พลิกกฎหมาย เปิดระเบียบ ‘ถอดยศตำรวจ’ ย้อนรอย ‘บิ๊กเนม’ ดาวหลุด!!

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) โดย พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ด้านบริหาร ในฐานะหัวหน้าชุดคลี่คลายคดีสืบเนื่องจากปฏิบัติการค้นตลาดใหม่ดอนเมือง ออกมาระบุว่า กำลังดำเนินการพิจารณา ถอดยศตำรวจ ‘พ.ต.ท.สันธนะ ประยูรรัตน์ อดีตรองผู้กำกับการตำรวจสันติบาล’ ผู้ต้องหาในคดีร่วมกันกรรโชกทรัพย์ ตัวละครหลักในคดีทลายตลาดใหม่ดอนเมือง

ในทางคดี ขณะนี้ พ.ต.ท.สันธนะ อยู่ในสถานะได้รับการประกันตัวในชั้นศาล หลังตำรวจส่งตัวฝากขัง ภายใต้เงื่อนไข ห้ามยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานและห้าทเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาต

หลังได้รับการประกันตัว พ.ต.ท.สันธนะ ยังคงเคลื่อนไหวต่อเนื่อง แม้ท่วงท่าทำนองจะอ่อนลง ไม่ดุดัน ฉะ แฉ เมื่อเทียบกับช่วงก่อนถูกควบคุมตัวดำเนินคดี แต่ก็เป็นการเคลื่อนไหว ที่สำคัญเมื่อเดินหน้ายื่นหนังสือจะดำเนินการฟ้องร้อง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อม 2 บิ๊กสีกากี โดยระบุเป็นคู่ขัดแย้ง ทำให้ตนเองและบุพการีต้องถูกดำเนินคดี และลั่นจะดำเนินการทางคดีกับผู้ค้าที่กล่าวหาตนให้ต้องรับโทษ!?

นาทีนี้ “สันธนะ ประยูรรัตน์” กำลังจะถูกถอดยศตำรวจ!!

Advertisement

การถอดยศตำรวจ กำหนดไว้ใน พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 และ ระเบียบสํานักงานตํารวจแห่งชาติว่าด้วยการถอดยศตํารวจ พ.ศ.2547

ในอดีตมีตำรวจและอดีตตำรวจหลายนาย ถูกถอดยศ

“ทักษิณ ชินวัตร” หรืออดีต พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นหนึ่งในนั้น

Advertisement
5 กันยายน 2558 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 26 /2558 เรื่อง การดําเนินการเพื่อถอด พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ออกจากยศตํารวจ มีผลนับตั้งแต่วันถัดจากประกาศในราชกิจจาฯ
ใจความว่า ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รายงานและเสนอเรื่อง การถอด พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ออกจากยศตำรวจ ในกรณีความผิดปรากฎชัดดตามคำพิพากษาศาลถึงที่สุดแล้วว่า มีความผิดและยังมีข้อหาความผิดอาญาอื่นๆ อีกหลายฐาน ซึ่งเป็นการเสื่อมเสีย หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นกรณีกระทบต่อความมั่นคงของชาติและมีความจำเป็นต้องดำเนินการเป็นการด่วน ทั้งได้ตรวจสอบข้อกฎหมายตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ. 2547 และข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่ามีมูล สมควรใช้อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคำสั่งให้ถอด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกจากยศตำรวจ ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

รายล่าสุด เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 12 ธันวาคม 2560 ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระราชานุญาตให้ถอดยศตํารวจ และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตำรวจ 3 นาย เนื่องจากกระทําผิดวินัยอย่างร้ายแรงและถูกลงโทษไล่ออกจากราชการ จํานวน 2 ราย กระทําผิดอาญาจนถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจําคุก จํานวน 1 ราย

15 กันยายน 2560 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา แพร่ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระราชานุญาตให้ถอดยศตํารวจและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ โดยมีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชานุญาตให้ถอด พล.ต.ต.วิสุทธิ์ วานิชบุตร อดีตข้าราชการตํารวจ ออกจากยศตํารวจ ตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2558 ซึ่งเป็นวันที่มีคําพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจําคุกในความผิดต่อประมวลกฎหมายที่ดิน ตามมาตรา28 แห่งพระราชบัญญัติตํารวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ประกอบระเบียบสํานักงานตํารวจแห่งชาติฯ
3 มีนาคม 2559 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถอดยศตํารวจและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถอด พ.ต.ท.ไกรพิชญ์ หิรัญชัยเดชาธรณ์ ออกจากยศตํารวจ ตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2558 ซึ่งเป็นวันที่ถูกลงโทษปลดออกจากราชการ เนื่องจากกระทําความผิดคดีอาญาในความผิดฐานฆ่าผู้อื่น

7 มกราคม 2559 มีประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถอดยศตํารวจและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถอดอดีตข้าราชการตํารวจออกจากยศตํารวจ ตั้งแต่วันที่มีคําสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ เนื่องจากกระทําผิดวินัยอย่างร้ายแรง และถูกลงโทษไล่ออกจากราชการ จํานวน 7 ราย ตั้งแต่ยศ พ.ต.อ. ถึง ร.ต.ต. และวันเดียวกันประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถอดยศตํารวจ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถอดอดีตข้าราชการตํารวจ ออกจากยศตํารวจ เนื่องจากกระทําผิดวินัยอย่างร้ายแรง และถูกลงโทษไล่ออกจากราชการ จํานวน 2 ราย

ขณะที่ตรวจสอบข้อมูลจากปี 2558 ย้อนไปจนถึงปี 2547 มีการถอดยศตำรวจสัญญาบัตรมากกว่า 40 ราย

กฎหมายตำรวจ “พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547” ในมาตรา 28 ระบุว่า การถอดหรือการออกจากยศตํารวจชั้นสัญญาบัตร ให้เป็นไปตามระเบียบ สํานักงานตํารวจแห่งชาติติและให้ทําโดยประกาศพระบรมราชโองการ และในมาตรา 29 การให้ออกจากว่าที่ยศตํารวจชั้นสัญญาบัตร หรือการถอดหรือการออกจากยศตํารวจชั้นประทวน ให้ผู้มีอํานาจสั่งตามกฎหมาย แล้วแต่กรณีสั่งได้ตามระเบียบสํานักงานตํารวจแห่งชาติ

มติชนออนไลน์ เปิดระเบียบ ระเบียบสํานักงานตํารวจแห่งชาติว่าด้วย การถอดยศตํารวจ พ.ศ. 2547 ออกโดย พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในขณะนั้น

“เนื่องจากผู้ที่ดํารงอยู่ในยศตํารวจ สมควรจะประพฤติหรือวางตนให้เหมาะสมแก่เกียรติศักดิ์ มิฉะนั้น ย่อมเป็นทางนําความเสื่อมเสียมาสู่หมู่คณะ  โดยเหตุผลดังกล่าว หากผู้ใดประพฤติหรือวางตนให้เหมาะสมแก่เกียรติศักดิ์ไม่ได้ ก็ไม่สมควรจะดํารงอยู่ในยศตํารวจต่อไป”  ความนำในระเบียบว่าด้วยการถอดยศตำรวจ

การเสนอขอถอดยศตํารวจทั้งแก่ผู้อยู่ในราชการตํารวจ และที่พ้นจากราชการตํารวจไปแล้วให้กระทําได้เมื่อ มีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
1. ต้องคําพิพากษาของศาลถึงที่สุด ว่าทุจริตต่อหน้าที่ ราชการ แม้ศาลจะพิพากษารอการกําหนดโทษ หรือกําหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ก็ตาม
2. ต้องคําพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้ลงโทษจําคุก หรือโทษที่ หนักกว่าจําคุก เว้นแต่ความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท
3. ต้องคําพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย เพราะก่อให้เกิดหนี้สินขึ้นโดยทุจริต
4.กระทําผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงและมีคําสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ
5. ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง สําหรับผู้ที่มิได้อยู่ในราชการหรือหน่วยงานของรัฐ
6.ต้องหาในคดีอาญาแล้วหลบหนีไป สําหรับผู้ที่มิได้อยู่ในราชการหรือหน่วยงานของรัฐ
7.ถูกสั่งให้ออกจากราชการ เพราะขาดคุณสมบัติมาตั้งแต่ก่อนได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการตํารวจ

สำหรับหน้าที่ความรับผิดชอบในการพิจารณาและดําเนินการถอดยศตํารวจ นั้น ในระเบียบฯ ระบุว่าข้าราชการตํารวจชั้นสัญญาบัตร ให้กองวินัย หรือผู้บังคับบัญชาที่ได้รับมอบอำนาจในการดําเนินการทางวินัยมีหน้าที่รับผิดชอบในการพิจารณาว่า ผู้ใดมีเหตุที่จะต้องดําเนินการถอดยศ แล้วแจ้งผลการพิจารณาพร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้กองทะเบียนพลดําเนินการรวบรวมเสนอ ตร.

กรณีข้าราชการตํารวจชั้นประทวนให้มีผู้อำนาจแต่งตั้ง ยศเป็นผู้รับผิดชอบในการพิจารณาวว่าใดมีเหตุที่จะต้องดําเนินการถอดยศ แล้วดําเนินการสั่งถอดยศ พร้อมทั้งรายงานให้ ตร.ทราบ

ความโดยสังเขป ตามกฎหมาย ระเบียบว่าด้วยการถอดยศตำรวจ

สำหรับ พ.ต.ท.สันธนะ แล้ว พฤติกรรม พฤติการณ์ ที่ปรากฏในขณะนี้ เข้าข่าย จะนำไปสู่การถอดยศตำรวจได้หรือไม่ เร็วๆนี้คงความชัดเจนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ !?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image