อัยการศาลเเขวง เลื่อนนัดฟังคำสั่ง MBK 39 ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. เป็น 26 มิ.ย.

แฟ้มภาพ

อัยการศาลเเขวง เลื่อนนัดฟังคำสั่ง MBK 39 ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. เป็น 26 มิ.ย.หลังอัยการเจ้าของสำนวนสั่งไม่ฟ้องคดีไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ รองโฆษกอัยการเผย คดีอยู่ระหว่าง อธ.อัยการศาลเเขวงพิจารณาสำนวนส่งต่อ อสส.สั่งคดี

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ที่สำนักงานอัยการศาลเเขวงปทุมวัน พนักงานอัยการศาลแขวงปทุมวัน นัดฟังคำสั่งในคดีที่ พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ยื่นสำนวนพร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้อง 24 ผู้ต้องหาคนอยากเลือกตั้ง ชุด MBK39 ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องชุมนุมเกิน 5 คนในรัศมี 150 เมตรจากเขตพระราชฐาน ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ

ซึ่งก่อนหน้านี้ นายเกริกเกียรติ รัฐนวธรรม อัยการเจ้าของสำนวนได้มีความเห็นไปเมื่อวันที่ 9 มีนาคม เห็นว่าคดีมีมูลการกระทำของผู้ชุมนุมเป็นการฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. แต่ยังเห็นว่าการชุมนุมดังกล่าวหากฟ้องไปนั้นจะไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เลยมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 21 วรรคสอง ประกอบกับระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งไม่ฟ้องคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ พ.ศ.2554

ตามขั้นตอนการสั่งคดีดังกล่าวยังมีขั้นตอนปฏิบัติที่จะต้องส่งสำนวนพร้อมความเห็นดังกล่าว เสนอสำนวนผ่านอธิบดีอัยการคดีสำนักงานคดีศาลแขวง และอัยการสูงสุดเป็นผู้สั่งคดีคนสุดท้ายตามขั้นตอน

Advertisement

โดยในวันนี้ซึ่งเป็นวันนัดฟังคำสั่ง

นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษก สำนักงานอัยการสูงสุดเปิดเผยว่า ทางอัยการศาลเเขวงได้เลื่อนการนัดฟังคำสั่งออกไปเป็นวันที่ 26 มิถุนายน เนื่องจากกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของอธิบดีอัยการคดีสำนักงานคดีศาลเเขวงตามระเบียบเพื่อเสนอสำนวนตามขั้นตอน

นายประยุทธกล่าวอีกว่า สำหรับคดีที่พนักงานอัยการเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 21 วรรคสอง ระบุว่า หากพนักงานอัยการเห็นว่าสำนวนคดีที่อยู่ในการพิจารณาไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะให้มีอำนาจที่จะสั่งไม่ฟ้องคดีได้ ตามกฎหมาย โดย พ.ร.บ.อัยการฯ ใหม่ปี 53 เขียนไว้ชัดเจนว่า ความผิดที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะนี้ให้ส่งให้อัยการสูงสุดเป็นผู้สั่งคดีอีกครั้ง หากอัยการสูงสุดพิจารณาแล้วมีความเห็นสั่งคดีอย่างไรก็ถือเป็นที่สิ้นสุด

ทั้งนี้ ในส่วนคดีอาญาทั่วไป ถ้าอัยการสั่งไม่ฟ้องก็จะต้องส่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) หรือผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค (ผบช.ภ.) ให้ทำความเห็น หากตำรวจยังเห็นแย้งถึงส่งให้อัยการสูงสุดชี้ขาด

แต่ถ้าเป็นความผิดประเภทคดีที่ไม่เป็นประโยชน์สาธารณะ กฎหมายเขียนให้อัยการสูงสุดที่มีอำนาจสั่งคดีสูงสุดเป็นคนสั่งคดีเอง จึงไม่ต้องส่งให้ใครทำความเห็นแย้งส่งมาอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image