จำคุก 2 ปี ‘หม่อมหลวงอุบลวดี เลิศอร่ามรัตน์’ฉ้อโกงเงินคอนเสิร์ตการกุศล

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ศาลแขวงปทุมวัน ถนนพระราม 4 อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.630/2559  ที่บริษัทมาสเตอร์พีช ออร์กาไนเซอร์ จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องหม่อมหลวงอุบลวดี เลิศอร่ามรัตน์ หรือชยางกูร ผู้รับจ้างแบบรับเหมาจากสมาคม,นางอัญชลี คณฑีวงษ์ เจ้าหน้าที่ของสมาคมศิษย์เก่า ดูแลงานประชาสัมพันธ์ และนายอนุชิต ธีระสมานนท์ ผู้สื่อข่าวช่อง 11 (ในฐานะรับจ้างจัดงานคอนเสิร์ต) เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง

โดยคำฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2559-1 พฤษภาคม 2559 จำเลยทั้ง 3 ร่วมกันทุจริตแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดความจริง คือ จำเลยทั้ง 3 ขอให้โจทก์ช่วยดูแลจัดงานคอนเสิร์ต ชื่อว่า “สร้างรอยยิ้มเพื่อผู้ยากไร้และด้อยโอกาส ซึ่งคณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยมูลนิธิคณะทันตแพทย์ศาสตร์และสมาคมศิษย์เก่าทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล” โดยทั้ง 3 หลอกลวงว่าไม่มีงบประมาณในการจัดงานเป็นงานการกุศล แต่ความจริงแล้วการจัดงานดังกล่าวผู้จัดงานมีงบประมาณค่าใช้จ่าย ซึ่งโจทก์หลงเชื่อและออกเงินจำนวน 700,315 บาท โดยจำเลยทั้ง 3 รับเงินจำนวนดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริต ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 83 เหตุเกิดที่แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กทม.

จำเลยทั้ง 3 ให้การปฏิเสธ ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์และจำเลยนำสืบแล้ว เห็นว่าการนำสืบของโจทก์ปรากฏว่า นายประดิษฐ์ สมดังเจตน์ กรรมการผู้มีอำนาจในบริษัทและพยานอื่นๆ เบิกความสอดคล้องต้องกันตั้งแต่ได้พบกับจำเลยทั้ง 3 และได้ติดต่อกับจำเลยที่ 1 และ 2 มาตลอด เมื่อทราบว่าการจัดงานมีงบประมาณจึงโกรธและต่อว่าจำเลยที่ 1 จนกระทั่งฟ้องร้องเป็นคดี รวมถึงสอดคล้องกับคำเบิกความกับพยานปากอื่น จึงไม่เป็นข้อพิรุธ น่าเชื่อว่าเบิกความไปตามความจริงและจากทางนำสืบชี้ให้เห็นว่าพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ได้ทราบจำนวนงบประมาณการจัดงานมาโดยตลอด แต่กลับมานำสืบในชั้นพิจารณา บ่ายเบี่ยงว่าตนมีอำนาจในการบริหารงบประมาณการจัดงานและไม่จำเป็นต้องบอกงบประมาณทั้งหมดให้นายประดิษฐ์ทราบ เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ และรับฟังไม่ได้  จึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้บอกนายประดิษฐ์ว่าการจัดงานมีงบประมาณ และยังมีพฤติการณ์ที่แจ้งค่าจ้างสูงเกินกว่าความเป็นจริง เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงเจตนาทุจริต มุ่งหาประโยชน์จากเงินงบประมาณการจัดงาน ซึ่งจำเลยที่ 1 ควรต้องจ่ายแก่โจทก์

แต่เมื่อโจทก์หลงเชื่อได้ออกค่าใช้จ่ายการจัดงานตามคำหลอกลวง จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 2 แม้ทางนำสืบของจำเลยที่ 2 ทราบดีแต่ต้นว่าทางสมาคมมีงบประมาณจัดเตรียมไว้ แต่ไม่มีอำนาจการตัดสินใจด้านการจัดจ้างหรือทำข้อตกลง จำเลยที่ 2 จึงอาจไม่ต้องเปิดเผยงบประมาณให้โจทก์ทราบ อีกทั้งทางนำสืบของโจทก์ยังฟังไม่แน่ชัดว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 เพื่อปิดบังงบประมาณไม่ให้โจทก์รู้เพื่อจำเลยที่ 1 จะนำผลประโยชน์ดังกล่าวไปเป็นของตนเสียเอง ให้ยกประโยชน์ความสงสัยให้จำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 3 มีการพบกันเมื่อมีการร่วมประชุมกันในวันแถลงข่าวและวันงานคอนเสิร์ตเท่านั้น โดยมีการแนะนำว่าจำเลยที่ 3 เพียงเข้ามาดูแลเรื่องแสง สี และเสียง อาจไม่ทราบแต่แรกถึงที่มาที่ไปของการจัดสรรงบประมาณก็เป็นได้ พยานหลักฐานยังมีความน่าสงสัยตามสมควร ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 3

Advertisement

พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 วงเล็บเดิม จำคุก 2 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และ 3

 ทั้งนี้ ศาลอนุญาตให้ประกันระหว่างอุทธรณ์คดี หลังยื่นหลักทรัพย์เงินสด 2.4 แสนบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านี้เมื่อช่วงกลางปี 2560 สมาคมศิษย์เก่าทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับบริษัท มาสเตอร์พีซ ออร์แกไนเซอร์ จำกัดได้ ร่วมกันเเถลงข่าวยื่นฟ้องจำเลยทั้ง 3 ฐาน ฉ้อโกงเงินจัดคอนเสิร์ตการกุศลสร้างรอยยิ้มเพื่อผู้ยากไร้และด้อยโอกาสฯ โดยจำเลยที่ 1 พยายามเบิกเงินค่าจัดคอนเสิร์ตเต็มจำนวนวงเงิน 3.5 ล้านบาท ทั้งที่ค่าใช้จ่ายจริงไม่ถึง ซึ่งคอนเสิร์ตดังกล่าวมีศิลปินจากทางค่ายเอ็กแซ็กท์มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก เเต่ต่อมามีรายงานว่ามีการเจรจาไกล่เกลี่ยกัน ทำให้สมาคมศิษย์เก่าฯมีการถอนฟ้องคดีเหลือเเต่บริษัทมาสเตอร์พีซ ออร์แกไนเซอร์ ที่ได้ยื่นฟ้องคดีจนมีคำพิพากษาคดีเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image