‘รุ้ง ปนัสยา’ ยื่นหนังสือ ก.ยุติธรรม ขอความเป็นธรรมห่วงโควิดเรือนจำระบาด ย้ำต้องการมาตรการป้องกัน โฆษกยันไม่ต้องกังวล เรือนจำ-ทัณฑสถานปฏิบัติตามแนวทางมาตรฐาน ชี้มีแพทย์ประเมินอาการหนัก-เบาก่อนส่งตัวรักษาที่อื่น
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 19 สิงหาคม ที่กระทรวงยุติธรรม กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นำโดย น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง พร้อมด้วยหน่วยปฐมพยาบาลภาคสนาม First aid volunteer 53 เข้ายื่นหนังสือเปิดผนึกต่อกระทรวงยุติธรรม โดยมี นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรมและโฆษกกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้รับหนังสือ โดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม มีข้อเรียกร้องให้มีการตรวจคัดกรองผู้ต้องหาก่อนเข้าเรือนจำและทัณฑสถานทุกกรณี
พร้อมทั้งออกเอกสารรับรองโควิดให้กับผู้ต้องขังแรกเข้า เพื่อให้ญาติสามารถเผยแพร่ได้ และหากตรวจพบเชื้อให้รีบนำตัวออกไปรักษาที่อื่นทันที, ให้คัดแยกกลุ่มเสี่ยงเพื่อเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิดเป็นกรณีพิเศษ, มาตรการป้องกันโควิดในเรือนจำและทัณฑสถานต้องเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันกับหลักสากล ตามองค์การอนามัยโลก, เรือนจำและทัณฑสถานทุกแห่งต้องมีการสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันให้เพียงพอต่อความต้องการ, จัดหาวัคซีนให้เจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังอย่างทั่วถึง, เรือนจำต้องเปิดเผยข้อมูลสุขภาพให้ทนาย ญาติผู้ต้องขังได้รับทราบห้ามปิดบัง, กรณีติดเชื้อโควิดต้องให้ญาตินำตัวออกไปรักษาในสถานพยาบาลอื่นได้, ราชทัณฑ์ต้องตรวจหาเชื้อโควิดทุก 3 วัน เพื่อป้องกันเชื้อจากเจ้าหน้าที่, ศาลจะต้องทำตามมาตรการลดความแออัดในเรือนจำ
นายวัลลภเปิดเผยว่า ยินดีที่กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเห็นความสำคัญและความปลอดภัยของผู้ต้องขัง โดยไม่แยกแยะว่าเป็นผู้ต้องขังประเภทใด รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของเรือนจำ ซึ่งกระทรวงยุติธรรมได้มีการจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายในสถานที่ควบคุมของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม (ศบค.ยธ.) โดยมีปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน ขึ้นมากำกับติดตามเรื่องนี้ขึ้นโดยเฉพาะ และกรมราชทัณฑ์ได้สั่งการให้เรือนจำทุกแห่งปฏิบัติตามมาตรฐานเรือนจำสีขาวในการป้องกันการติดเชื้อโควิด โดยกำหนดมาตรการสำหรับเรือนจำในแดนแรกรับ ซึ่งดำเนินการอย่างเคร่งครัด เช่น กักตัวอย่างน้อย 21 วัน และตรวจคัดกรอง PCR อย่างน้อย 3 ครั้ง นอกจากนี้ยังมีกระบวนการรักษา การจัดหาวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์และวัคซีน และการปล่อยตัวผู้พ้นโทษ พร้อมกำหนดคู่มือการปฏิบัติงานให้เจ้าหน้าที่ได้รับทราบและปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน
“ผมยืนยันว่าทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ มีการเพิ่มศักยภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยตามมาตรฐานการรักษากระทรวงสาธารณสุข นอกจากดูแลผู้ป่วยเรือนจำทั้ง 7 แห่งใน กทม.แล้วยังรองรับผู้ป่วยต่างจังหวัดเพื่อแบ่งเบาภาระโรงพยาบาลภายนอกด้วย เราคำนึงถึงประโยชน์ผู้ป่วยเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม กรมราชทัณฑ์มีเป้าหมายลดการสูญเสียให้น้อยที่สุด ยังจะเห็นได้จากอัตราการสูญเสียต่ำเมื่อเทียบกับภายนอก และศักยภาพของฑัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์สามารถให้การดูแลรักษาผู้ป่วยระดับสีเขียว เหลือง แดง ซึ่งเรามียา ครุภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ตามแนวทางการรักษาโดยกรมควบคุมโรคครบถ้วนเพียงพอ ส่วนกรณีการส่งตัวผู้ต้องขังออกไปรักษาโรงพยาบาลภายนอก แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาจากศักยภาพของโรงพยาบาล และอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก” นายวัลลภกล่าว