ตุลาการค้าน ร่างพ.ร.บ.ชะลอฟ้อง ประธานศาลฎีกา ยื่นหนังสือห่วงใย ถึง”พรเพชร”

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.มาตรการแทนการฟ้องคดีอาญาหรือกฎหมายชะลอการฟ้องคดีอาญา ที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติ(สนช.) ว่าหลักการของพ.ร.บ.ดังกล่าวระบุไว้ว่า คดีอาญาที่มีโทษ จำคุกขั้นต่ำไม่เกิน 5 ปีเมื่อผู้ต้องหายอมรับผิด และผู้เสียหายยกโทษให้ไม่ติดใจเอาความ ไม่ว่าจะได้รับการการชดใช้ค่าเสียหายหรือไม่ก็ตาม หากพนักงานอัยการเห็นสมควรไม่ควรฟ้อง อัยการสามารถใช้มาตรการชะลอการฟ้อง โดยการสั่งไม่ฟ้องและให้คุมประพฤติ อัยการเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขการคุมประพฤติดังกล่าวผ่านกรมคุมประพฤติกระทรวงยุติธรรม และในระหว่างนี้จะห้ามผู้เสียหายฟ้องคดีเอง และหากผู้เสียหายยื่นฟ้องคดีเอง ให้ถือว่าสิทธิในการฟ้องคดียุติ หลักการนี้อัยการกับพนักงานคุมประพฤติจะร่วมมือกัน โดยที่ศาลไม่ได้ตรวจสอบ รวมถึงยังครอบคลุมความผิดส่วนตัวและอาญาแผ่นดินอีกด้วย เช่น ทำให้เสียทรัพย์ บุกรุก ข่มขืนกระทำชำเราที่อายุเกิน 20 ปี ก็อยู่ในเงื่อนไขที่ยอมความได้ ขอเพียงมีอัตราโทษไม่เกิน 5 ปี

นายศรีอัมพร กล่าวต่อว่า ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ พ.ร.บ.ฉบับนี้ กำหนดให้คดี ที่เกิดจาการกระทำโดยประมาท เช่น การขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตราย บาดเจ็บสาหัส หรือเสียชีวิต แม้จะมีอัตราโทษสูงเกิน 5 ปี จะเข้าสู่มาตรการชะลอการฟ้องได้ อย่างกรณีคนขับรถเบนซ์ชนรถฟอร์ด หรือคดีก๊าซรั่วที่ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่มีคนตายหลายคนจะได้เข้าสู่มาตรการชะลอฟ้อง

นายศรีอัมพร กล่าวต่อว่า เนื่องจากบางครั้ง เหยื่อหรือผู้เสียหายอาจถูกข่มขู่ว่า ถ้าไม่ยอมความก็อาจถูกบีบให้ยอมความ ผู้ที่อ่อนแอกว่า หรือประชาชนที่ยากจนจะเสียเปรียบ และถูกละเมิดสิทธิการฟ้องคดี ในคดีที่เป็นอาญาแผ่นดิน เช่น คดีลักทรัพย์ คดีบุกรุกป่า แอบตัดต้นไม้ในป่าสงวน ล่าสัตว์ป่า พกพาอาวุธปืน โทษจำคุก ไม่เกิน 5 ปี ผู้เสียหายคือรัฐ และความผิดที่มีโทษน้อย แต่มีพฤติการณ์อุกอาจทำให้สังคมได้รับความเดือดร้อน เช่น ทำร้ายร่างกาย ตามมาตรา 295 ผู้ก่อเหตุจะมีพฤติกรรม นักเลง อันธพาล ไม่เกรงกลัวกฎหมาย หรือทำให้เสียทรัพย์ หรือการกระทำที่น่าเกลียด ทำให้สังคมกระทบกระเทือนจิตใจ เข้าสู่ พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ด้วย

นายศรีอัมพร กล่าวต่อว่า ดูจาก พ.ร.บ.ที่ออกมานั้น มองว่าเป็นมาตรการที่ไม่มีหลักประกันในการตรวจสอบการยอมความ ว่าผู้เสียหายจะยินยอมจริงหรือไม่ และยังเป็นการผิดหลักการที่ว่าความผิดไม่ได้มีการพิสูจน์ในชั้นศาล มาตรการดังกล่าวมองว่าเป็นการจูงใจ ให้จำเลยหรือผู้ที่ถูกกล่าวหารีบรับสารภาพ เพื่อขอมาตรการชะลอการฟ้อง เพื่อเป็นประโยชน์ว่าถ้าสู้คดีไป ถึงแม้ตัวเองไม่ได้ทำ แต่ถ้ายอมสารภาพผิด เพื่อให้ตนเองพ้นคดีตรงนี้จึงค่อนข้างหมิ่นเหม่ ในส่วนสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลย เพราะมีลักษณะการจูงใจให้ยอมรับ อีกทั้งสิทธิในการฟ้องคดีอาญาถือเป็นสิทธิมนุษยชนที่รัฐธรรมนูญ แม้แต่ฉบับของนายมีชัยกำลังร่างอยู่รับรอง คือสิทธิของผู้เสียหายในการฟ้องคดีเอง พ.ร.บ.นี้ไม่ตอบโจทย์ และขัดต่อทฤษฎีกระบวนการยุติธรรมที่มุ่งป้องกันการอาชญากรรม ป้องกันการประทุษร้ายต่อผู้เสียหาย และเป็นช่องทางว่า ผู้ที่ก่อเหตุรู้ว่ามีช่องทางการฟ้องอยู่ ก็สามารถที่ทำความผิดที่มีโทษไม่เกิน 5 ปี มากขึ้น และพยายามขอใช้มาตรการการชะลอฟ้องนี้

Advertisement

นายศรีอัมพร กล่าวต่อว่า การที่จะเริ่มต้นจากชั้นพนักงานสอบสวน จะมีการไกล่เกลี่ยตนเห็นว่าถูกต้องแล้ว เพื่อให้คนกระทำผิดสำนึก และชดใช้ด้วยเงินตรา หรือ กระทำการชดเชยการกระทำของตน ให้ผู้เสียหายพึงพอใจ ส่วนเมื่อไกล่เกลี่ยในชั้นพนักงานสอบสวนไม่ได้ และมาไกล่เกลี่ยในชั้นอัยการเราก็ไม่ว่ากัน ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่าการใช้มาตรการไม่ฟ้องหรือชะลอฟ้อง ควรจะนำคดีดังกล่าวเสนอต่อศาล โดยมีการพาผู้เสียหาย จำเลย และพยานมาแสดงให้ศาลเห็นว่ามีการตกลงกันได้จริง ศาลจะได้เห็นว่ามีการตกลงกันได้จริง มีการบรรเทาผล ชดใช้ค่าเสียหายและไม่ติดใจเอาความ และพฤติการณ์ไม่ทำให้สังคมไม่สงบ และการคุมประพฤติสามารถทำให้สังคมอยู่ด้วยความสงบ คนในชุมชนจะได้รับทราบรับรู้ มีตัวแทนของหมู่บ้านชุมชนได้รับรู้ ต้องทำแบบนี้ถึงจะดี ไม่ใช่เป็นการตัดตอนทำกันเอง ถ้าเป็นแบบนี้อัยการตัดสินคดีเบ็ดเสร็จ และการสั่งไม่ฟ้อง ไม่ได้เป็นการกระทำโดยเปิดเผยต่อหน้าประชาชน หรือต่อหน้าคู่ความ

นายศรีอัมพร กล่าวต่อว่า จะเห็นได้ว่าประธานศาลฎีกา ได้ยื่นหนังสือทักท้วงไปแล้วในหลักการว่ายังไม่เหมาะสม และควรปรับแก้ไขหลายจุด ในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง การแก้ไขจะต้องทำให้โปร่งใสและตรวจสอบได้ต่อหน้าสาธารณะชน ไม่ใช่ปิดประตูแอบกันเงียบๆ หลังจากยื่นหนังสือไป รอฟังอยู่ว่า ในวันที่28มีนาคม จะเลื่อนพิจารณาในเรื่องนี้ ในชั้นคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) หรือไม่ แต่เรากำลังติดตามในเรื่องนี้อยู่

“คงมีใครไปบอกรัฐบาลว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของรัฐบาลเพื่อสนับสนุนให้เกิดการปรองดองหรือไม่ ครม. จึงรีบร้อนพิจารณาลงมติเห็นชอบด้วยกันร่างกฎหมายฉบับนี้เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ตนเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้จะเป็นกฎหมายชิ้นโบว์ดำของรัฐบาลนี้ ตอกย้ำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมมากยิ่งขึ้น เศรษฐีหรือผู้มีอิทธิพลเป็นผู้ต้องหาสามารถเอาเงินชดใช้ค่าเสียหายหรือบีบบังคับผู้เสียหายให้ยินยอมรับการชดใช้ค่าเสียหายเพื่อให้มีการสั่งชะลอการฟ้องยุติคดีอาญาได้ แต่คนยากจนที่เป็นผู้ต้องหาไม่มีเงินชดใช้ค่าเสียหายต้องถูกดำเนินคดีอาญา ผมเคยได้ยินนายกรัฐมนตรีพูดถึงเรื่องคดีขับเบนซ์ชนรถฟอร์ดว่าจะไม่ยอมให้คุกมีไว้ขังคนจนกับหมา แต่ถ้ากฎหมายฉบับนี้ผ่านสภา คำกล่าวของนายกรัฐมนตรีอาจเป็นได้เพียงความฝันในเรื่องนี้แม้แต่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.ยังได้กล่าวว่าถ้ามีกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา คดีเบนซ์อาจไม่นำขึ้นสู่การพิจารณาของศาลก็เป็นได้”นายศรีอัมพร กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image