นักกฎหมายชี้ สนช.ตีตก กกต.เเก้ปัญหาได้ดี หากปล่อยผ่าน ส่อมีปัญหาเป็นข้อต่อสู้จำเลย

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ แหล่งข่าวนักกฎหมายระดับสูงในกระบวนการยุติธรรมได้วิเคราะห์ถึงประเด็นที่ สนช.มีมติไม่ผ่านความเห็นชอบผู้ได้รับคัดเลือก ว่าที่คณะกรรมการการเลือกตั้งทั้ง 7 คน โดยมีการอ้างเหตุจากการลงมติลับในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่า ในการประชุม สนช.เป็นการประชุมลับ จึงยังไม่แน่ใจในข้อเท็จจริง ว่า ที่ สนช.ไม่ลงคะแนนผ่านคัดเลือก กกต.ทั้ง 7 คน มาจากสาเหตุประเด็นการลงคะแนนลับของศาลฎีกาใช่หรือไม่ แต่ตนเห็นว่าหากเป็นในประเด็นนี้จริง ทาง สนช.ก็อาจจะตัดสินใจถูกและเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะหากผ่านความเห็นชอบว่าที่ กกต.ทั้ง 7 คนไป ก็จะมีจุดอ่อนมากมาย เนื่องจาก กกต.ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ถ้า กกต.ทั้ง 7 คนมีการชูใบแดงหรือใบเหลืองให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ต่อไปเมื่อมีคดีความก็อาจมีการโต้แย้งมาจากผู้สมัครเลือกตั้งมาที่แผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา และสุดท้ายศาลเองก็จะต้องออกมาวินิจฉัยเรื่องที่มาการเข้าดำรงตำแหน่งของ กกต.อีกว่า ชอบหรือไม่ชอบ อย่างในคดีอาญานักการเมือง มีการพิจารณาคดีจนใกล้จะตัดสิน แต่ต่อมาทางฝ่ายจำเลยมีการโต้แย้งเกี่ยวกับเรื่องคุณสมบัติของ ป.ป.ช.ก็มีให้เห็นหลายกรณี เเละเชื่อว่าจำเลยส่วนมากก็พร้อมจะสู้หมดจึงอาจมีปัญหาตามมา

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า เชื่อว่าหาก กกต.ชุดที่ถูกตีตกดังกล่าว ได้ผ่านเข้ามาทำหน้าที่ก็จะต้องถูกผู้สมัครร้องในประเด็นนี้อย่างแน่นอน จึงเชื่อว่าคนส่วนมากเห็นว่า สนช.แก้ปัญหาได้ดีโดยการไม่ผ่านความเห็นชอบทั้ง 7 คน และใช้การคัดสรรเข้ามาใหม่ ซึ่งการสรรหา กกต.ชุดใหม่ก็จะต้องกระทำภายใน 90 วัน ตามกฎหมาย

เมื่อถามว่า ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะต้องเปลี่ยนวิธีลงคะแนนลับจากเดิมหรือไม่หลังจากถูกพาดพิงว่ามีปัญหา แหล่งข่าวกล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ที่ว่าที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าจะมีการพูดคุยตกลงกันอย่างไร แต่ผู้พิพากษาส่วนใหญ่เชื่อว่าคงจะต้องเปลี่ยนการลงคะแนนซึ่งประเด็นดังกล่าวจะต้องมีการนำไปถกเถียงในที่ประชุมศาลฎีกาอย่างแน่นอน ซึ่งตนก็เชื่อว่าที่ประชุมใหญ่ในศาลฎีกาก็คงจะเปลี่ยนวิธีการสรรหาใหม่อย่างแน่นอนคงไม่ใช้วิธีการเดิม เพราะถ้าใช้วิธีการเดิมก็จะต้องมีปัญหาขึ้นมาอีก ในความเห็นส่วนตัวของตนที่มีการโต้แย้งเรื่องนี้มาก็ถูกต้องแล้ว ที่ผ่านมามันคงมีอุบัติเหตุที่ทำให้ต้องใช้วิธีการลงคะแนนแบบที่มีปัญหาไป แต่เชื่อว่าต่อไปก็คงไม่มีปัญหาเรื่องนี้อีก

เมื่อถามว่า หากอ้างว่าในสัดส่วนของสายศาลมีปัญหา ทำไมอีก 5 คน สนช.ถึงไม่ผ่าน แหล่งข่าวกล่าวว่า ตนคิดว่าในที่ประชุม สนช.ซึ่งเป็นการประชุมลับ คงมีการพูดคุยว่าจะโหวตไม่ผ่านเเค่บางคนหรือโหวตไม่ผ่านทั้งหมด ซึ่งเมื่อผลออกมาอย่างนี้ก็เชื่อว่า สนช.คงตกลงกันได้ ซึ่งถือเป็นสิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งการไม่ผ่านทั้งหมด ถ้ามองในแง่ดีก็จะเป็นการกำจัดจุดอ่อน และเปิดให้บุคคลที่จะเข้ารับการสรรหาชุดใหม่ว่าจะต้องมีคุณสมบัติเพียงพอในด้านประสบการณ์แค่ไหน ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนคุณสมบัติของผู้ได้รับการสรรหาการเป็น กกต. สูงกว่า กกต.ชุดเดิม เเละเมื่อคุณสมบัติสูงมากขนาดนี้ บุคคลที่อยู่ในเงื่อนไขก็จะน้อยลง

Advertisement

เมื่อถามว่า มองว่าการลงมติของ สนช. ในครั้งนี้ที่อ้างเรื่องการลงคะแนนลับของว่าที่ กกต.สองคนสายศาลเป็นการหักหน้าที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาหรือไม่ เนื่องจากประธานศาลฎีกาเป็นทั้งประธานในที่ประชุมศาลฎีกาและประธานคณะกรรมการสรรหา กกต.ทั้งหมด

แหล่งข่าวกล่าวว่า การลงคะแนนลับดังกล่าว ทางที่ประชุมศาลฎีกาก็ยืนยันแล้วว่าเป็นการลงคะแนนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อยืนยันไปแล้วก็เป็นหน้าที่ของสภาที่จะจัดการ ที่มีการกล่าวอ้างว่า สนช.ไม่ผ่านเพราะเรื่องการลงคะแนนลับมีปัญหา นั้นเป็นเรื่องที่ไม่เป็นทางการ เป็นการพูดไปเอง จริงหรือไม่ก็ไม่รู้ จึงไม่น่ามีปัญหาแม้ว่าประธานศาลฎีกาจะเป็นประธานของทั้งสองคณะทำงาน ก็ถือว่าเป็นไปตามขั้นตอน ถ้า สนช.ไม่ผ่านก็คัดเลือกใหม่เท่านั้นเอง ในอดีตที่ผ่านมาก็เคยมีที่ศาลฎีกาส่งไปแล้วสภาไม่เอา แต่การที่ไม่เอาทั้ง 7 คนครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรก แต่การที่ สนช.มีมติออกมาลักษณะนี้เชื่อว่าเป็นการปลดล็อกกันข้อโต้แย้ง ข้อครหา ที่อาจจะมาไม่จบสิ้นก็มองว่าเป็นการเเก้ปัญหาที่ดี

เมื่อถามต่อว่า คาดว่าในกลุ่มผู้พิพากษาเมื่อทราบมติ สนช.จะมีปฏิกิริยาอย่างไรบ้าง แหล่งข่าวกล่าวว่า ส่วนใหญ่ผู้พิพากษามองว่าตรงนี้เป็นหน้าที่ใครหน้าที่มัน เพียงแต่ต้องกลับมาคัดเลือกใหม่ เริ่มต้นใหม่ และก็ต้องทำให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง ตรงนี้ต่อไปการลงคะเเนนคงต้องมีการถกเถียงถึงวิธีการสรรหา วิธีการคัดเลือกลงคะแนนเสียง ทำให้สมบูรณ์ขึ้นกว่าเดิม เเละเปิดเผยชัดเจนไม่ให้มีข้อครหา

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image