ชีวิตพลิกผัน ‘พ.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล’ ตำรวจดาวเด่น เป็นมากกว่ารองผู้การกองปราบ คุมยิ่งกว่ากำลังคอมมานโด!

ชื่อ “พ.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล” นายตำรวจ ที่มียี่ห้อ “คอมมานโดกองปราบ” ถูกพูดถึงอีกครั้งในแวดวงสีกากี ในช่วงการแต่งตั้งโยกย้ายสารวัตร ถึงรองผู้บังคับการ วาระประจำปีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

เมื่อชื่อ พ.ต.อ.ต่อศักดิ์ ฟาสต์แทรกจากตำแหน่งผู้กำกับการปฏิบัติการพิเศษ(ผกก.ปพ.) กองบังคับการปราบปราม หรือ ผกก. คอมมานโด สู่เก้าอี้รองผู้บังคับการกองบังคับการปราบปราม(รองผบก.ป.)

การลุกขึ้นจากเก้าอี้ผู้กำกับฯประเทศไทย ขยับโตขึ้นอย่างรวดเร็วในกองบังคับการปราบปราม หน่วยเกรดเอตำรวจไทย ทำให้นาทีนี้ “พ.ต.อ.ต่อศักดิ์” เป็นหนึ่งนายตำรวจที่ในแวดวงจับตา

ในโลกโซเชียลของชาวสีกากี พ.ต.อ.ต่อศักดิ์ เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ภาพลักษณ์นักบู๊และนักธรรม เดินทางสายบุญและสายบู๊คู่ขนาน เป็นรุ่นพี่ที่สีกากีรุ่นน้อง ลูกน้องให้ความเคารพ

Advertisement

“มติชนออนไลน์” สัมภาษณ์พิเศษ รองผู้การฯกองปราบหมาดๆ อยากรู้จักตำรวจคนนี้มากขึ้น เวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมงกับการสนทนาถึง ชีวิต ที่มา ความคิด ที่หลอมจนเป็นวันนี้ ถึงจุดนี้

พ.ต.อ.ต่อศักดิ์ ปัจจุบันอายุ 54 ปี เกิดเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2507 ที่จังหวัดเพชรบุรี มีพี่น้อง 5 คน เป็นบุตรคนสุดท้อง ของคุณพ่อนิพนธ์-คุณแม่สมนึก สุขวิมล สร้างครอบครัวสมรสกับคุณนิภาพรรณ มีบุตรสาวน่ารัก 2 คน

รองฯต่อเล่าว่า อยากเป็นตำรวจตั้งแต่เด็ก ผ่านโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน บ่อยๆ เห็นพี่ ๆ ใส่เครื่องแบบตำรวจ อยากจะเป็นแบบเขาบ้าง แต่ชีวิตพลิกผันเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ไม่ได้เข้าโรงเรียนเหล่า
เป็นหนุ่มสิงห์แดง รุ่นที่ 38 จบจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียนจบออกมาชีวิตยิ่งออกห่างโลกของตำรวจ เข้าทำงานเป็นเซลล์ ในบริษัทน้ำมันคาลเท็กซ์ เงินเดือนตอนนั้นมากกว่าเงินเดือนข้าราชการตำรวจเท่าตัว มีรถยนต์ใช้ไปทำงาน

Advertisement

“จุดเริ่มต้นการทำงานตอนนั้นได้เรียนรู้การให้บริการ ความรู้ในเรื่องของ Products Knowledge (ความรู้ของนักขายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์) การอ่อนน้อมต่อผู้อื่น ทำงานที่บริษัทได้ประมาณ 7 ปี 6 เดือน ขณะนั้นได้เงินเดือนประมาณ 80,000 บาท รวมทุกอย่างเกือบ 100,000 บาท แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะใจของเราอยากเป็นตำรวจตั้งแต่ยังเด็ก ภาพพี่ๆตำรวจในโรงเรียนนายร้อย สวมเครื่องแบบเป็นภาพที่ฝังใจเรา จึงลาออกมาสานฝันให้สำเร็จ”

“ด้วยวาสนาและความประจวบเหมาะ มีการเปิดสอบตำรวจสายสอบสวน เราก็สอบติด จึงได้เข้าอบรมหลักสูตรการฝึกอบรมผู้มีคุณวุฒิทางด้านนิติศาสตร์รัฐศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์ เพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร สายสอบสวน (กอต.)รุ่นที่ 4 จนได้สวมเครื่องแบบตำรวจอย่างที่ตั้งใจไว้ เมื่อศึกษาจบก็ได้เข้ารับตำแหน่งที่ตำรวจ 191 ในปี 2540 อยู่หน่วย 191 ปีกว่า ในปี 2543 ก็เข้าโรงเรียนสอบสวน เรียนจบสอบได้ที่ 3 กติกาคือเขาคัดเลือกคนที่ได้ที่ 1-2 มาอยู่กองปราบ แต่คนที่ได้ที่ 1 อยู่กองปราบอยู่แล้ว ส่วนที่ 2 ท่านเป็นครู เราจึงได้ย้ายอยู่ในสังกัดกองปราบปราม เป็นห้วหน้าชุดสืบ อยู่งานแผนก 3 กอง 2 รถวิทยุ อยู่ในสังกัดนี้มาประมาณ 18 ปี ออกไปเป็นสารวัตรที่ตำรวจท่องเที่ยวแค่ 1 ปี อยู่สถานี 3 กองกำกับการ 1 ดูแลรถวิทยุฝั่งธน แต่สุดท้ายก็ได้กลับมาเป็น ผบ.ร้อย 3 ที่คอมมานโดคุมภาคเหนือ”

“ผมเป็นสารวัตร 7 ปี ก็เริ่มถวายงานรักษาความปลอดภัยเป็นต้นมา จากนั้นขึ้นรองผู้กำกับการปฏิบัติการพิเศษ 2 ปี และรักษาการผู้กำกับการอีก 2 ปี จนกระทั่งครบ 4 ปี ก็ขึ้น ผกก.ปพ. และสุดท้ายก็ได้รับความไว้วางใจให้รับตำแหน่งรองผบก.ป.”รองต่อเล่าถึงเส้นทางชีวิตจากเซลล์หนุ่มสู่นายตำรวจใหญ่

ช่วงเวลาของการนั่งเก้าอี้ ผกก.ประเทศไทย คุมกำลังหน่วยพิเศษคอมมานโด กุมหัวใจของทีม นั้นยากกว่าการกุมกองกำลัง พ.ต.อ.ต่อศักดิ์ บอกว่า การเข้าไปนั่งในใจลูกน้องกว่า 500 คน ไม่ใช่เรื่องง่าย ประสบการณ์ ความรู้ Products Knowledge สมัยเป็นเซลล์ได้นำมาประยุกต์ใช้  เป็นตำรวจ ถ้ารู้ว่า Products Knowledge ของตำรวจคืออะไร เมื่อรู้ก็ปกครองกันได้

“เราอยู่ในกองปราบมานานเราจะรู้ว่าเด็กต้องการอะไร เพราะตอนที่เราเป็นเด็กเราก็มีสิ่งที่อยากได้ เมื่อวันที่เรามีโอกาสได้ขึ้นมาเป็นผู้นำหน่วยก็ทำสิ่งนั้น เราอยากมีตึกห้องนอนที่สวยงามเพราะมันโทรมมาก จึงได้เปลี่ยนแปลงบูรณาการสถานที่ราชการให้เหมือนโรงแรม ที่ใครมาติดต่อก็จะได้มีสุขภาพจิตที่ดี การคุยราชการก็จะง่ายยิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของจิตวิทยา”

“การบริหารผู้ใต้บังคับบัญชานั้นก็ได้เอาหลักทฤษฎีที่เรียนปริญญาโทมาปรับใช้ คือ 1.ทฤษฎีภาวะผู้นำ 2.ทฤษฎีแรงจูงใจ 3.ทฤษฎีความต้องการของมนุษย์ และต้องคิดเสมอว่าอย่าคิดว่า “หลักกูมันจะใช้ได้” มันคือความรู้สึกแค่ตัวเราเพียงคนเดียว แต่หลักวิชาการนั้นได้การทำการวิจัยและการพิสูจน์ทราบแล้ว จึงนำทุกอย่างมาปรับใช้

สำหรับผู้ใต้บังคับบัญชา หรือทีม รองฯต่อบอกว่า หลักคือต้องปลูกฝังให้ตำรวจมีเซอร์วิสมายด์ มีจิตใจในการให้บริการ ต้องมองในเรื่องการช่วยเหลือดูแลประชาชนด้วย

“ให้เขามีจิตสาธารณะ เพราะอยากให้ลูกน้องเข้าถึงจิตวิญญาณของการเป็นตำรวจที่ดี ปลูกฝังลูกน้องมาโดยตลอดว่าการปฏิบัติธรรมนั้นเป็นเรื่องที่ดี และการปฏิบัติธรรมจะช่วยให้เรามองโลกง่ายดี เรากล้าพูดว่าเราไม่มีศัตรู เขาไม่ดีอย่างไรเราก็อย่าไปทำตามเขา พยายามมองในส่วนดีของเขา เราต้องไม่ยึดติด

“ไพร่พลเลวไม่มีหรอก แต่มีแม่ทัพนายกองเลว”พ.ต.อ.ต่อศักดิ์ ย้ำถึงหลักคิดผู้นำ

“หากเราเป็นผู้นำที่ดีก็จะทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาซึมซาบพฤติกรรมนั้น นอกจากนี้ก็ยังทำให้ประชาชนเห็นถึงแง่มุมที่ดีของตำรวจ เสียงตำรวจเสียงเดียวมันไม่ดัง แต่เสียงของพี่น้องประชาชนดังเสมอ”

“ตำรวจก็เหมือนผ้าขาว ผ้าดี ในหน้าหนาวก็สามารถเป็นผ้าห่มที่อบอุ่นให้ประชาชนได้ หน้าร้อนก็เหมือนผ้าแพร กันแดดกันฝนให้กับประชาชนได้ แต่มันดันมีจุดหมึกที่มันเปื้อนเพียงแค่จุดเดียว แต่คนก็โฟกัสเพียงแค่จุดหมึกนั้นว่าแล้วก็บอกว่า ผ้านั้นมันสกปรกแต่ทำไมเราไม่มองผ้าทั้งผืนล่ะว่าผ้านั้นมันสามารถทำอะไรได้บ้าง ซึ่งมันไม่ยุติธรรม แต่การที่จะทำให้จุดหมึกนั้นมันจางลง เราก็ต้องใส่ไฮเตอร์ เข้าไป ซึ่งเปรียบเสมือนในชีวิตจริงของคนเรานั้นคือการปฏิบัติธรรม” รองฯต่อเปรียบเปรย และบอกว่า เสร็จจากภารกิจหรือยามว่างก็จะต้องปฏิบัติธรรม ไม่ใช่แค่ตนเอง ทีมงานน้องๆ จะต้องบวชอย่างน้อย 2 เดือน เพื่อสร้างเสริมให้มีใจใฝ่ธรรมะยิ่งขึ้น

“ทุกความสำเร็จนั้นไม่ใช่เพราะเราเป็นคนทำทั้งหมด แต่เพราะองค์กรมันขับเคลื่อน ระบบการทำงานของตำรวจก็เหมือนเข็มนาฬิกา มีเข็มนาที เข็มวินาที ชั้นประทวนคือเฟือง ดังนั้นจึงสอนลูกน้องทุกคนว่าให้ดูลงไปถึงข้างล่าง เอาใจเขามาใส่ใจเราให้มาก”

พ.ต.อ.ต่อศักดิ์ ถ่ายทอดแนวคิด แนวทำ แนวทาง สะท้อนให้เห็น เหตุและผลที่ทำให้วันนี้ นายตำรวจชื่อ “ต่อศักดิ์ สุขวิมล” ถูกพูดถึงและน่าจับตามากที่สุดคนหนึ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image