หนุ่มเครียด ปีนห้องขังศาล หวั่นติดคุกห่วงลูก 2 ขวบ จนท.เกลี้ยกล่อม ศาลให้ประกันติดกำไลEM

(แฟ้มภาพ)

จากที่มีการรายงานสถานการณ์ผ่านทวิตเตอร์ ระบุว่า เมื่อเวลา 15.10 น.วันที่ 6 มิถุนายน มีผู้จะกระโดดจากที่สูง ภายในศาลอาญากรุงเทพใต้พื้นที่เขตสาทร เจ้าหน้าที่สถานีดับเพลิงยานนาวาอยู่ระหว่างตรวจสอบนั้น

ล่าสุด เมื่อเวลา 16.00 น.วันที่ 6 มิถุนายน ได้รับข้อมูลชี้แจงจากศาลอาญากรุงเทพใต้ ที่ตั้ง ถ.เจริญกรุง 63 ว่า กรณีดังกล่าวเป็นสถานการณ์ที่ผู้ต้องหาชาย อายุ 35 ปี ซึ่งถูกยื่นฟ้องคดีเกี่ยวกับความผิดต่อเสรีภาพ (พรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร) แล้วเกิดความเครียด ระหว่างถูกควบคุมตัวในห้องคุมขัง ภายในอาคารศาลอาญากรุงเทพใต้ ที่บริเวณชั้น 1 ซึ่งผู้ต้องหาชายมีการอาการเครียดเพราะเป็นห่วงเรื่องการประกันตัว ได้ปีนซี่ลูกกรงห้องคุมขังที่มีความสูงประมาณ 3 เมตรที่อยู่ภายในอาคาร กระทั่งเจ้าหน้าที่ช่วยกันเกลี้ยกล่อมพูดคุย จนผู้ต้องหาชายนั้นได้สติคืนมาจึงนำตัวลงมาพูดคุยอีกครั้ง ซึ่งการพูดคุยผู้ต้องหาและซักถามญาติ จึงทราบว่าผู้ต้องหามีอาการป่วยเป็นโรคซึมเศร้า บวกกับความเครียดกลัวว่าจะไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว เพราะกังวลเรื่องที่จะต้องดูแลบุตรสาววัย 2 ขวบ ที่ป่วยโรคทางเดินหายใจด้วย ส่วนภรรยาก็เดินทางไปๆ มาๆ ไม่ได้อยู่ด้วยกัน

ขณะที่เจ้าหน้าที่และศาลก็ได้แจ้งให้ผู้ต้องหาและญาติทราบถึงแนวทางการประกันตัว ซึ่งขณะนี้ศาลอาญากรุงเทพใต้ ก็เป็น 1 ในศาลนำร่องใช้ระบบประเมินความเสี่ยง และกำไลข้อเท้า EM ในการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องมีหลักประกัน หรือกรณีหลักประกันไม่เพียงพอ สำหรับผู้มีฐานะยากจนที่ต้องผ่านการประเมินความเสี่ยงที่จะไม่หลบหนี

เจ้าหน้าที่ศาลก็ได้นำตัวผู้ต้องหาชายที่ถูกฟ้องเป็นจำเลยแล้ว มาสอบถามประวัติและตอบคำถามตามขั้นตอนการประเมินความเสี่ยง เพื่อพิจารณาการปล่อยชั่วคราวว่าจะเป็นแนวทางอย่างไร

Advertisement

ต่อมา มีรายงานล่าสุดแจ้งว่า ศาลได้พิจารณาผลการประเมินความเสี่ยงประกอบการใช้ดุลพินิจแล้ว ก็ให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยชายคนดังกล่าวไป โดยคดีที่ฟ้องนั้นอัตราโทษสูงเกินกว่า 10 ปี ซึ่งเกณฑ์วงเงินประกันปกติจะอยู่ที่ 150,000 บาท แต่ศาลใช้ดุลพินิจแล้วจึงให้วางเงินประกันจำนวน 20,000 บาท พร้อมกับติดกำไลข้อเท้า EM

ทั้งนี้ สำหรับแนวทางการพิจารณาสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราว กรณีมีการแสดงความประสงค์ขอใช้อุปกรณ์ (กำไลข้อเท้า) EM มีได้ 2 กรณี

1.กรณีคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 5 ปี ศาลอาจจะปล่อยชั่วคราวได้ โดยไม่ต้องมีหลักประกันและให้ใช้ EM ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณา

Advertisement

2.กรณีคดีมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 5 ปี ศาลจะสั่งปล่อยชั่วคราวได้ โดยจะต้องให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยทำสัญญาประกันและวางหลักประกัน ส่วนกรณีที่มีหลักประกันไม่เพียงพอ ศาลอาจสั่งใช้ EM ได้ หรือศาลอาจลดวงเงินประกันเหลือ 20 % ของเกณฑ์ประกันนั้น ร่วมกับการใช้ EM

อย่างไรก็ดี การใช้อุปกรณ์ (กำไลข้อเท้า) EM ของศาลยุติธรรมนั้น เริ่มมาแล้วตั้งแต่เดือน มี.ค.61 ในศาลนำร่อง ศาลอาญา , ศาลอาญากรุงเทพใต้ และศาลอาญาธนบุรี กับศาลในภูมิภาคทั่วประเทศรวม 23 แห่งจากจำนวนเครื่องที่มีทั้งหมด 5,000 เครื่อง โดยมีศูนย์ควบคุมและติดตามการปล่อยตัวชั่วคราวโดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring Center) ที่ติดตั้งจอภาพขนาดใหญ่จำนวนมากคล้ายศูนย์ปฏิบัติการจราจรขนาดใหญ่ ที่แสดงพิกัดของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ใส่กำไล EM เพื่อจะติดตามดูพิกัดตำแหน่งในของกำไล EM ที่ใช้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศว่าตำแหน่งที่อยู่คือจุดใด ออกนอกพื้นที่หรือไม่ ซึ่งศูนย์นั้นตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ศาล ย่านรัชดาภิเษก

สำหรับ 23 ศาลนำร่องใช้อุปกรณ์ (กำไลข้อเท้า) EM ประกอบด้วย ศาลอาญา 600 เครื่อง , ศาลจังหวัดมีนบุรี 600 เครื่อง , ศาลอาญากรุงเทพใต้ 300 เครื่อง , ศาลอาญาธนบุรี 300 เครื่อง , ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง 50 เครื่อง และ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 1 (จ.สระบุรี) , ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 3 (จ.สุรินทร์) ,ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 4 (จ.ขอนแก่น) , ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 5 (จ.เชียงใหม่) , ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 6 ( จ.พิษณุโลก) ,ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 8 (จ.นครศรีธรรมราช) และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 9 ( จ.สงขลา) อีกศาลแห่งละ 50 เครื่อง , ศาลจังหวัดจันทบุรี 300 เครื่อง ,ศาลจังหวัดพัทยา 200 เครื่อง, ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ 200 เครื่อง, ศาลจังหวัดขอนแก่น 200 เครื่อง , ศาลจังหวัดเชียงใหม่ 300 เครื่อง , ศาลจังหวัดพิษณุโลก 200 เครื่อง ,ศาลจังหวัดนครปฐม 300 เครื่อง , ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช 300 เครื่อง , ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี 300 เครื่อง และ ศาลจังหวัดสงขลา 300 เครื่อง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image