สกู๊ปหน้า 1 : อุโมงค์ทางลอด หน้าพระลาน-มหาราช แลนด์มาร์ก-รับเปิดปท.

สกู๊ปหน้า 1 : อุโมงค์ทางลอด หน้าพระลาน-มหาราช แลนด์มาร์ก-รับเปิดปท.

เมื่อไวรัสโควิด-19 ยังคงอยู่กับเราไป อีกนาน ในทางคู่ขนาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ จึงเป็นไฟลต์บังคับให้รัฐบาลต้องประกาศเปิดน่านฟ้าประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัว ที่จะดีเดย์ 1 พฤศจิกายนนี้ เพื่อปั๊มรายได้ช่วงไฮซีซั่นส่งท้ายปี 2564

หลังจากประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทั่วโลกเริ่มดีขึ้น ขณะที่สถานการณ์การติดเชื้อในประเทศเริ่มทรงตัว แม้จะมียอดป่วย-ตายสะวิงขึ้นลงบ้างใน

บางวัน รัฐบาลก็ไม่หวั่น ยังคงยืนกรานเดินหน้าอย่างเต็มสูบ
ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเห็นผลพลอยได้จาก “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” และการเปิดเที่ยวเกาะในพื้นที่สุราษฎร์ธานี พังงา กระบี่ ที่สร้างรายได้ 2,900 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลกล้าเดิมพันเปิดประเทศในครั้งนี้

ทั้งนี้ จะประเดิมดึงนักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำเข้ามาเป็นกลุ่มแรก ขณะนี้อยู่ระหว่างเคาะชื่อประเทศที่จะเข้ามา ถึงจะยังไม่ลงตัว แต่มีชื่ออย่างน้อย 5 ประเทศที่พร้อมเปิดรับคือ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี สิงคโปร์ และจีน

Advertisement

ส่วนความพร้อมของไทยที่จะนำร่องเปิด 15 จังหวัดเมืองเศรษฐกิจและเมืองท่องเที่ยวต้อนรับต่างชาติ ซึ่ง “กรุงเทพมหานคร” เป็นหนึ่งในลิสต์ที่รัฐบาลต้องการให้เป็นหมุดหมายสำคัญ เพราะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ

ขณะที่กรุงเทพฯ นอกจากจะเร่งฉีดวีคซีนให้ได้ 70% ของจำนวนประชากร เพื่อเตรียมมาตรการรองรับการเปิดประเทศ ตามแผนกำหนดมาตรการฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุข และแผนรองรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เป็นนักท่องเที่ยวแล้ว

ด้านกายภาพของเมือง “กรุงเทพฯ” ได้ทุ่มเม็ดเงินปรับภูมิทัศน์บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ ทั้งขยายทางเท้า สร้างอุโมงค์ทางเดินลอด เตรียมความพร้อมอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว

Advertisement

อีกไม่นานก็ใกล้จะอวดโฉม “อุโมงค์ทางเดินลอด” ถนนหน้าพระลานและถนนมหาราช ที่ทางกรุงเทพฯ ใช้งบประมาณก่อสร้าง 940 ล้านบาท มีบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับเหมาเริ่มตอกเข็มตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2563

ความคืบหน้าล่าสุด “อุโมงค์ถนนมหาราช” ก่อสร้างคืบหน้าแล้ว 42% คาดจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคมนี้ เป็นการก่อสร้างทางเดินลอดชั้นใต้ดิน ระยะทาง 90 เมตร ความลึก 4.7 เมตร ภายในมีโถงทางเดิน ห้องน้ำชาย 15 ห้อง ห้องน้ำหญิง 20 ห้อง ทางขึ้นลงด้วยระบบบันไดเลื่อน 2 จุด
ส่วน “อุโมงค์ถนนหน้าพระลาน” สร้างคืบหน้า 40% ตามแผนจะแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2565 เป็นการก่อสร้าง
ทางเดินลอดชั้นใต้ดิน 2 จุด จุดแรกอยู่บริเวณถนนหน้าพระธาตุกับถนนหน้าพระลาน ระยะทาง 96 เมตร ความลึก 6.6 เมตร ภายในมีโถงพักคอย ห้องน้ำชาย 22 ห้อง ห้องน้ำหญิง 56 ห้อง ทางขึ้นลงระบบบันไดเลื่อน 4 จุด อีกจุดอยู่บริเวณหน้าที่ทำการไปรษณีย์ไทย มีระยะทาง 37 เมตร สร้างทางเดินลอดใต้ดิน ภายในมีโถงทางเดินกลาง ทางขึ้นลงระบบบันไดเลื่อน 3 จุด

“ศักดิ์ชัย บุญมา” รองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เผยว่า เมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมพื้นที่รอบเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะพระบรมมหาราชวัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว ที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เดินทางเข้าชมเป็นจำนวนมาก วันละไม่ต่ำกว่า 35,000 คน อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมพัฒนาอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่บริเวณสนามหลวง ถนนหน้าพระลาน ถนนมหาราชให้มีศักยภาพพร้อมที่รองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สิ่งสำคัญคือเป็นการจัดระเบียบความปลอดภัยด้านการจราจร บริเวณท้องสนามหลวง และพระบรมมหาราชวัง ให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งต่อไปจะให้รถทัวร์นักท่องเที่ยวจอดรับส่งได้เท่านั้น ไม่ให้มีการเดินข้ามถนน แต่ให้เดินลงอุโมงค์ทางลอดแทน เนื่องจากทุกปีที่ผ่านมานักท่องเที่ยวจะเสียเวลากับการเดินข้ามถนน ทำให้มีปัญหาการจราจร

“รูปแบบที่เราสร้างไม่ใช่อุโมงค์ธรรมดาทั่วไป แต่ภายในออกแบบตกแต่งด้วยสถาปัตยกรรมที่สวยงาม คล้ายกับสถานีสนามไชยของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่เราใช้เป็นโมเดล เราออกแบบเป็นลวดลายไทย ใช้โทนสีเหลือง เพื่อให้สอดรับกับพื้นที่ประวัติศาสตร์ ขณะที่สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ห้องน้ำ เราจะให้บริการฟรี” รองผู้ว่าฯกทม.แจกแจงรายละเอียด

หากแล้วเสร็จจะถือว่าเป็น “แลนด์มาร์ก” ใหม่ของกรุงเทพฯ ที่นักท่องเที่ยวทั้งต่างชาติและคนไทย ต้องไปชมความงามให้เป็น
บุญตากันสักครา

“ศักดิ์ชัย” ยังให้ข้อมูลเพิ่มว่า กรุงเทพฯยังใช้งบประมาณอีกกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์คลองคูเมืองเดิม คลองวัดราชนัดดา รวมถึงนำสายไฟฟ้าลงดินและปรับปรุงทางเท้าถนน 30 เส้นทางรอบเกาะรัตนโกสินทร์

ประกอบด้วย 1.พื้นที่ถนนดินสอ ถนนตีทอง ถนนตรีเพชร ถนนมหาไชย ถนนสำราญราษฎร์ ถนนบำรุงเมือง จากถนนตีทองถึงคลองรอบกรุง ถนนเจริญกรุง จากถนนสนามไชยถึงคลองรอบกรุง และถนนจักรเพชร จากถนนมหาไชยถึงถนนตรีเพชร วงเงิน 166 ล้านบาท

2.พื้นที่ถนนพระอาทิตย์ ถนนพระสุเมรุ ถนนจักรพงษ์ ถนนราชดำเนินกลาง และถนนราชินีจากถนนราชดำเนินกลางถึงถนนพระอาทิตย์ วงเงิน 154 ล้านบาท

3.พื้นที่ถนนหน้าพระธาตุ ถนนพระจันทร์ ถนนมหาราช ถนนท้ายวัง ถนนเชตุพน ถนนสนามไชย และซอยเศรษฐการ วงเงิน 75 ล้านบาท

4.พื้นที่ถนนราชดำเนินใน ถนนหลักเมือง ถนนแพร่งนรา ถนนสำราญราษฎร์ ถนนราชบพิธ ถนนบ้านหม้อ ถนนเฟื่องนคร ถนนตะนาว ถนนสิบสามห้าง และถนนบวรนิเวศน์ วงเงิน 122 ล้านบาท

“เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2564 ตั้งเป้าจะให้โครงการที่อยู่รอบสนามหลวงแล้วเสร็จใกล้เคียงกับอุโมงค์ทางเดินลอดถนนหน้าพระลานกับถนนมหาราช เพื่อที่นักท่องเที่ยวจะได้เดินเที่ยวบริเวณนี้ได้อย่างสะดวก เพราะย่านนี้มีโบราณสถาน แหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ที่สามารถเดินเที่ยวชมได้หมด คาดว่าเมื่อมีการเปิดประเทศแล้ว จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมไม่น้อยกว่า 70-80%” รองผู้ว่าฯกรุงเทพคาดหวังหลังโครงการต่างๆ แล้วเสร็จเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฟื้นฟูเมืองครั้งใหญ่ เพื่อบูมการท่องเที่ยวของมหานครกรุงเทพฯ ที่พร้อมรับการเปิดประเทศในไม่ช้านี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image