‘อภิสิทธิ์’เบิกความปากแรก คดีฟ้อง’ธาริต-พวก’ตาม ม.157 กล่าวหาร่วมกันฆ่าคดีสลายม็อบนปช.(คลิป)

เมื่อเวลา09.00น.วันที่6มีนาคม ที่ห้องพิจารณา 909 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดสืบพยานโจทก์นัดแรก คดีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และ ผอ.ศอฉ. เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ พ.ต.ต. ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ. ปิยะ รักสกุล พนักงานสอบสวนดีเอสไอ เป็นจำเลยที่ 1-4 ฐานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,200 กรณีสรุปสำนวนกล่าวหาว่า นายอภิสิทธิ์ และ นายสุเทพ ร่วมกันฆ่าจากเหตุสั่งสลายม็อบแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553

ทนายโจทก์นำนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นเบิกความเป็นพยานปากแรกสรุปว่า ขณะพยานมีตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2553 มีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ก่อความไม่สงบ จึงแต่งตั้งให้นายสุเทพ เป็น ผอ.ศอฉ. เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ หลีกเลี่ยงความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน สั่งเป็นระบบตามกฎหมายเป็นไปตามหลักสากล ไม่มีการสั่งให้ใช้อาวุธกับกลุ่มผู้ชุมนุม แต่จะใช้อาวุธได้เฉพาะป้องกันตัว และรักษาทรัพย์สินและความรุนแรงอื่นๆ ไม่มุ่งเน้นเอาชีวิต โดยยิงปืนในทิศทางที่ต่ำกว่าระดับเข่าลงไป การปฏิบัติงานของ ศอฉ.ทำหน้าที่ไม่เกินกว่าเหตุ เพื่อคลี่คลายสถานการณ์และรักษาความสงบในบ้านเมือง เหตุที่ต้องใช้อาวุธเพราะกลุ่มผู้ชุมนุมมีบุคคลอื่น (ชายชุดดำ) แฝงตัว

นายอภิสิทธิ์ เบิกความว่า ต่อมาหลังการเลือกตั้งปี 2554 พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หัวหน้าพรรคขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 ยังคงดำรงตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ ได้สนองนโยบายรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในการทำลายล้างพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม โดยจำเลยกล่าวหาว่าโจทก์ทั้งสองมีเจตนาสั่งฆ่าประชาชนในระหว่างการชุมนุม ต่อมาจำเลยที่ 1 และ 2 ดำเนินการสอบสวนตนที่ห้องประชุมดีเอสไอ จากนั้นจำเลยที่ 1 ได้แจ้งข้อกล่าวหาโจทก์ทั้งสอง ฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา โดยใช้อำนาจหน้าที่ในการทำร้ายและฆ่าประชาชน โดยมีการแถลงข่าวยืนยันให้สัมภาษณ์เรื่องการแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าวแก่สื่อมวลชน การกระทำของจำเลยเป็นการปฏิบัติหน้าที่กลั่นแกล้งให้โจทก์ทั้งสองได้รับโทษทางอาญา

นายอภิสิทธิ์ เบิกความด้วยว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่ เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงให้โจทก์ทั้งสองได้รับโทษทางอาญาสูงสุด ทั้งที่จำเลยทั้งสี่ทราบดีว่าการทำหน้าที่ของ ศอฉ.เป็นไปตามหลักสากล จำเลยทราบว่าการชุมนุมของกลุ่ม นปช.เป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย แต่กลับบิดเบือนว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยกล่าวหาว่าตนมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยไม่ชอบธรรม นำไปสู่การยัดเยียดข้อกล่าวหาและกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสอง ทั้งนี้จำเลยทั้งสี่ทำหน้าที่สนองความต้องการของผู้นำรัฐบาล

Advertisement

การเบิกความนัดนี้ยังไม่เสร็จสิ้น ศาลนัดสืบพยานโจทก์ปากนายอภิสิทธิ์ต่อในวันที่ 7 มีนาคมเวลา 09.00 น. ภายหลังนายอภิสิทธิ์เดินทางกลับโดยไม่ได้ให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image