ป.ป.ท.มอบโล่ 2 สาว เปิดโปงแก๊งโกงเงินคนไร้ที่พึ่งขอนแก่น-พบอีก 5 จังหวัด ส่อพิรุธ

เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ  (ป.ป.ท.)  พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์  รองเลขาธิการ ป.ป.ท. รักษาการเลขาธิการ ป.ป.ท. ได้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณเชิดชูเกียรติให้กับ น.ส.ปณิดา ยศปัญญา นิสิตคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  และน.ส.ณัฏกานต์ หมื่นพล อดีตลูกจ้างของศูนย์คุ้มครองฯ ขอนแก่น ซึ่งเป็นผู้เปิดเผยข้อมูลการทุจริต ปลอมแปลงเอกสารข้อมูลสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาส ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น เป็นผลให้ ป.ป.ท.ตรวจพบหลักฐานส่อถึงการทุจริต และขยายผลตรวจสอบไปยังศูนย์คุ้มครองฯ ทั่วประเทศ

พ.ท.กรทิพย์กล่าวว่า เชื่อว่าคนไทยทั้งประเทศชื่นชม น.ส.ปณิดา และน.ส.ณัฏกานต์ที่ลุกขึ้นมาปกป้องผลประโยชน์ของคนยากไร้ให้ได้รับการสงเคราะห์ช่วยเหลือจากรัฐ และถือเป็นบุคคลต้นแบบของการต่อต้านทุจริต กล้าเปิดเผยตนเองและลงทุนจ่ายเงินค่าเดินทางมาร้องเรียนที่ศูนย์นับเรื่องร้องเรียนกองทัพบกจนนำไปสู่การปราบปรามทุจริต เป็นจ่าเฉยยังดีกว่าทนนิ่งเฉยต่อการทุจริต เพราะทำให้คนทุจริตยิ่งทำผิดต่อไป

พ.ท.กรทิพย์กล่าวว่า หลังจากตรวจสอบศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น ป.ป.ท.ได้ขยายผลตรวจสอบทั่วประเทศโดยจัดชุดตรวจสอบ 15 ชุดลงตรวจสอบ 76 ศูนย์คุ้มครองฯ เบื้องต้นพบศูนย์คุ้มครองฯ จ.เชียงใหม่ มีพฤติการณ์ส่อไปทางทุจริตคล้ายกับที่เกิดขึ้นใน จ.ขอนแก่น โดยนำรายชื่อและเอกสารของชาวบ้านจากการอบรมในโครงการต่างๆ มาขอรับเงินสงเคราะห์ ซึ่งผู้มีสิทธิจะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐตั้งแต่ 1-3 พันบาท โดยส่วนใหญ่พบมีการทำรายชื่อและหลักฐานไปขอเบิกรับเงิน แต่ไม่มีการจ่ายเงินสงเคราะห์ให้ชาวบ้านจริง ขณะที่ทั้งโครงการได้รับงบประมาณในปี 2560 จำนวน 493 ล้านบาทเศษ ในจังหวัดเชียงใหม่ได้งบประมาณจัดสรรมากที่สุด ดังนั้น เป้าหมายการตรวจสอบจึงมุ่งหาหลักฐานการทำผิดในปีงบประมาณ 2560 หากพบมีความผิดต่อเนื่องก็ต้องตรวจสอบย้อนหลังไปตั้งแต่การจัดตั้งศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งปี 2552 คาดว่าหลังครบกำหนด 90 วัน จะสามารถสรุปการกระทำความผิดได้ พร้อมทั้งจะทำรายงานเสนอต่อรัฐบาลว่าโครงการจ่ายเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ยากไร้ควรมีมาตรการป้องกันอย่างไร ทั้งระบบการจ่ายเงินและการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ ทั้งนี้ ยืนยันว่าการเข้าไปตรวจสอบของ ป.ป.ท.ทำเพื่ออุดช่องว่างให้กับการดำเนินโครงการของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

“การลงพื้นที่ตรวจสอบพบความผิดปกติส่อไปในทางทุจริต 5 จังหวัด ได้แก่  ขอนแก่น เชียงใหม่ บึงกาฬ หนองคาย และสุราษฎร์ธานี  โดยพบมีพฤติการณ์แปลกๆ ในหลายพื้นที่ เช่น ที่ จ.หนองคาย กลุ่มส่งเสริมอาชีพผู้มีรายได้น้อย 17 ราย ต้องได้รับเงินสงเคราะห์ 34,000 บาท แต่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดหนองคายได้มอบเงินให้เพียง 1 หมื่นบาท โดยหลังการลงพื้นที่ตรวจสอบของ ป.ป.ท.เพียง 2 วัน เจ้าหน้าที่ของศูนย์คุ้มครองฯ นำเงิน 24,000 บาท ไปส่งมอบให้กับประธานกลุ่มแม่บ้าน เมื่อได้รับเงินแล้วประธานกลุ่มแม่บ้านได้ไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน เนื่องจากความผิดสำเร็จแล้ว เพราะเบิกรับเงินเมื่อเดือน มิ.ย.60 แต่กลับนำเงินมาส่งมอบหลังเซ็นรับเงินนานกว่า 8 เดือน ส่วนที่ จ.สุราษฎร์ธานีมีผู้ใหญ่บ้านมาแสดงตัวว่าเป็นผู้มีรายได้และมีที่ดินทำกิน จึงไม่มีคุณสมบัติต้องรับเงินสงเคราะห์ แต่กลับมีชื่อได้รับเงินช่วยเหลือ จึงขอให้ ป.ป.ท.ตรวจสอบจุดบกพร่องดังกล่าวด้วย” พ.ท.กรทิพย์กล่าว

Advertisement

พ.ท.กรทิพย์กล่าวอีกว่า ขณะนี้ กอ.รมน.ให้ทหารเข้าไปดูแล น.ส.ปณิดา ส่วน น.ส.ณัฏกานต์ อดีตลูกจ้างชั่วคราวมีตำรวจจาก สภ.บ้านเป็ดเข้าไปดูแล โดยในวันนี้ ป.ป.ท.เตรียมดำเนินการเสนอให้มีการคุ้มครองพยานในคดีอาญาระหว่างการดำเนินคดีทุจริตของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง

ด้าน น.ส ณัฏกานต์  หมื่นพล  อดีตลูกจ้างศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น. กล่าวว่า สาเหตุที่ออกมาเปิดเผยเรื่องดังกล่าวเพราะเห็นว่าชาวบ้านมีสภาพความเป็นอยู่และการใช้ชีวิตอย่างไร  จึงต้องการช่วยเหลือชาวบ้านเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หากยังเพิกเฉยปล่อยให้มีการทุจริตคอร์รัปชั่นต่อไปก็รู้สึกละอายใจ หลังจากไม่ให้ความร่วมมือปลอมเอกสาร ตนก็กลายเป็นคนตกงานตั้งแต่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ มีเพียงการฟ้องศาลปกครองขอให้ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งชดเชยค่าเสียหาย  แม้ตนจะตกงานก็ถือว่าเดือดร้อนคนเดียว แต่ได้ช่วยเหลือชาวบ้านกว่า 2,000 คน ให้ได้รับสิทธิที่ควรจะได้รับ

Advertisement

น.สปณิดากล่าวว่า ขณะนี้ได้เข้าสู่โครงการคุ้มครองพยาน โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารจาก กอ.รมน.จังหวัดดูแลความปลอดภัยให้กับตนและครอบครัว จึงทำให้รู้สึกปลอดภัยมากขึ้น  ส่วนสาเหตุที่เข้าร้องเรียนปัญหาการทุจริตเนื่องจากพบว่ามีความผิดปกติในการจัดทำเอกสารเบิกจ่ายให้กับชาวบ้าน จึงรวบรวมหลักฐานทั้งหมด เพื่อร้องเรียน ครั้งแรกเกรงว่าจะกระทบกับทางมหาวิทยาลัยเนื่องจากกำลังศึกษาอยู่ แต่ตนเองเรียนมาในด้านการพัฒนาชุมชน หากไม่เปิดเผยก็เกรงว่าชาวบ้านจะไม่ได้รับความเป็นธรรม  นอกจากนี้จากการสอบถามรุ่นพี่ที่เคยฝึกงานมาก่อน ว่าเคยจัดทำเอกสารด้วยการเซ็นชื่อแทนชาวบ้านหรือไม่ ก็ได้รับคำตอบว่านักศึกษาฝึกงานรุ่นพี่ได้ลงพื้นที่พบปะกับชาวบ้านจริง ไม่มีการให้นักศึกษาฝึกงานเซ็นใบเสร็จรับเงินแทน  ขณะที่ตนจะต้องเซ็นสำเนาแทนชาวบ้านทุกวัน  ในแต่ละวันจะพบเห็นเจ้าหน้าทีโทรศัพท์ส่งไลน์ไปขอสำเนาบัตรประชาชนกับชาวบ้านวันละ 20-50 ชุด  จึงสงสัยว่าอาจมีการปลอมแปลงเอกสาร แต่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธโดยอ้างว่าต้องกรอกเอกสารให้เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและเขียนหนังสือไม่ได้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image