แกนนำทวงคืน 2 ทับหลัง แนะทำจำลองติดตั้งโบราณสถาน ของจริงเก็บในพช.ในท้องถิ่น

แกนนำทวงคืน 2 ทับหลัง แนะทำจำลองติดตั้งโบราณสถาน ของจริงเก็บในพช.ในท้องถิ่น

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม สืบเนื่องจากภารกิจทวงคืนทับหลัง 2 ชิ้น จากสหรัฐอเมริกา ได้แก่ ทับหลังปราสาทหนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ และ ทับหลังปราสาทเขาโล้น จ.สระแก้ว โดยมีพิธีมอบคืนอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น ก่อนเตรียมจัดแสดงในพื้นที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เพื่อให้ประชาชนยลโฉมเป็นเวลา 3 เดือน นั้น

นายทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระ กลุ่มสำนึก 300 องค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี ให้ความเห็นถึงแนวทางอนุรักษ์โบราณวัตถุทั้ง 2 ชิ้น ภายหลังจัดแสดง ที่ พช.พระนคร ว่า เนื่องจากกรมศิลปากร เตรียมปราสาทสำหรับติดตั้งทับหลังไว้แล้ว คือ ปราสาทที่หักพังลงไป ได้รับการบูรณะคืนทั้ง 2 หลัง โดยเฉพาะปราสาทเขาโล้น มีการบูรณะเพิ่มเติมเพื่อที่จะรอการกลับคืนมา เพราะเรารู้แน่ชัดว่า ชนะคดีเรื่องนี้แน่นอน เพราะหลักฐานต่างๆ แสดงให้เห็นเป็นอย่างนั้น เมื่อประสบความสำเร็จตรงนี้แล้ว ก็ควรจะกลับคืนไปติดตั้งที่ตัวโบราณสถาน แต่เนื่องจากว่า โบราณสถานทั้ง 2 หลัง โดยเฉพาะปราสาทเขาโล้น ห่างไกลชุมชนมาก ถ้าหากเอาของจริงไปติดตั้ง ก็อาจได้รับผลกระทบกระเทือน มีเรื่องความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอีก เช่น จากการเขียน ซึ่งห้ามนักท่องเที่ยวได้ยากมาก เพราะเป็นปราสาทที่อยู่บนเขาโดดๆ ไม่มีการดูแลรักษาเท่าที่ควร

ส่วนปราสาทหนองหงส์ แม้ว่าจะอยู่ในเขตของสถานการศึกษา คือ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี โนนหินแดง และไม่ห่างไกลสายตาคนนัก แต่เอาเข้าจริงแล้ว ก็ไม่มีใครเข้าไปบริหารจัดการตรงนั้นอยู่ประจำ ทางท้องถิ่นเอง เทศบาลก็เข้าไปตัดหญ้า ซึ่งตนเห็นว่า ยังไม่พอที่จะรักษาความปลอดภัยของทับหลังจริงได้ ฉะนั้น ทั้ง 2 แห่ง การเอากลับคืนไปสู่โบราณสถาน ควรจะจำลองไปติดตั้ง ซึ่งการจำลองด้วยมาตรฐานของกรมศิลปากรก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะทำได้เหมือน อีกทั้ง การจำลองจะเป็นผลดีต่อตัวโบราณวัตถุมากที่สุด

“แม้ว่าจะเป็นโบราณวัตถุไปแล้ว ไม่ใช่องค์ประกอบของโบราณสถานอีกต่อไป แต่การได้มาซึ่งโบราณวัตถุที่สำคัญอันเป็นส่วนประกอบของตัวโบราณสถาน ก็ควรจะเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ซึ่งอาจจะเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่อยู่ใกล้เคียงกับตัวโบราณสถานมากที่สุด อย่างเช่น ปราสาทเขาโล้น มีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ จ.ปราจีนบุรี ที่สามารถเก็บรักษาไว้ตรงนั้นได้ ประสาทหนองหงส์ ที่ จ.บุรีรัมย์ใกล้ที่สุดก็มี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์ และ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย สามารถที่จะเก็บทับหลังเอาไว้ได้ ใครจะดูของจริงก็ไปศึกษาที่โน่น ตามจริงเวลาถ่ายรูป ไม่ต่างจาก ของจริง” นายทนงศักดิ์กล่าว

Advertisement
ทนงศักดิ์ หาญวงษ์

เมื่อถามว่า ท่ามกลางกระแสเรียกร้องของท้องถิ่น ที่อยากให้นำกลับไปติดตั้งบนปราสาท ส่วนตัวมองอย่างไร ?

นายทนงศักดิ์ เปิดเผยว่า นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นในการทวงคืนครั้งแรก กรมศิลปากร โดยเฉพาะ สำนักศิลปากร ที่อยู่ในพื้นที่ เหมือนกับพยายามจำกัดเรื่องการใช้งานโบราณสถาน ทำให้ท้องถิ่นมีความรู้สึกว่า ในเมื่อเขาร่วมรณรงค์ในการทวงคืนทับหลังด้วย อย่างเช่น กระแสที่ทวงคืนมากที่สุดอยู่ที่ ปราสาทหนองหงส์ ซึ่งนายกเทศมนตรี เป็นคนที่ให้ความร่วมมือกับกลุ่มสำนึก 300 องค์ เป็นอย่างดี ที่ช่วยกันผลักดันให้มีการออกสื่อให้เห็นถึงความสำคัญ จนกระทั่งเกิดคณะกรรมการทวงคืนขึ้นมา ซึ่งกรมศิลปากรเอง ไม่ได้ดำเนินการอะไรในการช่วยเหลือเรื่องนี้เลย ฉะนั้น ท้องถิ่นจึงมีความรู้สึกว่า เมื่อได้โบราณวัตถุกลับมา ก็ควรกลับมาท้องถิ่น เพราะเป็นสิทธิของเขาที่จะมีความรู้สึกแบบนั้น มีความต้องการได้

“แต่ผมก็ได้คุยกับทางนายกเทศมนตรีเหมือนกันว่า เมื่อเราไม่มีพิพิธภัณฑ์ หรืออาคารที่จะดูแลรักษาโบราณวัตถุชิ้นนี้ให้ปลอดภัยได้ ก็ยังไม่ควรที่จะเอาไปคืนท้องถิ่น ท้องถิ่นอาจจะได้ประโยชน์ตรงที่ว่า มีของจริงไปติดตั้งอยู่ แต่ว่า ก็ไปติดตั้งในอาคาร ไม่ได้ติดตั้งที่ตัวโบราณสถานอยู่ดี การติดตั้งที่โบราณสถานต้องมีเวรยามดูแลรักษา ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งทำไม่ได้ ไม่ปลอดภัยแน่นอน เพราะมันเคยหายมาแล้ว และง่ายต่อการชำรุด คนอาจจะมือบอนไปพ่นสี เขียน หรือไปกะเทาะ เหมือนรูปหน้า ‘พระยมทรงกระบือ’ แต่เดิม ในช่วงที่อาจารย์มานิต วัลลิโภดม ไปสำรวจ และถ่ายรูปกับทีม ก็ยังเห็นรูปหน้าเต็มองค์ แต่พอหายไปก็ถูกกะเทาะเอาเฉพาะส่วนหน้าออกไปขาย และทับหลังก็ถูกขายตามหลังต่อไป เหตุการณ์แบบนี้อาจจะเกิดขึ้นอีกก็ได้ ซึ่งเราไม่รู้” นายทนงศักดิ์กล่าว และว่า

“ความจริงแล้ว ลวดลายของศิลปะเขมรที่ปรากฏบนทับหลัง ให้ความสำคัญมากในแง่ของการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ที่สัมพันธ์กับประเทศกัมพูชา ทำให้เรามองภาพรวมของประวัติศาสตร์ ความเกี่ยวเนื่องของวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กันได้ดี ฉะนั้น ลายที่หายไป จึงเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับคนที่ศึกษา

ต้องพูดคุยกัน มีความจำเป็นต้องให้ความรู้ทั้ง 2 ฝ่าย ทั้ง ส่วนราชการ และชุมชนด้วย ส่วนราชการก็บกพร่องเยอะ ทั้งการดูแลรักษาตัวโบราณสถาน ถ้าดูแลดีก็คงไม่หายไป เพราะอยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร จะว่าไปแล้ว ไม่ควรจะหาย ถ้าหากราชการดูแลดี แต่คุณจะทำอย่างไรไม่ให้หายไปอีก ก็ต้องร่วมมือกับท้องถิ่น เพราะท้องถิ่นเขาอยู่ใกล้กว่า สามารถที่จะทำอะไรต่อมิอะไรต่อตัวโบราณสถานให้ปลอดภัยได้ดีกว่า

ด้วยการบริหารจัดการดีกว่า ก็ควรมอบโบราณสถานให้กับท้องถิ่นไปดูแลรักษาเสีย ไม่ควรจะให้ราชการดูแลต่อไป ขณะที่โบราณสถานที่ท้องถิ่นสามารถดูแลได้ ก็สามารถถ่ายโอนอำนาจไปได้ ความจริงแล้ว กรมศิลปากรเคยถ่ายโอนโบราณสถานให้ท้องถิ่นดูแลหลายแห่ง ซึ่งก็เป็นการตัดภาระของกรมศิลปากรไปได้เยอะ ‘ปราสาทหนองหงส์’ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง ที่ควรจะจัดการให้ท้องถิ่นดูแล ช่วยราชการอีกทางหนึ่งด้วย ก็จะปลอดภัย และทำให้โบราณสถานมีมูลค่ามากขึ้น ท้องถิ่นก็จะมีกิจกรรมทำ อะไรต่อมิอะไรของเขา

เดี๋ยวนี้ทุกที่ ผมว่าเขากระตือรือร้นในเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เราควรจะให้การศึกษาเขา กรมศิลปากรมีความรู้ดี ควรจะให้ความรู้กับชาวบ้าน อบรมท้องถิ่นกันไป เพราะความห่วงแหนเป็นพื้นฐานของคน ถ้าคนจะรักมากขึ้น ก็ต้องเห็นคุณค่ามากขึ้น ถูกไหม” นายทนงศักดิ์กล่าว

ทับหลังปราสาทเขาโล้น
ทับหลังปราสาทหนองหงส์

เมื่อถามว่า หลังได้โบราณวัตถุ 2 ชิ้น คืนกลับไทยแล้ว มีแผนทวงคืนชิ้นต่อไปอีกหรือไม่ ?

นายทนงศักดิ์เปิดเผยว่า มีหลายชิ้น ที่ตนกำลังหาหลักฐานเพิ่มเติมอยู่ บางชิ้นมีหลักฐานเพิ่มเติมแล้ว แต่ยังติดปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะกรรมการ ต้องพิจารณาในเรื่องผลกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย

“ความจริงแล้ว ผมคิดว่ามีทับหลังจากปราสาทตาเมือนธม อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งพบหลักฐานอยู่ในประเทศไทยและหายไปจากหายไปจากสถานีตำรวจ เดิมตั้งอยู่ที่สถานีตำรวจ อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ยังไม่ได้ส่งมอบให้กับกรมศิลปากร ก็หายไปก่อน ไปโผล่อีกทีอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ The Metropolitan เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งตอนนี้เรามีข้อมูลสมบูรณ์แล้ว แต่ว่าต้องหารือกันระดับประเทศอีก ว่าควรไม่ควร ทุกคนเป็นห่วงตรงนั้น แต่ส่วนตัวผมไม่ห่วง ‘โบราณวัตถุคือโบราณวัตถุ’ อยู่ตรงไหนของประเทศไหน ก็เหมือนกัน วันหนึ่งเป็นของกัมพูชา เราก็ส่งคืนกัมพูชาไป แต่ปัจจุบันยังอยู่ในประเทศไทย ยังขึ้นทะเบียนโบราณสถานอยู่ ก็เท่านั้นเอง ไม่เห็นจะต้องคิดอะไรให้ยุ่งยาก”

นายทนงศักดิ์กล่าวอีกว่า ยังมีประติมากรรมอีกหลายชิ้น ที่ไม่ใช่ทับหลัง ซึ่งได้ทำเรื่องทวงไปแล้วกว่า 30 รายการ

“เราจะเน้นทวงเฉพาะในกลุ่มของประเทศสหรัฐอเมริกาก่อน เพราะมีกฎหมายการค้าโบราณวัตถุของโจร และปราบปรามพวกฟอกเงิน ที่ตีมูลค่าโบราณวัตถุ ไปบริจาค เป็นการโกงภาษีของประเทศ จึงมีการปราบเยอะ เราจึงฉวยโอกาสตรงนี้ ทางโน้นก็ยินดีจะช่วยเต็มที่ ที่เราฟ้องไปมีโอกาสชนะคดีสูง จึงต้องทวงที่สหรัฐอเมริกาก่อน ส่วนประเทศอื่น ที่มีการให้ความร่วมมือในระดับของการเจรจาอยู่ เช่น ประเทศอังกฤษ ก็อาจมีการเจรจาขอคืนโบราณวัตถุบางส่วน” นายทนงศักดิ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image