ศาลปค.สูงสุดพิพากษาแก้ให้กรมอุทยานชดใช้ ‘ปู่คออี้’-พวก 4-5 หมื่น แต่ห้ามเข้าอุทยานแก่งกระจาน

นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 10 (อุดรธานี)

เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 12 มิถุนายน ที่ศาลปกครอง ถนนเเจ้งวัฒนะ ศาลปกครองกลางได้อ่านคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ อส.77/2559 หมายเลขแดงที่ อส.4/2561 ซึ่งนายโคอิ หรือคออี้ มีมิ กับพวกรวม 6 คน ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กับพวกรวม 2 คน ขอให้ชดใช้ค่าเสียหายจากกรณีพนักงานเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 รื้อถอนเผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีทั้งหกที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

โดยศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การใช้อำนาจตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ของพนักงานเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในการรื้อถอนเผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีทั้งหก แม้จะเป็นมาตรการหรือวิธีการที่มีผลทำให้การป้องกันและปราบปรามการบุกรุกยึดถือครอบครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติ ตลอดจนการอื่นที่เป็นความผิดต่อกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติบรรลุผลตามวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ของกฎหมายก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวมิได้ให้อำนาจดุลพินิจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในอันที่จะเลือกใช้มาตรการบังคับทางปกครองอย่างใดก็ได้ตามอำเภอใจหรือโดยพลการ โดยเฉพาะการรื้อถอนเผาทำลายทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้อยู่อาศัย ย่อมมีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิในทรัพย์สินหรือสิทธิอื่นใดของผู้ฟ้องคดีทั้งหกอย่างรุนแรง และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกเกินสมควร

เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาไว้ซึ่งประโยชน์สาธารณะ กรณีเช่นนี้พนักงานเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ยิ่งสมควรต้องออกคำสั่งทางปกครองเป็นหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทั้งหกจัดการกับสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินของตนเสียก่อน

และแม้ผู้ฟ้องคดีทั้งหกจะมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวก็ยังไม่อาจใช้มาตรการบังคับทางปกครองดำเนินการหรือมอบหมายให้บุคคลอื่นเข้าทำลายหรือรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างได้ในทันที ยังต้องแจ้งคำเตือนเป็นหนังสือให้ผู้ฟ้องคดีทั้งหกกระทำการตามคำสั่งภายในระยะเวลาที่กำหนดตามสมควร ระบุค่าใช้จ่ายหรือจำนวนค่าปรับทางปกครอง ระยะเวลาดำเนินการและเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการโดยแจ้งเตือนก่อนเริ่มดำเนินการภายในระยะเวลาอันสมควร พร้อมทั้งปิดประกาศคำสั่งแจ้งเตือนก่อนเริ่มดำเนินการภายในระยะเวลาอันสมควร จัดทำบันทึกการปิดประกาศไว้เป็นหลักฐาน และภายหลังจากดำเนินการแล้ว ก็ต้องจัดทำบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินการ บัญชีทรัพย์สินที่ทำลายหรือรื้อถอน หรือทรัพย์สินอื่นที่ได้เก็บรักษาไว้ในความครอบครองของเจ้าหน้าที่ แผนที่สังเขปบริเวณที่ดำเนินการพร้อมภาพถ่าย แล้วนำเรื่องราวทั้งหมดพร้อมพยานหลักฐานไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ณ สถานีตำรวจภูธรแห่งท้องที่ในทันที

Advertisement

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กำหนดไว้ในคู่มือปฏิบัติงานป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ เมื่อไม่ปรากฏว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ออกคำสั่งเป็นหนังสือสั่งให้ผู้ฟ้องคดีทั้งหกรื้อถอนหรือทำลายสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินของตนออกไปให้พ้นจากอุทยานแห่งชาติ และแจ้งคำเตือนเป็นหนังสือก่อนเข้าดำเนินการ

การรื้อถอนเผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีทั้งหก บริเวณพื้นที่บ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดิน ซึ่งถือเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

จึงเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกถึงผลเสียหายที่จะเกิดจากการกระทำดังกล่าวและเป็นการใช้อำนาจเกินความจำเป็นไม่สมควรแก่เหตุ รวมถึงไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ตลอดจนไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่อง แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ในส่วนของการจัดการทรัพยากรที่ให้ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ข้อพิพาทเรื่องที่ทำกินในพื้นที่ดั้งเดิม ดังนั้น การกระทำของพนักงานเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกอันเป็นการกระทำละเมิด ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 สำหรับการกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกนั้น เห็นว่า โดยที่สิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลย่อมมีสิทธิในการดำรงชีวิตและสิทธิในทรัพย์สิน ไม่มีบุคคลใดที่จะสามารถมีชีวิตอยู่ได้หากปราศจากเครื่องอาศัยยังชีพ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค อันเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต อีกทั้งบุคคลไม่อาจถูกจำกัดแค่การมีชีวิตอยู่เยี่ยงสิ่งมีชีวิตหนึ่งๆ เท่านั้น แต่ต้องดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุขและมีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ด้วย หากสิทธิดังกล่าวถูกลิดรอนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายทำให้เกิดความเสียหาย บุคคลนั้นย่อมต้องได้รับการเยียวยาแก้ไขความเสียหาย

Advertisement

เมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดในคดีนี้ประกอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 สามารถใช้ดุลพินิจไม่ใช้มาตรการที่มีความรุนแรงกระทำต่อสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีทั้งหกได้แม้จะมีกฎหมายให้อำนาจไว้ก็ตาม การเผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินจึงทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งหกต้องสูญเสียปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต ถือเป็นพฤติการณ์ที่มีความร้ายแรงกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิในการดำรงชีวิตและสิทธิในทรัพย์สินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองสูงสุดจึงกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหก ดังนี้ กรณีค่าเสียหายจากการที่สิ่งปลูกสร้างถูกรื้อถอนเผาทำลายกำหนดให้เป็นเงินกึ่งหนึ่งของราคาประมาณการก่อสร้างตามคำชี้แจงของนายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแม่เพรียงเกี่ยวกับการก่อสร้างบ้านและยุ้งฉางของผู้ฟ้องคดีทั้งหก ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือนทั้งหมดเป็นเงิน 5,000 บาท และค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับของใช้ส่วนตัวเป็นเงิน 5,000 บาท

ส่วนกรณีค่าเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิในทรัพย์สินตามรัฐธรรมนูญ ค่าเสียหายจากการถูกละเมิดเสรีภาพในการที่จะอยู่อาศัยและครอบครองเคหสถานโดยปกติสุข ค่าฟื้นฟูจิตใจที่ถูกเผาทำลายบ้านและถูกผลักดันให้จำต้องอพยพมาอยู่ที่บ้านบางกลอยและบ้านโป่งลึก ค่าขาดประโยชน์จากการสูญเสียโอกาสทำการเกษตรในที่ดินทำกินรวมทั้งสิทธิในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และค่าเสียหายจากการสูญเสียอัตลักษณ์ชาติพันธุ์และศักยภาพในการสืบทอดวัฒนธรรมนั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่ได้กำหนดค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหก

สำหรับอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งหกที่ขอให้กลับคืนสู่สภาพเดิมก่อนมีคำสั่งทางปกครองของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 นั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งหกไม่มีสิทธิที่จะอยู่อาศัยในที่ดินพิพาท เนื่องจากที่ดินพิพาทอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และผู้ฟ้องคดีทั้งหกไม่มีหนังสือสำคัญแสดงสิทธิในที่ดินหรือหลักฐานแสดงการได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่อาจกำหนดคำบังคับให้ผู้ฟ้องคดีทั้งหกกลับคืนสู่สภาพเดิม โดยให้กลับไปอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่เดิมได้

การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกแต่ละคนเป็นเงินคนละจำนวน 10,000 บาท ทั้งนี้ ภายใน 30 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก นั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วยบางส่วน

พิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 เป็นเงิน 51,407 บาท ผู้ฟ้องคดีที่ 2 เป็นเงิน 51,032 บาท ผู้ฟ้องคดีที่ 3 เป็นเงิน 51,407 บาท ผู้ฟ้องคดีที่ 4 เป็นเงิน 45,302 บาท ผู้ฟ้องคดีที่ 5 เป็นเงิน 50,807 บาท และผู้ฟ้องคดีที่ 6 เป็นเงิน 51,032 บาท

โดยหากผู้ฟ้องคดีรายใดได้รับค่าสินไหมทดแทนสำหรับสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินกรณีนี้ไปแล้วให้หักออกจากค่าสินไหมทดแทนตามคำพิพากษานี้ ทั้งนี้ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image