอบด้วย นายจีระรัตน์ นพวงศ์ ณ อยุธยา, พล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี, พล.อ.ชัยรัตน์ ชีระพันธุ์, นายภิญโญ ทองชัย, นายอนุสิษฐ คุณากร และนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. และ พ.ต.ท.วันนพ สมจินตนากุล ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ท. ร่วมประชุมเพื่อลงมติตั้งอนุกรรมการไต่สวนความผิดทางอาญาโดยวาระแรก เป็นการพิจารณาลงมติตั้งอนุกรรมการไต่สวนการทุจริตเบิกจ่ายงบประมาณสนับสนุนศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น โดยใช้เวลาหารือนานกว่า 1 ชม.

พล.ต.อ.จรัมพรกล่าวภายหลังประชุมว่า กรณีดังกล่าวเริ่มจาก 2 น.ศ.สาว อดีตลูกจ้างศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น มาร้องเรียนที่ศูนย์ร้องเรียนกองทัพบก (กอ.รมน.กองทัพบก) จ.ขอนแก่น เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ถึงเรื่องการทุจริตดังกล่าว จากนั้นประสานให้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) แล้วสั่งการให้ ป.ป.ท.ลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่หาข้อมูลจนสามารถรวบรวมหลักฐานได้พอสมควร บอร์ด ป.ป.ท.เห็นว่าคดีมีมูลความผิดจึงมีมติตั้งอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีเจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น ปลอมแปลงเอกสารเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยและผู้ติดเชื้อเอดส์ โดยมีพฤติการณ์ยักยอกเงินสงเคราะห์ เบิกจ่ายเงินซ้ำซ้อน ระบุจำนวนเงินสูงกว่าความเป็นจริง และบังคับให้ผู้อื่นปลอมเอกสารในใบสำคัญรับเงินและสำเนาบัตรประชาชน เป็นวงเงินกว่า 6.9 ล้านบาท ซึ่งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องประกอบด้วย ผอ.ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ ลูกจ้าง และพนักงานราชการ รวม 6 ราย

พล.ต.อ.จรัมพรกล่าวอีกว่า เบื้องต้นพบว่าเข้าข่ายความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อหรือรักษาทรัพย์ใด แต่เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต ม.147, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ม.157, เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดทำเอกสาร กระทำการปลอมเอกสารโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้น ม.161 และเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดทำเอกสารแต่รับรองเอกสารอันเป็นเท็จ ม.162 ซึ่ง ป.ป.ท.จะเร่งไต่สวนความผิดให้แล้วเสร็จภายในกรอบเวลา 6 เดือน หากพบการกระทำความผิดจะชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง ส่งเรื่องให้ต้นสังกัดไล่ออกจากราชการ พร้อมส่งสำนวนให้อัยการดำเนินคดีอาญา ในส่วนของประชาชนที่มีส่วนรู้เห็นกับการกระทำความผิด จะถือเป็นผู้สนับสนุน

 

Advertisement


พล.ต.อ.จรัมพรกล่าวด้วยว่า ขอนแก่นถือเป็นโมเดลในการเริ่มตรวจสอบและขยายผลไปพื้นที่อื่น โดยยังเชื่อว่ามีอีกหลายศูนย์ที่มีการกระทำในลักษณะดังกล่าว หลังจากนี้เจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่เพื่อหาเบาะแสความผิดเพิ่มเติม ซึ่ง ป.ป.ท.จะประสานสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบเส้นทางการเงิน เพื่อเชื่อมโยงถึงผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการทุจริต นอกจากนี้ จะขอให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ร่วมเป็นอนุกรรมการไต่สวนด้วย ทางด้านกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม. ) หลังรับทราบปัญหาก็จะเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษและพร้อมให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการไต่สวน

“สำหรับแผนประทุษกรรมการกระทำทุจริตใน จ.ขอนแก่น พบพฤติการณ์จัดทำโครงการต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสงเคราะห์เพื่อให้ได้เอกสาร จากนั้นจะนำเอกสารบัตรประชาชนของผู้มีสิทธิมาเซ็นปลอมเพื่อจ่ายเงิน โดยผู้มีสิทธิบางรายไม่เคยได้รับเงิน หรือได้รับเงินเพียงเล็กน้อย เช่น เจ้าหน้าที่ศูนย์ฯขอนแก่นจะเก็บเอกสารของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ไว้ในขณะจัดอบรม อสม. จากนั้นได้นำไปปลอมเอกสารสำเนาบัตรประชาชนเพื่อเบิกจ่ายงบ โดยมีการเตรียมการไว้ล่วงหน้า ซึ่งชาวบ้าน 90 ราย มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาท แต่ได้รับจริงเพียง 1,000 บาท ขณะที่บางส่วนไม่เคยได้รับเงินเลย ทั้งนี้ ทั่วประเทศมีงบประมาณในการสนับสนุนช่วยเหลือคนไร้ที่พึ่ง 493 ล้านบาทเศษ ขณะที่ศูนย์ฯขอนแก่นได้รับงบสนับสนุนโครงการ 6.9 ล้านบาท แต่งบดังกล่าวถูกจัดสรรให้ชาวบ้านไปเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ แบ่งเป็นเงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย 2,000 ราย ผู้ป่วยเอดส์ 500 ราย” พล.ต.อ.จรัมพรกล่าว

Advertisement

พ.ต.ท.วันนพ สมจินตนากุล ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ท. กล่าวว่า ในส่วนผู้ร้องเรียนเรื่องทุจริตดังกล่าวมี 5 คน มี น.ศ. 2 คน และอีก 3 คน เป็นเจ้าหน้าที่ในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น ส่วนกลุ่มผู้ถูกกล่าวหามี 6 คน เป็นข้าราชการ 2 คน คือระดับ ผอ.ศูนย์ และข้าราชการ ส่วนอีก 4 คนไม่ใช่ข้าราชการ แบ่งเป็นพนักงานราชการ 3 คน และพลเรือน 1 คน โดยทางบอร์ด ป.ป.ท. ได้ตั้งกรอบไว้ 6 เดือนในการสืบหาข้อเท็จจริง แต่จะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เพื่อสรุปสำนวนส่งอัยการเพื่อส่งฟ้องต่อศาล ซึ่งตามขั้นตอนกฎหมาย โดยโทษสูงสุดคือไล่ออก ขณะนี้เจ้าหน้าที่ยังดำเนินการสอบปากคำไปเพียง 90 คน ส่วนรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินผู้มีรายได้น้อย เงินสงเคราะห์ผู้ติดเชื้อ HIV ใน จ.ขอนแก่น มีประมาณ 3,200 คน โดยจะเร่งทำการสอบให้เร็วที่สุด เพื่อจะนำเคสนี้เป็นโมเดลในการตรวจสอบศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งทั่วทั้งประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image