เลิกเคอร์ฟิว 70 จังหวัด คงไว้ 7 กทม.เฮ นั่งดริงก์ดีเดย์ 1 พ.ย.

เลิกเคอร์ฟิว 70 จังหวัด คงไว้ 7 กทม.เฮ นั่งดริงก์ดีเดย์ 1 พ.ย.

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์หลังการประชุม ศบค.ว่า ศบค.เห็นชอบให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่สีฟ้า (นำร่องการท่องเที่ยว) 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ กระบี่ พังงา และภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นต้นไป ส่วนรายละเอียดสำหรับ กทม. ทาง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. จะเป็นผู้ไปออกข้อกำหนด เบื้องต้นจะกำหนดโซนพื้นที่ในการจำหน่ายและดื่มแอลกอฮอล์ แต่ไม่ได้เปิดเสรีเป็นการทั่วไปในทุกพื้นที่

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ศบค.ปรับโซนสีจังหวัดแดงเข้ม แต่ยังคงพื้นที่สีแดงเข้มใน 4 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ แม้สถานการณ์เริ่มดีขึ้นและถือว่าผ่านระยะระบาดสูงสุดมาแล้วมีการกระจายวัคซีนลงไปแล้ว ส่วนภาพรวมการแพร่ระบาดทั่วประเทศดีขึ้น ทำให้ควบคุมการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มจังหวัดได้ สธ.มีกำลัง มีเตียงเพียงพอในการดูแล สธ.เตรียมความพร้อมให้ดีที่สุดเพื่อรองรับการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.แถลงผลการประชุม ศบค.ว่า ที่ประชุมมีมติปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร จากวันที่ 16 ตุลาคม มีพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 23 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุด 30 จังหวัด พื้นที่ควบคุม 24 จังหวัด ในวันที่ 1 พฤศจิกายน ปรับเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม 7 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุด 38 จังหวัด พื้นที่ควบคุม 23 จังหวัด พื้นที่เฝ้าระวังสูง 5 จังหวัด พื้นที่สีฟ้า (นำร่องท่องเที่ยว) 4 จังหวัด

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 7 จังหวัดคือ จันทบุรี ตาก นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา ส่วนพื้นที่เฝ้าระวังสูง 5 จังหวัดคือ นครพนม น่าน บึงกาฬ มุกดาหาร และสกลนคร และพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว 4 จังหวัด คือกรุงเทพฯ กระบี่ พังงา และภูเก็ต

Advertisement

“กระบี่ พังงา และภูเก็ต ถือเป็นจังหวัดที่นำร่องท่องเที่ยวซึ่งเป็นแซนด์บ็อกซ์อยู่แล้ว ส่วนกรุงเทพฯที่ประชุมมีความห่วงใยมาตรการที่ต้องกำกับอย่างเต็มที่ เพราะจังหวัดสีฟ้าสามารถใช้ชีวิตได้ปกติ แต่การดื่มแอลกอฮอล์จะปล่อยให้เกิดขึ้นตามวิถีปกติไม่ได้ เพราะเป็นเหตุการติดเชื้อและแพร่ระบาด กรุงเทพฯมีความซับซ้อนในการจัดการ ควบคุมโรค ดังนั้น ผอ.ศบค.จึงให้กรุงเทพฯนำข้อกังวลให้ กทม.พิจารณา โดยคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพฯ ต้องออกมาตรการเฉพาะในการให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ประชุมเห็นว่าองค์กร สถานประกอบการ หรือสมาคม ให้มีส่วนรับผิดชอบในการดำเนินกิจการ เมื่อมีภาวะสุ่มเสี่ยงการติดเชื้อ หรือการแพร่ระบาด ต้องรับผิดชอบร่วมกัน” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า เมื่อมีการปรับระดับพื้นที่สีใหม่ มีมาตรการตามระดับพื้นที่วันที่ 1 พฤศจิกายน ดังนี้ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามออกนอกเคหสถานเวลา 23.00-03.00 น.ส่วนพื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูง พื้นที่เฝ้าระวังและพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว ไม่ห้ามออกนอกเคหสถาน การเวิร์กฟรอมโฮม พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดให้เวิร์กฟรอมโฮมอย่างน้อย 70% ส่วนพื้นที่ควบคุมสุงสุด พื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูง พื้นที่เฝ้าระวังและพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว หน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน ดำเนินการได้ตามความเหมาะสม ยกเว้น กทม.และปริมณฑล อย่างน้อย 70%

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มในพื้นที่ควบคุมและเข้มงวด ห้ามรวมคนมากกว่า 50 คน พื้นที่ควบคุมสูงสุด ห้ามมากกว่า 200 คน พื้นที่ควบคุม ห้ามมากกว่า 500 คน พื้นที่เฝ้าระวังสูง ห้ามมากกว่า 1,000 คน พื้นที่เฝ้าระวังและพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว จัดกิจกรรมการรวมกลุ่มตามความเหมาะสม

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image