ราชกิจจาฯ ประกาศแนวทางปฏิบัติวิชาชีพ พยาบาล – ผดุงครรภ์ หากผู้ป่วยไม่ขอยืดวาระสุดท้าย

ภาพกราฟิกลิขสิทธิ์ของ "มติชนออนไลน์"

ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ แนวทางการปฏิบัติวิชาชีพ พยาบาล – ผดุงครรภ์ เกี่ยวกับหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพื่อยืดวาระสุดท้ายของชีวิต

เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2564 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศสภาการพยาบาล เรื่อง แนวทางการปฏิบัติของผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์เกี่ยวกับหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต (มาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550)

โดยมีความว่า ด้วย สภาการพยาบาล สนับสนุนให้ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ปฏิบัติงานการพยาบาลแก่บุคคลตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 และกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย พ.ศ. 2553 อันเป็นการแสดงความเคารพในสิทธิของบุคคลในการตัดสินใจด้วยตนเองถึงความต้องการครั้งสุดท้ายของชีวิต และหนังสือแสดงเจตนาฯ ดังกล่าวนี้ เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสื่อสารระหว่างผู้ป่วย ญาติ และผู้ให้การรักษาพยาบาลมีความเข้าใจตรงกันในความต้องการของผู้ป่วยเมื่อไม่มีสติสัมปชัญญะแล้ว

คณะกรรมการสภาการพยาบาลในคราวประชุมครั้งที่ 12/2563 วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2563 จึงมีมติให้ประกาศสภาการพยาบาล เรื่อง แนวทางการปฏิบัติของผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์เกี่ยวกับหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต (มาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550) ดังนี้

1. ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ได้รับหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตจากผู้รับการพยาบาล ให้ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลฯ แจ้งให้แพทย์ผู้ให้การรักษาทราบและพิจารณาหนังสือแสดงเจตนาฯ ดังกล่าว

Advertisement

1.1 กรณีแพทย์รับหนังสือแสดงเจตนาฯ ไว้ประกอบแผนการรักษาพยาบาล ให้ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลฯ บันทึกไว้ในบันทึกทางการพยาบาล โดยต้นฉบับหนังสือแสดงเจตนาฯ มอบให้กับผู้รับการพยาบาล และเก็บสำเนาหนังสือแสดงเจตนาฯ ไว้ในเวชระเบียน

1.2 กรณีแพทย์ไม่รับหนังสือแสดงเจตนาฯ แพทย์จะเป็นผู้ชี้แจงเหตุผลการคืนหนังสือแสดงเจตนาฯ

2. ผู้รับบริการขอทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ให้ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลฯ ดำเนินการ ดังนี้

Advertisement

2.1 จัดให้ผู้รับบริการพบแพทย์ผู้ให้การรักษาเพื่อให้แพทย์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดทำหนังสือแสดงเจตนาฯ และการจัดทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ให้เป็นไปตามระเบียบของหน่วยงาน โดยผู้จัดทำไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลฯ

2.2 บันทึกข้อมูลไว้ในบันทึกทางการพยาบาล โดยต้นฉบับหนังสือแสดงเจตนาฯ มอบให้กับผู้รับบริการ และเก็บสำเนาหนังสือแสดงเจตนาฯ ไว้ในเวชระเบียน

ที่มา – http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/083/T_0018.PDF

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image