‘ท่าเรือ-คลองสานพลาซ่า’ หมดสัญญา 31 ธ.ค.นี้ คืน 9 ไร่ให้ รฟท. ที่ดินพุ่ง 1,500 ล้าน จ่อให้เช่ายาว 30 ปี

‘ท่าเรือ-คลองสานพลาซ่า’ หมดสัญญา 31 ธ.ค.นี้ คืน 9 ไร่ให้ รฟท. ที่ดินพุ่ง 1,500 ล้านบาท จ่อให้เช่ายาว 30 ปี

ย่าน “คลองสาน” ชุมชนเก่าแก่ของกรุงเทพมหานคร วันนี้มีการพัฒนาแบบผิดหูผิดตา พลิกโฉมจาก “เมืองเก่า” สู่ “เมืองใหม่” หลังศูนย์การค้าระดับเวิลด์คลาส “ไอคอนสยาม” และ “รถไฟฟ้าสายสีทอง” เปิดบริการ กลายเป็นทำเลฮอตฮิต ติดชาร์ตทำเลทอง มีทั้งคอนโดมิเนียมและโรงแรมหรูเข้าไปปักหมุด

ขณะที่ “ราคาที่ดิน” ก็อัพขึ้นหลายเท่าตัวจากตารางวาละ 1 แสนต้นๆ เป็นตารางวาละ 3-4 แสนบาท แต่มีบางแปลงอยู่ในรัศมีห้างและรถไฟฟ้าราคาพุ่งไปถึง 1 ล้านบาทต่อตารางวา
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อความเจริญเข้ามา การเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดขึ้นไปตามกาลเวลา เหลือไว้เพียงตำนาน

พลิกดูสัญญาเช่า ทาง “รฟท.” ให้เอกชน 2 ราย เช่าจัดหาประโยชน์ โดยให้บริษัท ที่ปรึกษาการวางแผนและพัฒนา จำกัด ทำธุรกิจด้านรับเหมาก่อสร้าง เช่าระยะเวลา 30 ปี (2528-2559) พัฒนาเป็น “ตลาดคลองสานพลาซ่า” มีทั้งอาคารพาณิชย์และร้านค้า

Advertisement

หลังหมดสัญญาเมื่อปี 2559 บริษัทขอต่อสัญญาเช่า แต่เพราะสภาพพื้นที่ไม่เหมือนเดิม จากความเจริญที่เกิดขึ้น ทำให้ราคาที่ดินขยับ ทางคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. จึงขอปรับค่าเช่าจากเดือนละ 1.6 ล้านบาท เป็นเดือนละ 15 ล้านบาท เลยทำให้บริษัทสู้ไม่ไหว จึงเปลี่ยนใจจากเช่าระยะยาวเป็นเช่าแบบปีต่อปี จนหมดสัญญาเช่าเมื่อเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา

ล่าสุดบริษัทส่งมอบพื้นที่และสิ่งปลูกสร้างคืน “รฟท.” ในส่วนเป็นอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น จำนวน 36 ห้อง และร้านค้าอีกกว่า 200 ห้อง เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ยังเหลือที่ดินด้านหน้าเป็นร้านขายอาหาร เตรียมจะส่งคืนพร้อมกับ “ท่าเรือข้ามฟากคลองสาน” จะหมดสัญญาวันที่ 31 ธันวาคม 2564
ระหว่างรอเคลียร์พื้นที่ส่งคืน “รฟท.” ทางเจ้าของตลาดยังคงให้พ่อค้า แม่ค้า เช่าพื้นที่ค้าขาย เก็บค่าเช่า 2,000 บาทต่อสัปดาห์ หรือวันละ 300 บาท

ว่ากันว่า สาเหตุที่ทำให้เจ้าของตลาดถอดใจไม่ต่อสัญญาเช่า นอกจากประเด็นค่าเช่าที่ “รฟท.” ขอปรับขึ้น ยังมีอีกหลายปัจจัยที่เป็นตัวแปร ทำให้ “ตลาดคลองสานพลาซ่า” ไปต่อไม่ไหว
ทั้งสภาพเศรษฐกิจฝืดเคือง การคมนาคมที่เปลี่ยนไป หลังรถไฟฟ้าบีทีเอสต่อขยายเส้นทางข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อมการเดินทางฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนคร รวมถึงการมาของรถไฟฟ้าสายสีทอง ทำให้พฤติกรรมการเดินทางของคนเปลี่ยน นั่งเรือข้ามฟากน้อยลง จากเดิมมีคนใช้บริการวันละ 30,000-40,000 คน ตอนนี้เหลือไม่ถึง 2,000 คนต่อวัน

ขณะที่รูปแบบการค้าขายปัจจุบันก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย พ่อค้า แม่ขาย หันไปขายผ่านออนไลน์กันมากขึ้น จึงกลายเป็น “จุดเปลี่ยน” ของ “ตลาดคลองสานพลาซ่า” ไม่เฟื่องฟูเหมือนเก่า ทำให้เจ้าของตลาดตัดสินใจไม่ต่อสัญญา หลังประเมินแล้วไม่คุ้ม

จากตำนาน “ตลาดคลองสานพลาซ่า” ที่กำลังนับถอยหลังคืนพื้นที่ “รฟท.” กำลังเป็นที่จับตาว่าที่ดิน 9 ไร่เศษ อยู่ในรัศมีทำเลทองจะถูกพลิกโฉมเป็นอะไร

แหล่งข่าวจาก รฟท. เปิดเผยว่า ขณะนี้ รฟท.ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมและรูปแบบการพัฒนาโครงการ ในเบื้องต้นจะพัฒนาเป็นรูปแบบผสมผสานหรือมิกซ์ยูส ประกอบด้วย โรงแรมระดับ 3 ดาว สูง 8 ชั้น จำนวน 2 อาคาร ห้องพัก 270 ห้อง อาคารร้านค้า 3 ชั้น อาคารร้านอาหาร 5 ชั้น ลานกิจกรรม 400 ตารางเมตร และที่จอดรถใต้ดิน

“จะทุบอาคารเก่าทิ้งและสร้างอาคารขึ้นมาใหม่ แต่เนื่องจากติดเรื่องระยะห่างระหว่างอาคาร ทำให้สร้างอาคารสูงได้ไม่เกิน 8 ชั้น ตามผังการพัฒนาที่ออกแบบไว้ บนพื้นที่กว่า 9 ไร่ ด้านหน้าติดถนนเจริญนคร จะพัฒนาอาคารร้านค้า ถัดมาเป็นโรงแรม ร้านอาหารและลานกิจกรรมเปิดโล่ง จะอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนท่าเรือหากเอกชนจะพัฒนาต้องขออนุญาตกรมเจ้าท่า”

จากรูปแบบโครงการแหล่งข่าว รฟท.บอกว่า ยังเป็นแค่โมเดลการออกแบบเบื้องต้น ส่วนการลงทุนพัฒนาโครงการจริงๆ นั้น ขึ้นอยู่กับเอกชนจะลงทุนพัฒนาเป็นโครงการอะไร อาจจะไม่พัฒนาเป็นโรงแรม พัฒนาเป็นศูนย์ประชุมก็ได้ โดยจะให้เช่าระยะยาว 30 ปี ก่อสร้างอีก 4 ปี รวม 34 ปี มีมูลค่าการลงทุนแยกเป็นค่าก่อสร้างประมาณ 735 ล้านบาท และค่าที่ดิน 1,500 ล้านบาท เนื่องจากปัจจุบันราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ 420,000 บาทต่อตารางวา คาดว่าจะได้ผลตอบแทนอยู่ที่ 270 ล้านบาท โดยได้ค่าเช่าก้อนแรก 81 ล้านบาท จากนั้นได้ค่าเช่ารายปีอีกปีละ 7.6 ล้านบาท ซึ่งค่าเช่าจะปรับขึ้นปีละ 5%

ในเร็วๆ นี้จะเปิดทดสอบความสนใจหรือ Market Sounding เพื่อซาวเสียงภาคเอกชนถึงรูปแบบโครงการที่บริษัทที่ปรึกษานำเสนอ จากนั้นในปี 2565 จะส่งมอบสัญญาที่ดินแปลงนี้ให้กับบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ รฟท.รับไม้ต่อการเปิดประมูลหาเอกชนพัฒนาโครงการต่อไป

“ที่ดินแปลงนี้ ถือว่าเป็นทำเลทองใจกลางกรุงเทพฯ ติดแม่น้ำเจ้าพระยา รายล้อมไปด้วยโรงแรมระดับ 5 ดาว ศูนย์การค้าไฮเอนด์ ไอคอนสยาม และการคมนาคมก็สะดวกมีรถไฟฟ้าสายสีทองพาดผ่าน คาดว่าจะได้รับความสนใจจากภาคเอกชนเข้าร่วมประมูล เพราะโครงการจากผลการศึกษาจะถึงจุดคุ้มทุนในปีที่ 9” แหล่งข่าวกล่าวอย่างคาดหวัง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง – ปิดตำนานคลองสานพลาซ่า-ท่าเรือข้ามฟาก ‘การรถไฟฯ’ พลิกโฉมใหม่ ผุดมิกซ์ยูส โรงแรม 3 ดาว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image